การเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ของขันธ์ ๕ ตามหลักวิทยาศาสตร์

เรื่องการเกิดขึ้น ตั่งอยู่ และดับไปของขันธ์ ๕ นี้จัดเป็นเรื่องสำคัญที่สุดที่ชาวพุทธควรรู้ เพราะนี่เป็นการศึกษาเพื่อให้เกิดปัญญาที่จะนำเอาไปใช้คู่กับสมาธิในการปฏิบัติเพื่อกำจัดความทุกข์ของจิตใจในปัจจุบันของมนุษย์ทุกคนตามหลักอริยสัจ ๔ ของพระพุทธเจ้า ถ้าใครไม่รู้เรื่องนี้ก็จะไม่สามารถขจัดความทุกข์ของจิตใจตนเองในปัจจุบันได้อย่างแท้จริง

ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจก่อนว่าหลักหัวใจของวิทยาศาสตร์นั้นคืออะไร? และขันธ์ ๕ คืออะไร? มีอะไรบ้าง? รวมทั้งเข้าใจว่า การเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปนั้นมันมีอาการอย่างไร?

วิทยาศาสตร์ คือ การศึกษาเพื่อค้นหาความจริงของธรรมชาติ โดยใช้วิธีการสังเกตุจากสิ่งที่มีอยู่จริงตามธรรมชาติ และใช้เหตุผลในการศึกษาอย่างมีระบบ รวมทั้งยังต้องมีการทดลองหรือพิสูจน์เพื่อให้เกิดความรู้แจ้งหรือประสบผลจริงอย่างแน่ชัดเสียก่อนจึงจะยอมรับ (ไม่เชื่ออะไรล่วงหน้า)

ขันธ์ ๕ ก็หมายถึง ส่วน ๕ ส่วนที่ประกอบกันขึ้นมาเป็นชีวิตของมนุษย์เราทุกคน ที่เรียกว่า ร่างกายและจิตใจ โดยส่วนทั้ง ๕ นั้นก็ได้แก่

๑. รูปขันธ์ คือ ส่วนที่เป็นร่างกาย

๒. วิญญาณขันธ์ คือส่วนที่เป็นการรับรู้ตามระบบประสาททั้ง ๖ ของร่างกาย

๓. สัญญาขันธ์ คือส่วนที่เป็นอาการที่จำสิ่งที่รับรู้ได้

๔. เวทนาขันธ์ คือส่วนที่เป็นความรู้สึกที่เกิดตามระบบประสาททั้ง ๖ ของร่างกาย

๕. สังขารขันธ์ คือส่วนที่เป็นอาการที่จิตปรุงแต่งไปต่างๆนาๆ เช่น ปรุงแต่งให้เกิดความอยาก (กิเลส) ความยึดถือ (อุปาทาน) และความคิดทั้งหลาย

การเกิด คือ อาการจากที่ไม่มีอยู่ก่อน แล้วจึงมามีขึ้นในภายหลัง

การดับ คือ อาการจากที่มีอยู่ก่อน แล้วจึงมาหายไปในภายหลัง

ตั้งอยู่ คือ อาการที่เกิดขึ้นมาแล้วแต่ยังไม่ดับหายไป

การเกิดขึ้นโดยพื้นฐานของขันธ์ทั้ง ๕ นั้นจะมีการอาศัยกันแล้วเกิดขึ้นมา คือเมื่อมีเชื้อของพ่อมาผสมกับไข่ของแม่ จึงเริ่มมีการเกิดร่างกายขึ้นมา และเมื่อมีอาหาร มีน้ำ มีอากาศบริสุทธ์ มีอุณหภูมิที่พอเหมาะ รวมทั้งมีการดูแลรักษาที่ถูกต้อง จึงทำให้ร่างกายตั้งอยู่ได้หรือยังมีชีวิตอยู่ ยังไม่ตาย

ในร่างกายที่ยังปกติและมีชีวิตอยู่นี้ จะมีระบบประสาท ๖ จุดที่สามารถรับรู้สิ่งต่างภายนอกได้ คือ ตา (เพื่อรับรู้รูปภาพ), หู (เพื่อรับรู้เสียง), จมูก (เพื่อรับรู้กลิ่น), ลิ้น (เพื่อรับรู้รส), กาย (เพื่อรับรู้สิ่งที่มาสัมผัสเนื้อเยื่อของร่างกาย), ใจ (เพื่อรับรู้นามธรรมที่เกิดขึ้นแก่จิตใจทั้งหมด เช่น ความรู้สึก ความจำ ความคิด รวมทั้งสิ่งที่จิตจะสามารถรับรู้ได้ทั้งหมด) ซึ่งคำว่า จิต จะหมายถึง สิ่งที่รู้สึกนึกคิด ส่วนคำว่า ใจ จะหมายถึง ศูนย์กลางของการทำงานของจิต) ซึ่ง จิต กับ ใจ มันก็คือสิ่งเดียวกัน

