มนุษย์ทุกคนในโลกคือคนๆเดียวกัน

เมื่อเราพิจาณาดูจากสิ่งที่เราพบเห็นได้จริงจากธรรมชาติ เราก็จะพบว่าเด็กที่เพิ่งเกิดมาใหม่ๆทุกคนในโลก จะมีสิ่งพื้นฐานของชีวิตเหมือนกัน คือมีการรับรู้ และมีความรู้สึกเหมือนกัน ที่เรียกว่าจิตเดิมแท้ หรือจิตประภัสสร ซึ่งจิตประภัสสรนี้เป็นจิตที่ ว่าง หรือ สะอาด หรือ ผ่องใส และ ไม่มีทุกข์ (ซึ่งจิตที่ว่างนี้ก็มีทั้งว่างเพียงชั่วคราวและว่างอย่างถาวร) ส่วนความจำและความคิดปรุงแต่งใดๆจะยังไม่มี  ดังนั้นเด็กที่เกิดมาใหม่ๆทุกคนในโลกจึงยังไม่มีความทรงจำและความคิดนึกปรุงแต่งใดๆที่จะมาปรุงแต่งให้เกิดความยึดถือว่ามีตนเอง (หรือตัวเรา) ที่แตกต่างกัน แต่จิตประภัสสรนั้นยังเป็นจิตที่โง่อยู่เพราะยังไม่มีสติปัญญาใดๆอยู่เลย จะมีบ้างก็เพียงสัญชาติญาณ (ความรู้ที่เกิดขึ้นมาพร้อมกับชีวิตโดยไม่มีใครสอน) ว่ามีตัวเองอยู่เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งสัญชาติญาณว่ามีตัวเองนี้เรียกว่าเป็น ความโง่สูงสุด (ที่เรียกว่า อวิชชา ที่หมายถึง ความที่ไม่รู้ความจริงสูงสุดของธรรมชาติว่าไม่มีตัวเอง หรือความรู้ผิด หรือความรู้ว่ามีตนเอง) ของมนุษย์

แต่เมื่อเด็กโตขึ้นและมีการรับรู้และรู้สึก (ด้วยระบบประสาทต่างๆของร่างกาย คือตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) ต่อสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันของแต่ละร่างกาย จึงทำให้เกิดความทรงจำที่แตกต่างกันขึ้นมา  (เช่น จำได้ว่าร่างกายของตน เป็นชายหรือเป็นหญิง มีรูปร่างและสีผิวที่แตกต่างกันมีเสียงต่างกัน มีภาษาแตกต่างกัน มีชื่อและนามสกุลแตกต่างกัน มีทรัพย์สินเงินทองและสิ่งของแตกต่างกัน มีความรู้แตกต่างกัน มีสุขมีทุกข์แตกต่างกัน เป็นต้น) ซึ่งจากความทรงจำที่แตกต่างกันนี้เองที่จิตได้นำเอามาปรุงแต่งด้วยสัญชาติญาณว่ามีตัวเอง ให้เกิดความยึดถือว่ามีตัวเองที่แตกต่างกันขึ้นมาในภายหลัง ซึ่งจิตโง่ที่ยึดถือว่ามีตัวเองนี้เองที่มีความเข้าใจผิดว่า "มีตนเองมาเกิด และมีตนเองตาย" (ซึ่งนี่คือความเชื่อว่ามี จิต หรือ วิญญาณ ที่เวียนว่ายตายเกิดในร่างกายใหม่ๆได้ ตามคำสอนของศาสนาพราหมณ์หรือฮินดู)

ตามหลักของพุทธศาสนาแล้วจะสอนว่า จิตหรือวิญญาณของมนุษย์เรานี้เกิดจากระบบการทำงานของสมองเท่านั้น คือเมื่อมีร่างกายที่ยังไม่ตาย และมีความทรงจำจากสมอง ก็จะทำให้ วิญญาณ หรือ กระแสแห่งการรับรู้ก็จะสามารถเกิดขึ้นมาตามระบบประสาททั้ง ๖ ของร่างกายได้ (คือที่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ) และเมื่อมีการรับรู้และรู้สึกต่อสิ่งต่างๆแล้ว ก็จะเกิดการจำสิ่งต่างๆได้ (ส่วนความทรงจำจะบันทึกเอาไว้ในที่เนื้อสมองของร่างกาย) และมีการเอาความทรงจำนั้นมาคิดและปรุงแต่งให้เกิดเป็นความอยากหรือความยึดถือว่ามีตัวเองขึ้นมาได้  ซึ่งระบบการทำงานนี้เรียกว่า จิต หรือใจ ดังนั้นถ้าไม่มีร่างกายที่ยังเป็นๆอยู่เสียอย่างเดียว วิญญาณ และ จิตก็จะไม่สามารถเกิดขึ้นมาได้ (พุทธศาสนาระดับสูงจะไม่สอนว่า มีจิตหรือวิญญาณออกจากร่างกาย ที่ตายแล้วเพื่อไปเกิดใหม่ได้อย่างที่ศาสนาพราหมณ์สอน)

