-๒-

กฎสูงสุดของธรรมชาติ

 เมื่อศาสนาพราหมณ์มีเทพเจ้าคือพระพรหม พระนารายณ์ และพระศิวะเป็นสิ่งสูงสุด จึงเกิดคำถามขึ้นมาว่า แล้วพระพุทธเจ้านับถืออะไรเป็นสิ่งสูงสุด? ซึ่งเมื่อพระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ขึ้นมาแล้ว ก็ทรงไม่ยอมรับเรื่องว่ามีเทพเจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ใดๆอยู่จริง แต่ทรงยอมรับสิ่งๆหนึ่งว่าเป็นสิ่งสูงสุด ที่เหมือนกับเทพเจ้าของศาสนาพราหมณ์ คือเป็นทั้งผู้สร้าง ผู้ดูแล และผู้ทำลาย ซึ่งสิ่งๆนั้นพระพุทธเจ้าทรงเรียกว่า อิทัปปัจจยตา ที่แปลว่า การอาศัยกันแล้วเกิดขึ้นมา

หลักของอิทัปปัจจยตานี้สรุปแล้วก็คือ กฎสูงสุดของธรรมชาติ ซึ่งเป็นกฎพื้นฐานของกฎทั้งหลายของธรรมชาติ คือการที่กฎของธรรมชาติใดจะเกิดขึ้น ก็ต้องอยู่ภายใต้กฎพื้นฐานนี้ทั้งสิ้น ซึ่งกฎอิทัปปัจจยตานี้สรุปใจความได้ว่า “ทุกสิ่งที่เกิดขึ้น จะต้องมีเหตุและปัจจัย มาร่วมกันปรุงแต่งให้เกิดขึ้นมาทั้งสิ้น” (คำว่า เกิด หมายถึง จากความที่ไม่มีอยู่ก่อน แล้วจึงมามีในภายหลัง, คำว่า ดับ หมายถึง จากความที่เคยมีอยู่ก่อน แล้วจึงมาหายไปหรือไม่มีในภายหลัง, คำว่า เหตุ หมายถึง สิ่งที่กระทำให้เกิดผล, คำว่า ผล หมายถึง สิ่งที่เกิดมาจากเหตุ, คำว่า ปัจจัย หมายถึง สิ่งที่มาสนับสนุนเหตุใหญ่ หรือหมายถึงเหตุย่อยๆ, คำว่าปรุงแต่ง หมายถึง การกระทำโดยธรรมชาติ, คำว่า สิ่งปรุงแต่ง หมายถึง สิ่งที่เกิดขึ้นจากการปรุงแต่งของเหตุและปัจจัย)

เมื่ออธิบายให้เข้าใจได้ง่ายๆก็อธิบายได้ว่า “การที่สิ่งใดจะเกิดขึ้น สิ่งนั้นจะต้องมีทั้งเหตุที่ใหญ่ที่สุดและมีเหตุย่อยๆหลายๆเหตุ มาร่วมกันปรุงแต่งหรือทำให้เกิดขึ้น” ซึ่งนี่ก็แสดงถึงว่า ไม่มีอะไรที่จะเกิดขึ้นมาได้เองลอยๆโดยไม่มีเหตุและปัจจัย คือถึงแม้จะมีเหตุ แต่ถ้าไม่มีปัจจัยมาร่วมด้วย สิ่งนั้นก็จะไม่เกิดขึ้น หรือถ้ามีแค่เพียงปัจจัย แต่ไม่มีเหตุ สิ่งนั้นก็จะไม่เกิดขึ้นเหมือนกัน ยกตัวอย่างง่ายๆก็เช่น เมื่อมีคนเอาไม้ไปเคาะระฆัง แล้วเกิดเสียงระฆังขึ้น ซึ่งเหตุก็คือคนที่ไปเคาะระฆัง ส่วนปัจจัยก็คือมีระฆัง มีไม้ที่ใช้ตีระฆัง มีอากาศ มีอุณหภูมิ มีที่แขวนระฆัง เป็นต้น ซึ่งเรามักไม่กล่าวถึงปัจจัยที่เป็นเหตุย่อยๆ เพราะไม่สำคัญ เรามักจะกล่าวถึงแค่เพียงเหตุที่สำคัญหรือใหญ่ที่สุดเท่านั้น คือเรามักจะพูดสั้นๆเพียงว่า “มีคน (เหตุ) ไปเคาะระฆัง จึงเกิดเสียงระฆัง (ผล) ขึ้นมา” เท่านั้น เป็นต้น ดังนั้นกฎอิทัปปัจจยตานี้จึงสรุปว่ามันก็คือ เรื่องของเหตุและผลธรรมดาๆของธรรมชาตินี่เอง