เมื่อมีสิ่งภายนอกมาสัมผัสระบบประสาทใดของร่างกายเมื่อใด (เช่นมีรูปมากระทบตา) ก็จะเกิดการรับรู้สิ่งที่มากระทบนั้นขึ้นมาทันที (เช่น เกิดการรับรู้รูปหรือเห็นภาพ)

เมื่อมีการรับรู้เกิดขึ้นเมื่อใด ก็จะเกิดอาการจำสิ่งที่รับรู้นั้นขึ้นมาด้วยทันที ซึ่งความจำพื้นฐานก็คือความจำว่ามีตัวเรา-ของเรา และมีความจำในเรื่องต่างๆมากมายที่สมองของร่างกายเก็บเอาไว้ในลักษณะของระหัสทางธรรมชาติที่ซับซ้อนจนเราไม่อาจไปเข้าใจกับมันได้ ซึ่งความจำนี้แต่เดิมเมื่อร่างกายเกิดขึ้นมาจะยังไม่มีความทรงจำใดๆ แต่เมื่อระบบประสาทของร่างกายของเราได้รับรู้สิ่งต่างๆของโลกมากขึ้น จึงได้เกิดมีความจำมากขึ้น ยิ่งอายุมากขึ้น ความจำก็จะมากขึ้น แต่ถ้าสมองของร่างกายเสียหาย ความทรงจำที่เคยมีก็จะหายตามไปด้วย อย่างเช่นคนตกน้ำจนขาดอากาศหายใจนานๆ จนสมองเสียหาย แต่ร่างกายยังไม่ตาย ก็จะทำให้กลายเป็นเจ้าชายหรือเจ้าหญิงนิทราไปจนกว่าร่างกายจะตาย

เมื่อเกิดการจำสิ่งที่รับรู้นั้นได้แล้ว ก็จะเกิดความรู้สึกต่อสิ่งที่รับรู้นั้นด้วยทันที (ถ้าสิ่งที่รับรู้นั้นให้ความรู้สึกที่น่าพอใจ ก็จะเกิดความรู้สึกที่ทนได้ง่าย หรือความสุข, แต่ถ้าสิ่งที่รับรู้นั้นให้ความรู้สึกที่ไม่น่าพอใจ ก็จะเกิดความรู้สึกที่ทนได้ยาก หรือความทุกข์, หรือถ้าสิ่งที่รับรู้นั้นให้ความรู้สึกที่เป็นกลางๆ ก็จะเกิดความรู้สึกกลางๆหรือไม่ใช่ทั้งสุขและทุกข์)

เมื่อเกิดความรู้สึกใดขึ้นมาแล้ว จิตก็จะปรุงแต่งให้เกิดอาการต่างๆต่อความรู้สึกที่เกิดขึ้นมานั้นทันที เช่น เกิดความติดใจหรือพอใจหรืออยากได้ต่อสิ่งที่ให้ความสุข, เกิดความโกรธ เกลียดหรือกลัวต่อสิ่งที่ให้ความทุกข์, หรือเกิดความลังเลใจไม่รู้ว่าจะพอใจหรือไม่พอใจต่อสิ่งที่ให้ความรู้สึกกลางๆ, หรือเกิดความยึดถือว่ามีตัวเราที่เป็นผู้ที่พอใจ หรือไม่พอใจ ขึ้นมาทันที, หรือเกิดการคิดพิจารณาต่อไปต่างๆนาๆ เป็นต้น ซึ่งการปรุงแต่งนี้ถ้าจิตนี้ถูกความโง่ (อวิชชา) ครอบงำ มันก็จะปรุงแต่งให้เกิดกิเลสหรือความยึดถือว่ามีตัวเรา-ของเราขึ้นมา แล้วจิตที่ปรุงแต่งนี้ก็เกิดความรู้สึกทรมานหรือความทุกข์ซ้อนขึ้นมาอีกอย่างรุนแรง (ซึ่งนี่คือทุกข์ในอริยสัจ ๔) แต่ถ้าจิตนี้มีปัญญา (หรือวิชชา) พร้อมทั้งมีสมาธิอยู่ด้วย มันก็จะไม่ปรุงแต่งให้เกิดกิเลสหรือความยึดถือว่ามีตัวเรา-ของเราขึ้นมาแล้วจิตนี้ก็จะไม่เกิดความรู้สึกทรมานหรือทุกข์ซ้อนขึ้นมา (ซึ่งนี่คือความดับลงของทุกข์หรือไม่มีทุกข์ที่เรียกว่านิพพาน)     