ปกติจิตของเรานี้ก็จะมีมีอวิชชาครอบงำจิตอยู่เสมอ เมื่ออวิชชาครอบงำจิต มันก็ปรุงแต่งให้จิตเกิดกิเลส (ความสกปรกของจิต) มาครอบงำจิตอยู่เสมอๆ และเมื่อเกิดกิเลสเกิดขึ้นก็จะทำให้จิตเกิดความยึดถือว่ามีตัวเองเกิดขึ้นมาด้วยทุกครั้ง และเมื่อมีความยึดถือว่ามีตัวเองเกิดขึ้นมาเมื่อใด ความทุกข์ก็จะเกิดขึ้นมาด้วยเมื่อนั้นทันที แต่เมื่อใดที่กิเลสได้หายไปจากจิต (ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้เองตามธรรมชาติก็ได้ หรือจากการใช้สมาธิบังคับโดยมีปัญญาควบคุมก็ได้) ความว่างหรือจิตประภัสสร ก็จะกลับมาปรากฏแก่จิตได้ใหม่อีก แต่ถ้ากิเลสกลับมาเกิดขึ้นอีก ความประภัสสรก็จะหายไปได้อีก ซึ่งจะเป็นอย่างนี้เรื่อยไป จนกว่าเราจะสามารถทำลายรากเหง้าหรือต้นตอของกิเลส (คืออวิชชา) ที่มีอยู่ในจิตใต้สำนึกให้หมดสิ้นไปได้อย่างถาวร จิตก็จะกลับมาประภัสสรได้อย่างถาวร (คือตราบเท่าที่จะยังมีจิตอยู่) และจิตก็จะไม่มีความทุกข์เพราะความยึดถือว่ามีตัวเราอีกอย่างถาวรด้วยเหมือนกัน

ถ้าเราสามารถฝึกจิตให้มีสมาธิ (คือมีความตั้งใจอย่างสม่ำเสมอเหมือนตอนที่เราตั้งใจเรียนหนังสือ) จนทำให้จิตกลับมาว่างหรือสะอาดได้ดังเดิม (สมาธิจะมีอำนาจทำให้จิตว่างหรือสะอาดได้)  ก็จะทำให้ความยึดถือว่ามีตัวเราหายไปจากจิตได้ (แม้ชั่วคราว) จิตก็จะกลับมาประภัสสรได้ดังเดิม แล้วเราก็จะรู้สึกถึงจิตว่างหรือจิตประภัสสร ที่ไม่มีความรู้สึกและความยึดถือว่ามีตัวเองได้อย่างแท้จริง แล้วเราก็จะเข้าใจได้ว่า ทุกจิตจะมีพื้นฐานเหมือนกัน หรือเป็นอันเดียวกัน เหมือนกับว่าแยกออกมาจากกันและกัน หรือเท่ากับว่าทุกคนในโลกคือคนๆเดียวกัน คือคนที่ยังมีชีวิตอยู่ทุกคนในโลกก็เหมือนกันกับเรานี้ ส่วนคนที่จะเกิดใหม่อีกก็จะเหมือนกันกับเรานี้ ซึ่งที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะดั้งเดิมแล้วมนุษย์ สัตว์ และพืชที่มีชีวิต ย่อมมีพื้นฐานของจิตที่เหมือนกัน เหมือนกับว่าแยกมาจากกันหรือถูกสร้างมาด้วยสิ่งเดียวกัน เพียงแต่มาแตกต่างกันในภายหลังเพราะเกิดขึ้นมาในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันเท่านั้น และสุดท้ายทุกชีวิตก็ย่อมที่จะกลับคืนไปสู่สภาวะดั้งเดิม (คือว่างเปล่า หรือ ร่างกายตายและจิตดับหายไป) อย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยง ไม่มีใครสามารถยึดถือให้มีความทรงจำและความยึดถือว่ามีตัวเองให้ตั้งอยู่อย่างถาวร (หรือเป็นอมตะ) ได้ ซึ่งสรุปง่ายๆก็คือดั้งเดิมทุกคนหรือทุกชีวิตก็คือเรา เพียงแต่มาแตกต่างกันในภายหลังเพราะมีสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันเท่านั้น และเมื่อเข้าใจดังนี้แล้ว เรายังจะเอารัดเอาเปรียบ หรือเบียดเบียนตัวเราเองกันอยู่อีกหรือ?

สรุปได้ว่า ทุกชีวิตในโลกคือชีวิตเดียวกัน หรือทุกคนในโลกก็คือคนๆเดียวกัน ดังนั้นการเบียดเบียนคนอื่นหรือชีวิตอื่น ก็เหมือนการเบียดเบียนตัวเราเอง การช่วยเหลือคนอื่นหรือชีวิตอื่น ก็เหมือนการช่วยเหลือตัวเราเอง ซึ่งนี่คือผลจากการเข้าใจแล้วว่า "ทุกคนในโลกคือคนๆเดียวกัน" และถ้ายิ่งเราศึกษาเรื่องอนัตตา (ความไม่ใช่ตัวตนที่เป็นอมตะ)  อย่างละเอียดต่อไป จนเกิดความเข้าใจอย่างถูกต้อง ก็จะทำให้เกิดความเข้าใจได้อีกว่า "แท้จริงแล้วแม้แต่ตัวเราเองนี้ รวมทั้งตัวตนของทุกชีวิตในโลกด้วย มันก็ยังไม่มีอยู่จริง มีแต่ตัวตนมายา หรือตัวตนชั่วคราว หรือตัวตนสมมติเท่านั้น" ซึ่งนี่คือความรู้สูงสุด (วิชชา) ที่จะช่วยดับทุกข์ของจิตใจได้ทั้งอย่างชั่วคราวและอย่างถาวร ตามหลักอริยสัจ ๔ ของพระพุทธเจ้า

เตชปญฺโญ ภิกขุ   ๒๘  ธันวาคม  พ.ศ. ๒๕๕๓

อาศรมพุทธบุตร เกาะสีชัง ชลบุรี

(ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก www.whatami.net)

*********************