โดยกฎอิทัปปัจจยตานี้ พระพุทธเจ้าทรงสอนว่า ไม่ได้มีใครหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ใดๆสร้างขึ้นมา แต่มันเป็นของมันอย่างนั้นเอง คือเรียกง่ายๆว่ามันเป็นของมันตามธรรมชาติ ดังนั้นจึงเท่ากับว่าพระพุทธเจ้ายอมรับธรรมชาติ หรือกฎอิทัปปัจจตานี้ ว่าเป็นสิ่งสูงสุดที่เราทุกคนต้องเคารพและปฏิบัติให้ถูกต้อง ตามที่กฎของธรรมชาติกำหนดไว้ ถ้าใครปฏิบัติตามที่ธรรมชาติกำหนดไว้ได้ถูกต้อง เขาก็จะได้รับผลที่ดี (คือไม่มีความทุกข์ หรือมีความสงบสุข) แต่ถ้าใครไม่ปฏิบัติตามหรือปฏิบัติตรงข้าม ก็จะเกิดผลร้ายกับเขา (คือเกิดความทุกข์ หรือมีความเดือดร้อน)  อย่างเช่น ธรรมชาติกำหนดไว้ว่า ถ้าจิตใดเกิดความยึดถือว่ามีตนเอง จิตนั้นก็จะเป็นทุกข์ แต่ถ้าจิตใดไม่มีความยึดถือว่ามีตนเอง จิตนั้นก็จะไม่เป็นทุกข์ (คือนิพพาน) หรือถ้าจิตใดทำความดี จิตนั้นก็จะเกิดความสุขใจอิ่มใจ แต่ถ้าจิตใดทำความชั่ว จิตนั้นก็จะเกิดความร้อนใจ หรือทุกข์ใจอย่างยิ่ง (ซึ่งเรื่องทำดีแล้วสุขใจ แต่พอทำชั่วแล้วทุกข์ใจนี้ ก็คือคำสอนเรื่องกรรมที่เป็นวิทยาศาสตร์) หรือถ้ามนุษย์ทำลายป่าหรือทำลายธรรมชาติ โลกก็จะเกิดภัยธรรมชาติต่างๆตามมา  เป็นต้น

เรื่องเหตุทำให้เกิดผลนี้ เราจะต้องพิจารณาให้ละเอียดรอบครอบ เราจึงจะเข้าใจได้อย่างถูกต้อง คือเมื่อเหตุมาทำให้เกิดผลใดขึ้นมาแล้ว ผลที่เกิดขึ้นมานั้น ยังจะกลายมาเป็นเหตุให้เกิดผลใหม่ขึ้นมาได้อีก แล้วผลใหม่นี้ ก็ยังกลายมาเป็นเหตุให้เกิดผลใหม่ๆขึ้นมาได้อีก เรียกว่ามันเป็นเหตุ เป็นผล เป็นเหตุ เป็นผล ฯลฯ ต่อเนื่องกันไปคล้ายห่วงโซ่ที่คล้องต่อกันยาวเป็นสายไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ยังไม่เท่านั้น แม้เพียงเหตุเดียว ก็ยังสามารถเป็นเหตุให้เกิดผลได้หลายๆผลอีก และผลเพียงผลเดียว ก็ต้องมาจากปัจจัยมากมายอีกด้วย ดังนั้นเพียงสิ่งเพียงสิ่งเดียวที่เกิดขึ้นมา มันจึงมีทั้งเหตุและปัจจัยมากมาย ที่มาปรุงแต่งอย่างซับซ้อนอย่างยุ่งเหยิง จนเราไม่สามารถไปค้นหาเหตุและปัจจัยของมันทั้งหมดได้

ยกตัวอย่างเช่น การที่เราจะไปค้นหาเหตุและปัจจัยทั้งหมด ที่ทำให้เด็กคนหนึ่งกลายเด็กที่เกเรนั้นจะทำไม่ได้ เพราะกว่าที่เด็กคนนั้นจะกลายมาเป็นเด็กที่เกเรได้นั้น มันจะมีเหตุและปัจจัยมากมายทั้งในอดีตและปัจจุบัน (คือทั้งพ่อแม่หรือผู้ปกครอง ทั้งครูอาจารย์ ทั้งเพื่อน ทั้งสภาพแวดล้อม ทั้งสังคม ทั้งศาสนา ทั้งค่านิยม ทั้งทีวี ทั้งมือถือ ฯลฯ) ที่มาปรุงแต่งหรือทำให้เด็กนั้นเกิดนิสัยที่เกเรขึ้นมา เป็นต้น คือเราจะไปโทษเหตุเพียงอย่างเดียวไม่ได้ เราต้องหาปัจจัยที่มาสนับสนุนด้วย ซึ่งเมื่อเราพบทั้งเหตุและปัจจัยที่มาทำให้เด็กเกิดนิสัยเกเรทั้งหมดแล้ว เราจึงค่อยมาแก้ที่เหตุและปัจจัยนั้น จึงจะทำให้เด็กนั้นไม่มีนิสัยเกเรได้ เป็นต้น