ร่างกายและจิตใจ (ขันธ์ ๕ ) ของเรานี้คือสิ่งมหัศจรรย์ที่สุดของธรรมชาติ แต่ถึงแม้ชีวิตนี้มันจะมีความมหัศจรรย์สักเท่าใดก็ตาม มันก็ยังเป็นแค่เพียง "สิ่งปรุงแต่ง" หรือสิ่งที่ต้องอาศัยสิ่งอื่นมาปรุงแต่ง (หรือสร้างหรือประกอบ) ให้มันเกิดขึ้นมาเท่านั้น ดังนั้นชีวิตของเรานี้ (หรือขันธ์ทั้ง ๕ นี้) จึงจะหาแก่นแท้หรือตัวตนที่แท้จริง (อัตตา) ของมันไม่มีเลย ส่วนสิ่งที่มีอยู่ก็ไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริงเลย (ที่เรียกว่า อนัตตา) จะมีก็เพียงตัวตนมายา (สิ่งหลอกลวงว่าเป็นของจริง) หรือตัวตนชั่วคราว (เหมือนของจริงแต่ว่าไม่ถาวร หรือไม่เป็นอมตะ) หรือตัวตนสมมติ (ลงมติร่วมกันว่าเป็นตัวตนเพื่อใช้เรียก) เท่านั้น  ซึ่งตัวตนชั่วคราวนี้จะไม่สามารถตั้งอยู่อย่างถาวรหรือเป็นอมตะ(คือไม่ตายอย่างเด็ดขาด)ได้ เพราะไม่ช้าก็เร็วขันธ์ทั้ง ๕ นี้ก็จะต้องแตกหรือดับหายไปในที่สุด (ที่เรียกว่า อนิจจัง) อีกทั้งขณะที่ยังตั้งอยู่ มันก็ยังต้องทนที่จะประคับประคองตัวตนชั่วคราวของมันเอาไว้ด้วยความยากลำบากอีกด้วย (ที่เรียกว่า ทุกขัง)

ขันธ์ ๕ หรือร่างกายกับจิตใจนี้ เป็นสิ่งที่ต้องอาศัยกันและกันจึงทำให้ยังตั้งอยู่ได้ ถ้าขาดสิ่งใดไปมันก็จะดับหายไปด้วยกันทั้งคู่ทันที ไม่มีสิ่ง(หรือขันธ์)ใดจะสามารถเกิดขึ้นมาแล้วจะตั้งอยู่ได้อย่างถาวร เพราะมันตกอยู่ภายใต้กฎสูงสุดของธรรมชาติที่เรียกว่ากฎอิทัปปัจจยตา ที่มีใจความโดยสรุปว่า "ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นมา จะต้องอาศัยเหตุและปัจจัยมาปรุงแต่งให้เกิดขึ้น"

นี่คือการศึกษาขันธ์ ๕ หรือร่างกายและจิตใจของเราทุกคนตามหลักวิทยาศาสตร์ โดยอาศัยเหตุผลจากสิ่งที่เราทุกคนสามารถสัมผัสได้จริงในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่นี้มาศึกษา อันจะทำให้เกิดความเข้าใจอย่างแจ้งชัดขึ้นมาว่า "แท้จริงมันไม่มีตัวตนของเราหรือของใครๆอยู่จริงเลย" ซึ่งความเข้าใจอย่างแจ่มชัดนี้ก็คือสิ่งที่เรียกว่าปัญญา ที่เราจะนำมาใช้ควบคู่กับสมาธิ  เพื่อขจัด (หรือดับ) ความทุกข์ของจิตใจเราในปัจจุบัน (ทั้งอย่างชั่วคราวและอย่างถาวรก็ได้) ตามหลักอริยสัจ ๔ ของพระพุทธเจ้า

เตชปัญโญ ภิกขุ. ๓๑ สิงหาคม ๒๕๕๖

อาศรมพุทธบุตร เกาะสีชัง ชลบุรี

[ศึกษารายละเอียดได้ที่ www.whatami.net]

*********************