สรุปได้ว่า พุทธศาสนาก็มีพระเจ้าหรือสิ่งสูงสุดเหมือนกัน เพียงแต่ว่าพระเจ้าของพุทธศาสนานั้นไม่ได้เป็นตัวตนบุคคลอย่างศาสนาอื่น คือพระเจ้าหรือสิ่งสูงสุดของพุทธศาสนานั้นคือธรรมชาติ ที่มันเป็นของมันอย่างนั้นเองตามธรรมชาติ ไม่ได้มีใครหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ใดๆมาทำให้เกิดขึ้น ซึ่งชาวพุทธควรที่จะต้องเข้าใจเรื่องสิ่งสูงสุดหรือพระเจ้าของพุทธศาสนานี้ให้ถูกต้อง เพื่อที่จะได้ไม่ไปหลงคว้าเอาพระเจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาอื่น มาเคารพนับถือ อย่างที่กำลังเป็นอยู่ในปัจจุบัน แล้วก็จะทำให้ไม่ได้รับประโยชน์ จากคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้า 

กฎไตรลักษณ์

ไตรลักษณ์ แปลว่า ลักษณะ ๓ ประการ ซึ่งก็คือลักษณะของสิ่งปรุงแต่งทั้งหลาย ซึ่งเราจะเรียกว่ามันเป็นกฎ เพราะมันเป็นเหมือนกับการบังคับว่า เมื่อสิ่งใดถูกปรุงแต่งให้เกิดขึ้นมาแล้ว สิ่งนั้นจะต้องตกอยู่ภายใต้ลักษณะ ๓ ประการนี้ทั้งสิ้นไม่มีข้อยกเว้น ซึ่งลักษณะ ๓ ปรกการนั้นก็ได้แก่

๑. อนิจจัง คือ ความไม่เที่ยง

๒. ทุกขัง คือ สภาวะที่ต้องทน

๓. อนัตตา คือความไม่ใช่อัตตาหรือตัวตนที่แท้จริง

เรื่องความเป็นอนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา ของสิ่งปรุงแต่งทั้งหลายนี้อธิบายได้ว่า เมื่อสิ่งปรุงแต่งทั้งหลาย ได้ถูกปรุงแต่งให้เกิดขึ้นมาแล้ว เมื่อเราพิจารณาให้ละเอียดลึกซึ้งเราก็จะพบว่า มันไม่ได้มีตัวตนเป็นของมันเองเลย เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นมาทั้งหลายนั้น มันมีแค่เพียงเหตุและปัจจัย ที่กำลังปรุงแต่งให้เกิดสิ่งนั้นอยู่เท่านั้น อย่างเช่น มะม่วงผลหนึ่งนั้น มันก็เกิดมาจากการที่ธรรมชาตินำเอาธาตุดิน (ของแข็ง), ธาตุน้ำ (ของเหลว), ธาตุไฟ (ความร้อน), และธาตุลม (อากาศ) มาร่วมกันปรุงแต่งให้เกิดขึ้น ดังนั้นสิ่งที่เราสมมติเรียกว่าเป็นผลมะม่วงนั้น มันจึงไม่ได้มีอยู่จริงเลย แต่ธรรมชาติมันก็สามารถเอาธาตุทั้ง ๔ มาปรุงแต่งให้เกิดเป็นผลมะม่วง ที่มีรูปร่างสวยงาม มีกลิ่นหอม มีสัมผัสที่อ่อนนุ่ม และมีรสอร่อย มาให้เรากินได้อย่างน่าอัศจรรย์ ซึ่งนี่ก็คือความจริงสูงสุดของธรรมชาติที่เรียกว่า อนัตตา ที่แปลว่า ไม่ใช่อัตตา ที่หมายถึง ความไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง ซึ่งลักษณะของอนัตตานี้ ก็ตรงข้ามกับลักษณะของอัตตา ตามที่ศาสนาพราหมณ์สอน

อีกทั้งเมื่อมีการปรุงแต่งให้เกิดสิ่งใดขึ้นมาแล้ว สิ่งนั้นจะไม่สามารถตั้งอยู่ในสภาพนั้นได้ตลอดไป เพราะเมื่อเกิดการปรุงแต่งให้เกิดสิ่งใดขึ้นมาแล้ว สภาพการปรุงแต่งของสิ่งนั้น ก็จะเริ่มมีการเสื่อมสภาพทันที ซึ่งการเสื่อมสภาพนั้นจะไม่หยุดนิ่ง คือมันจะมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และสุดท้ายไม่ช้าก็เร็ว ธาตุทั้งหลายที่มาปรุงแต่งนั้น มันก็จะต้องแยกสลายกลับไปเป็นธาตุดังเดิมของมันตามธรรมชาติ และสิ่งที่ถูกปรุงแต่งให้เกิดขึ้นมานั้น ก็จะแตกสลาย (ใช้กับวัตถุ) หรือ ดับ (ใช้กับจิต) หายไปในที่สุด ซึ่งนี่คือลักษณะของ อนิจจัง ที่แปลว่า ไม่เที่ยง คือหมายถึงว่า มันไม่สามารถตั้งอยู่ไปชั่วนิรันดรได้ หรือไม่เป็นอมตะ ซึ่งสรุปแล้วลักษณะของอนิจจังก็คือ มันจะมีการเกิดขึ้นมาและเสื่อมสภาพอยู่ตลอดเวลา และมีการดับหายไปในที่สุด ซึ่งลักษณะของอนิจจังนี้ ก็ตรงข้ามกับลักษณะของนิจจังตามที่ศาสนาพราหมณ์สอน

ยังไม่เท่านั้น สิ่งปรุงแต่งทั้งหลายนั้น เมื่อเกิดขึ้นมาแล้วและยังตั้งอยู่ (คือยังไม่ดับสลายหรือแตกสลายหายไป) มันก็ยังต้องทนประคับประคองสภาวะการปรุงแต่งของมันเอาไว้ด้วยตลอดเวลา คือถ้าสิ่งปรุงแต่งนั้นเป็นวัตถุ เราก็ไม่สามารถไปรู้สึกถึงสภาวะที่ต้องทนของมันได้ แต่เราสามารถพิจารณาด้วยเหตุให้เข้าใจได้ และเมื่อเรามองเห็นหรือเข้าใจถึงสภาวะที่ต้องทนของวัตถุแล้ว เราก็จะเกิดความรู้สึกอิดหนาระอาใจ หรือเบื่อหน่ายต่อสิ่งปรุงแต่งทั้งหลายขึ้นมาทันที ซึ่งนี่ก็คือการมองเป็นทุกขังในวัตถุทั้งหลาย แต่ถ้าเรามาพิจารณาดูสภาวะทุกขังที่ร่างกายของเรา เราก็จะรู้สึกถึงสภาวะที่ต้องทนของร่างกายของเราได้ คือเราจะรู้สึกถึงความหนัก เหนื่อย เจ็บ ปวด หรือความไม่สบายของร่างกายเราได้ ซึ่งนี่ก็คือการเห็นแจ้งถึงสภาวะทุกขังของร่างกายของเรา

รวมทั้งถ้าเรามาพิจารณาดูที่จิตใจของเรา เราก็จะพบว่าจิตของเราก็มีสภาวะที่ต้องทนด้วยเสมอ คือถ้าจิตของเรากำลังเกิดความทุกข์ ก็เรียกว่ากำลังมีสภาวะที่ต้องทนมาก หรือทนได้ยาก แต่ถ้าจิตของเราไม่มีความทุกข์ (นิพพาน) ก็เรียกว่ากำลังมีสภาวะที่ต้องทนน้อย หรือทนได้ง่าย ซึ่งนี่ก็คือสภาวะที่เรียกว่า ทุกขัง ที่แปลว่า ทน หรือ ต้องทน ที่ตรงข้ามกับสภาวะที่เรียกว่า สุขัง ที่หมายถึง ความสุขหรือสบาย ตามที่ศาสนาพราหมณ์สอน            

สรุปได้ว่า พระพุทธเจ้าสอนว่า “สิ่งใดมีลักษณะไม่เที่ยง และมีสภาวะที่ต้องทน สิ่งนั้นเป็นอนัตตา” คือไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง ที่จะตั้งอยู่ได้อย่างสุขสบายไปชั่วนิรันดรได้ ซึ่งศาสนาพราหมณ์จะสอนว่า จิตใจของคนเรานี้เป็นอัตตา ที่เที่ยงหรือเป็นอมตะ ซึ่งนี่เป็นเพียงแค่ความเชื่อที่ไร้เหตุผลและไม่มีความจริงมายืนยัน ส่วนพระพุทธเจ้าจะสอนว่า จิตใจของคนเรานี้เป็นอนัตตา เพราะถ้าจิตใจเป็นอัตตาจริงๆ มันจะต้องเป็นสิ่งที่เที่ยง คือไม่มีการเกิดและดับ รวมทั้งก็ไม่ต้องอาศัยร่างกายเพื่อเกิดขึ้นมาด้วย ซึ่งเราก็รู้สึกและเข้าใจมาแล้วว่า จิตใจของเรานี้มันมีการเกิดและดับจริงๆ ซึ่งนี่ก็คือลักษณะของความไม่เที่ยงของจิตใจเรา อีกทั้งจิตใจของเราที่เกิดขึ้นมาทุกครั้ง ก็ต้องอาศัยร่างกายที่ยังไม่ตายเพื่อเกิดขึ้นมาด้วยเสมอ เราไม่เคยมีจิตใจที่ไม่ต้องอาศัยร่างกายเลย ซึ่งนี่ก็คือเหตุผลและความจริง ที่แสดงถึงว่า จิตใจของเรานี้มันเป็นอนัตตา คือไม่ใช่ตัวตนแท้จริงจริงของเรา หรือเรียกว่าเป็น สุญญตา คือหมายถึงว่า มันไม่มีตัวเราอยู่จริงในร่างกายและจิตใจที่สมมติเรียกว่าเป็นตัวเรา-ของเรานี้

ธาตุพื้นฐานโลก

คำว่า ธาตุ แปลว่า ทรงตัวอยู่ ซึ่งก็หมายถึง สิ่งที่เป็นพื้นฐาน คือสิ่งทั้งหลายในโลกหรือในจักรวาลนี้ ก็สรุปได้ ๒ อย่าง คือ วัตถุ กับ จิตใจ ซึ่งทั้งวัตถุสิ่งของและจิตใจของสิ่งที่มีชีวิตทั้งหลายนี้ จัดว่าเป็น “สิ่งปรุงแต่ง” ทั้งสิ้น ซึ่งสิ่งปรุงแต่งทั้งหลายนั้นก็มีลักษณะเป็นอนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา โดยสิ่งที่มาปรุงแต่งให้เกิดวัตถุสิ่งของและจิตใจทั้งหลายขึ้นมานั้นก็คือสิ่งที่เรียกว่า ธาตุ โดยธาตุตามธรรมชาตินั้นก็มีอยู่ ๖ ธาตุ อันได้แก่

๑. ธาตุดิน คือสิ่งที่แข็ง กินเนื้อที่

๒. ธาตุน้ำ คือสิ่งที่เหลว เกาะกุมตัว ไหลได้

๓. ธาตุไฟ คืออุณหภูมิ หรือความร้อน ที่ทำลายให้เสื่อมสภาพ

๔. ธาตุลม คืออากาศ หรือก๊าซ ที่บางเบา ลอยได้

๕. ธาตุวิญญาณ คือการรับรู้

๖. ธาตุว่าง คือที่ว่าง หรือสุญญากาศ

ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ และธาตุลมนั้นจัดว่าเป็นรูปธาตุ คือธาตุที่เป็นพวกวัตถุ ส่วนธาตุวิญญาณนั้นจัดว่าเป็นนามธาตุ คือธาตุที่ไม่มีรูปร่าง ส่วนธาตุว่างนั้นไม่จัดว่าเป็นรูปธาตุหรือนามธาตุ โดยวัตถุสิ่งของทั้งหลายและแม้พลังงานที่เกิดมาจากวัตถุทั้งหลาย รวมทั้งร่างกายของคนเรานี้ ก็เกิดมาจากการที่รูปธาตุทั้ง ๔ มาปรุงแต่งให้เกิดขึ้น ซึ่งรูปธาตุนี้ก็ต้องอาศัยธาตุว่างหรือสุญญากาศเพื่อตั้งอยู่ ถ้าไม่มีธาตุว่าง วัตถุสิ่งของทั้งหลายก็จะไม่มีที่อยู่อาศัย

ส่วนธาตุวิญญาณนี้เป็นธาตุพิเศษ ที่ไม่สามารถเกิดขึ้นมาได้เองตามธรรมชาติ    คือมันต้องอาศัยระบบประสาททั้ง ๖ ของร่างกายของสิ่งที่มีชีวิตที่ยังดีอยู่ หรือยังไม่ตายเพื่อเกิดขึ้น ซึ่งเมื่อมันเกิดขึ้นมาแล้ว มันก็จะทำให้ระบบประสาทของร่างกายที่มันเกิดขึ้นมานั้น เกิดการรับรู้ (หรือวิญญาณ) ขึ้นมาทันที อย่างเช่น เมื่อมีรูปมาสัมผัสตา ก็จะเกิดวิญญาณทางตา (หรือการเห็นรูป) ขึ้นมาทันที หรือเมื่อมีเสียงมาสัมผัสหู ก็จะเกิดวิญญาณทางหู (หรือการได้ยินเสียง) ขึ้นมาทันที เป็นต้น ซึ่งวิญญาณนี้ก็มีลักษณะเหมือนไฟฟ้าทางวัตถุ คือต้องอาศัยแบตเตอร์รี่ที่ยังดีอยู่เกิดขึ้น หรืออาศัยไดนาโมที่ยังดีอยู่และหมุนอยู่เกิดขึ้น

วิญญาณนี้เอง ที่เมื่อเกิดขึ้นมาที่วัตถุที่เหมาะสม คือที่เนื้อเยื่อของระบบประสาทของร่างกายคนและสัตว์ รวมทั้งพืชทั้งหลาย ก็จะทำให้ร่างกายของคนและสัตว์รวมทั้งพืชนั้น เกิดเป็นสิ่งที่มีชีวิตขึ้นมาได้อย่างน่าอัศจรรย์ แต่ถ้าระบบประสาทใดเกิดความเสียหาย วิญญาณก็จะไม่เกิดขึ้นมาที่ระบบประสาทนั้น หรือถ้าร่างกายเกิดความเสียหาย วิญญาณก็จะไม่เกิดขึ้นมาที่ร่างกายนั้น แล้วเราก็มาเรียกร่างกายที่ไม่มีวิญญาณนั้นว่าตาย (ส่วนเรื่องวิญญาณที่เป็นตัวตนที่สามารถล่องลอยออกจากร่างกายที่ตายไปแล้วได้นั้น ไม่ใช่คำสอนของพระพุทธเจ้า แต่เป็นคำสอนของศาสนาพราหมณ์)

สรุปได้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นมาทั้งหลายในโลกและในจักรวาล ทั้งวัตถุสิ่งของและร่างกายของคนและสัตว์รวมทั้งพืชทั้งหลาย และทั้งจิตใจของสิ่งที่มีชีวิตทั้งหลาย ล้วนเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาจากธาตุตามธรรมชาติทั้งสิ้น ซึ่งนี่ก็คือความจริงสูงสุดของทุกชีวิตที่ว่า มันไม่ได้มีตัวตนของสิ่งใดๆหรือของใครๆอยู่จริง เพราะทุกสิ่งเกิดมาจากธาตุตามธรรมชาติมาปรุงแต่งให้เกิดขึ้น ซึ่งธาตุทั้งหลายที่มาปรุงแต่งให้เกิดขึ้นมานี้ ก็ไม่ได้เป็นธาตุเฉพาะของใครหรือของสิ่งใดๆเลย ซึ่งนี่คือการมองโลกด้วยปัญญา ที่ทำให้เราเข้าใจถึงความจริงเรื่อง สุญญาตา (ที่หมายถึง ความว่างจากอัตตา) ที่เป็นคำสอนสูงสุดที่พระพุทธเจ้าสอน ถ้าเราเข้าใจเรื่องสุญญาตานี้ได้ถูกต้อง ก็เท่ากับเราได้เกิดปัญญา ที่เป็นความเข้าใจถึงความจริงสูงสุดของโลกและชีวิตแล้ว

ขันธ์ ๕

ขันธ์ แปลว่า กอง หรือ กลุ่ม ซึ่งชีวิตของมนุษย์เรานี้ จะแยกเป็นขันธ์หรือกลุ่มได้ ๕ กลุ่ม ที่เรียกว่าขันธ์ ๕ อันได้แก่

๑. รูปขันธ์ คือกลุ่มของรูป หรือ วัตถุ ที่เป็นอวัยวะทั้งหมดของร่างกาย ที่เกิดขึ้นมาจากรูปธาตุ ๔

๒. เวทนาขันธ์ คือกลุ่มของความรู้สึก ซึ่งความรู้สึกนี้ก็สรุปได้ ๓ อย่าง คือ (๑) สุขเวทนา คือความรู้สึกที่ทนได้ง่าย (หรือที่เราเรียกกันว่าความสุข) (๒) ทุกขเวทนา คือความรู้สึกที่ทนได้ยาก (ทุกขเวทนานี้ถ้ายังไม่รุนแรงจะไม่เรียกว่าเป็นความทุกข์ แต่ถ้าจิตของเราเกิดกิเลสขึ้นมา แล้วทำให้เกิดทุกขเวทนาที่รุนแรงขึ้นมาที่ใจ จึงจะเรียกว่าเป็นความทุกข์) (๓) อทุกขมสุขเวทนา คือความรู้สึกกลางๆหรือจืดๆ ที่ไม่ใช่ทั้งสุขเวทนาและทุกขเวทนา

๓. สัญญาขันธ์ คือกลุ่มของการจำสิ่งที่รับรู้ได้ คือเมื่อจิตของเราจำสิ่งที่กำลังรับรู้อยู่ได้ ก็เรียกว่าเกิดสัญญาหรือการจำได้ขึ้นมาแล้ว

๔. สังขารขันธ์ คือกลุ่มของการปรุงแต่งของจิต ซึ่งก็ได้แก่การที่จิตของเราเกิดอาการต่างๆไปตามอำนาจของเวทนา เช่น เกิดความพอใจในสุขเวทนา หรือไม่พอใจในทุกขเวทนา เป็นต้น ซึ่งก็รวมทั้งการคิดนึกของจิตด้วย

๕. วิญญาณขันธ์ คือกลุ่มของการรับรู้ที่เกิดขึ้นมาตามอายตนะภายในทั้ง ๖ และมีชื่อเรียกไปตามอายตนะที่วิญญาณเกิดขึ้น อันได้แก่ วิญญาณทางตา คือการรับรู้ทางตา, วิญญาณทางหู คือการรับรู้ทางหู, วิญญาณทางจมูก คือการรับรู้ทางจมูก, วิญญาณทางลิ้น คือการรับรู้ทางลิ้น, วิญญาณทางกาย คือการรับรู้ทางกาย, และวิญญาณทางใจ คือการรับรู้ทางใจ

ขันธ์ทั้ง ๕ นี้เรานิยมเรียกสั้นๆว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ (ซึ่งก็ไม่ค่อยถูกต้องนัก ที่ถูกต้องคือต้องมีคำว่าขันธ์มาอยู่ข้างหลังด้วย) ซึ่งชีวิตของเรานี้ก็ประกอบด้วยขันธ์ทั้ง ๕ โดยร่างกายของเราก็จะมีระบบประสาท ๖ จุด (คือตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ) เมื่อระบบประสาทใดกำลังทำงานอยู่ และมีสิ่งภายนอกที่ตรงกันมาสัมผัส (เช่น มีรูปมาสัมผัสตา หรือมีเสียงมาสัมผัสหู เป็นต้น) ก็จะเกิดวิญญาณที่เกิดขึ้นมาที่ระบบประสาทนั้นทันที

เมื่อวิญญาณเกิดขึ้น ก็จะเกิดการจำสิ่งที่รับรู้นั้นขึ้นมาด้วยทันที เมื่อจำสิ่งที่รับรู้นั้นได้แล้ว ก็จะเกิดความรู้สึกต่อสิ่งที่รับรู้นั้นขึ้นมาด้วยทันที และเมื่อมีความรู้สึกเกิดขึ้นมาแล้ว ก็จะเกิดการปรุงแต่งต่อไปว่าจะทำอย่างไรกับเวทนานั้นทันที (คือถ้าขณะนั้นจิตของเราถูกอวิชชาครอบงำ ก็จะทำให้จิตของเราเกิดความพอใจในสุขเวทนา หรือไม่พอใจในทุกขเวทนา ซึ่งก็จะทำให้จิตของเราเกิดความทุกข์ขึ้นมาทันที แต่ถ้าขณะนี้จิตของเรามีสติปัญญาและสมาธิ จิตของเราก็จะไม่ปรุงแต่งให้เกิดกิเลสและความทุกข์ขึ้นมา ซึ่งก็จะทำให้จิตของเรานิพพานได้) ซึ่งนี่ก็คือระบบการทำงานของจิตใจมนุษย์ที่น่าอัศจรรย์อย่างยิ่ง  ที่มันสามารถทำงานได้ด้วยระบบของมันเอง โดยไม่ต้องมีตัวตนใดๆ  

ขันธ์ทั้ง ๕ นี้เอง ที่พระพุทธเจ้าสอนให้เรานำมาพิจารณาถึงเหตุที่ทำให้แต่ละขันธ์เกิดขึ้นและดับหายไปอย่างละเอียด ซึ่งก็จะทำให้เราเกิดความเข้าใจถึงความเป็นอนิจจัง ทุกขัง และอนัตตาของขันธ์ทั้ง ๕ ที่ประกอบขึ้นมาเป็นชีวิตของเรา แล้วก็จะทำให้เราเกิดปัญญาเข้าใจถึงความจริงสูงสุดว่า แท้จริงมันไม่ได้มีตัวเราหรือตัวตนของใครๆอยู่จริงเลยในขันธ์ทั้ง ๕ นี้ ซึ่งเมื่อเรานำเอาความเข้าใจนี้มาเพ่งพิจารณาอย่างตั้งใจ (คือด้วยสมาธิ) ก็จะทำให้จิตของเราหลุดพ้นจากความยึดถือว่าขันธ์ทั้ง ๕ นี้คือตัวเราหรือของเราลงทันที (คือกิเลสได้ระงับหรือดับลงแม้เพียงชั่วคราว) เมื่อความยึดถือดับหายไปแล้ว ความทุกข์ก็จะดับหายไปตาม แล้วจิตของเราก็จะนิพพาน (แม้เพียงชั่วคราว)       

เราคืออะไร?

พระพุทธเจ้าได้ทรงสอนเรื่องการเกิด “ความรู้สึกว่ามีตัวเรา” เอาไว้ว่า เด็กที่เพิ่งเกิดมาใหม่ๆทุกคนนั้น จะมีจิตที่ประภัสสร คือสว่างเหมือนมีแสงส่องออกมา ซึ่งจิตที่ประภัสสรนี้เป็นจิตที่บริสุทธิ์ เพราะยังไม่มีกิเลสและความยึดถือว่ามีตนเอง จะมีก็เพียงสัญชาติญาณว่ามีตนเอง หรือความรู้ว่ามีตนเองเพียงเล็กน้อยเท่านั้นที่ติดตัวมา (สัญชาติญาณว่ามีตนเองนี้ก็จัดว่าเป็น อวิชชา หรือความรู้ผิด ซึ่งเป็นความรู้ว่ามีตนเอง ที่เป็นต้นเหตุให้จิตเกิดความทุกข์) แต่เพราะจิตที่ประภัสสรนี้ ไม่มีสติปัญญามาคอยระวังรักษาเอาไว้ เมื่อจิตของเด็กนั้นได้สัมผัสกับโลกผ่านทางตา หู จมูก ลิ้น กาย สัญชาติญาณของเด็กจึงเริ่มทำงาน คือเกิดการปรุงแต่งไปตามอำนาจของอวิชชา จนทำให้จิตของเด็กนั้น เกิดความรู้สึกว่ามีตนเองขึ้นมา

เมื่อจิตของเด็กได้สัมผัสกับโลก (ผ่านตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ) โดยมีอวิชชาครอบงำจิตอยู่ จึงทำให้จิตของเด็กเกิดความรู้สึก (เวทนา) ต่อสิ่งที่มาสัมผัสด้วยอำนาจของอวิชชา 

เมื่อเกิดเวทนาขึ้นมา จิตของเด็กนั้นก็จะเกิดกิเลส ไปตามเวทนาที่เกิดขึ้นทันที คือเกิดความพอใจในสุขเวทนา และไม่พอใจในทุกขเวทนา และลังเลใจในอทุกขมสุขเวทนา เมื่อจิตของเด็กนั้นเกิดกิเลส (คือความพอใจ-ไม่พอใจ-ลังเลใจ) ขึ้นมาแล้ว จิตของเด็กนั้นก็จะเกิดความยึดถือว่ามีตนเอง (อุปาทาน แปลว่า ความยึดถือ) ที่เป็นผู้ที่มีความพอใจหรือไม่พอใจหรือลังเลใจ ไปตามอำนาจของอวิชชาที่ครอบงำจิตอยู่ และเมื่อจิตของเด็กนั้นเกิดความยึดถือว่ามีตนเองขึ้นมา จิตของเด็กนั้นจึงเกิดความทุกข์ หรือความรู้สึกหนักเหนื่อย ทรมาน (ความทุกข์ซ่อนเร้น) หรือความเศร้าโศกเสียใจ (ความทุกข์เปิดเผย) ขึ้นมาทันที

เมื่อเด็กนั้นโตขึ้น โดยมีกิเลสและความยึดถือว่ามีตนเอง เกิดขึ้นมาครอบงำจิตอยู่เป็นประจำทุกๆวัน จึงทำให้จิตของเด็กนั้นเกิดความเคยชิน ที่จะเกิดกิเลสและความยึดถือว่ามีตนเองขึ้นมาอีก ซึ่งความเคยชินนี้ก็ได้กลายเป็นนิสัยของจิต หรือฝังเข้าไปเป็นจิตใต้สำนึกที่ควบคุมไม่ได้ ดังนั้นเมื่อจิตของเด็กนั้นเกิดการรับรู้โลก แล้วเกิดความรู้สึกต่อโลกเมื่อใด จิตของเด็กนั้นจึงได้เกิดกิเลสและความยึดถือว่ามีตนเองขึ้นมาได้อย่างรวดเร็วและรุนแรง ไปตามความเคยชินจากจิตใต้สำนึก แล้วก็ทำให้จิตของเด็กนั้นเกิดความทุกข์ไปด้วยความโง่เขลา (หรืออวิชชา) ที่มีมาตั้งแต่เกิด

สรุปได้ว่า แท้จริงแล้วมันไม่ได้มีตัวเราอยู่จริงเลย เพราะเด็กทุกคนที่เกิดมา จะมีจิตที่บริสุทธิ์เหมือนกันทุกคน แต่เป็นเพราะอวิชชาที่เป็นธรรมชาติของจิต ที่มาครอบงำจิตของเด็กทุกคน แล้วมาปรุงแต่งหรือทำให้จิตของเด็กแต่ละคน เกิดความรู้สึกว่ามีตนเองไปตามสภาพของร่างกาลและสิ่งแวดล้อม ดังนั้นจึงทำให้มนุษย์แต่ละคนที่เกิดขึ้นมา  จึงเกิดความรู้สึกตัวว่ามีตนเองอยู่จริงๆในโลก และเกิดความยึดถือว่ามีตนเองที่แตกต่างจากคนอื่นๆ ไปตามสภาพของร่างกายและสิ่งแวดล้อม ซึ่งนี่คือความจริงของทุกชีวิต ที่มนุษย์ทุกคนควรรู้และเข้าใจ เพื่อที่จะได้รู้จักดำเนินชีวิตได้อย่างถูกต้อง และได้รับสิ่งสูงสุดสำหรับชีวิตต่อไป


หน้าต่อไป