ความเห็นผิด ๓ ประการ ของปุถุชน

ปุถุชน หมายถึง คนหนา คือคนที่มีกิเลสหนาแน่น ซึ่งจะตรงข้ามกับ อริยะชน ที่หมายถึง ผู้ประเสริฐเพราะมีกิเลสน้อยหรือไม่มีกิเลสเลย โดยปุถุชนนั้นจะมีความเห็นผิดอยู่ ๓ ประการ คือ

๑. มีความเห็นผิดว่ามีสิ่งที่เที่ยง หรือเป็นอมตะ (นิจจัง) คือจะเห็นว่ามีสิ่งที่เที่ยง โดยจะเห็นว่าจิตหรือวิญญาณของคนเรานี้เป็นอมตะ คือจะไม่สูยหายไปเมื่อร่างกายตาย แต่จะเกิดมีจิตหรือวิญญาณขึ้นมาได้ใหม่เรื่อยไป

๒. มีความเห็นผิดว่าชีวิตมีความสุขหรือสบาย (สุขัง)

๓. มีความเห็นผิดว่ามีสิ่งที่เป็นตัวตนของตนเอง (อัตตา) คือจะเห็นว่ามีจิตหรือวิญญาณที่เป็นตัวตนของตนเองโดยไม่อาศัยสิ่งอื่นใดมาปรุงแต่งให้เกิดขึ้น (ที่ทำให้เกิดความเชื่อเรื่องการเวียนว่ายตาย-เกิดทางร่างกาย และเรื่องนรกใต้ดิน สวรรค์บนฟ้า เทวดา นางฟ้า เป็นต้น ตามความเชื่อของศาสนาพราหมณ์ที่ปลอมปนเข้ามาอยู่ในคำสอนของพระพุทธเจ้าในปัจจุบัน)

ปุถุชนนั้นจะมีความเห็นผิดจากความเป็นจริงของธรรมชาติอยู่ในจิตใต้สำนึกโดยไม่รู้ตัว คือจะรู้สึกว่าร่างกายกายและจิตใจของเรานี้มันเที่ยงหรือคงที่หรือจะเป็นอยู่อย่างนี้ตลอดไป จะไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย จึงทำให้เกิดความประมาทมัวเมาในชีวิต และเมื่อความจริงมาถึง คือร่างกายแก่ เจ็บ และจะตายขึ้นมา เป็นต้น จึงทำให้จิตเกิดความเศร้าโศกเสียใจหรือเป็นทุกข์ อีกทั้งยังจะรู้สึกว่าชีวิตมันมีความสุข ไม่มีความทุกข์ จึงได้ลุ่มหลงในชีวิต ลุ่มหลงในความสุข และเมื่อความจริงมาถึง เมื่อความสุขหายไปและความทุกข์มาถึง จึงทำให้เกิดความเศร้าโศก เสียใจ หรือเป็นทุกข์ซ้อนขึ้นมาอีกอย่างรุนแรง รวมทั้งยังจะรู้สึกว่าร่างกายนี้คือร่างกายของเรา และจิตใจนี้คือจิตใจที่เป็นตัวเรา หรือเห็นว่ามันมีร่างกายและจิตใจที่เป็นตัวเรา-ของเราจริงๆโดยไม่ต้องอาศัยสิ่งใดๆมาปรุงแต่งหรือสร้างขึ้นมา และรวมทั้งรู้สึกว่ามีร่างกายของคนอื่นด้วย และเมื่อความจริงมาถึง เมื่อร่างกายนี้ได้เกิดความพิการ หรือผิดปกติ หรือควบคุมไม่ได้ตามที่เราอยากจะให้เป็น หรือทรมานเพราะขาดอาหาร, น้ำ, อุณหภูมิที่พอเหมาะ, และอากาศที่บริสุทธิ์ รวมทั้งร่างกายของคนที่เรารักได้จากเราไป เป็นต้น เราก็จะเกิดความทุกข์ขึ้นมาทันที

ส่วนอริยะชนนั้นจะมีความเห็นที่ถูกต้องตามที่เป็นอยู่จริงของธรรมชาติ คือจะเห็นว่าทุกสิ่งที่เกิดขึ้นมานี้มันจะไม่มีความเที่ยงหรือถาวรหรือเป็นอมตะได้ รวมทั้งความสุขก็ไม่มี มีแต่ความทุกข์ที่มันลดน้อยลงเท่านั้น รวมทั้งขณะที่กำลังเกิดความสุขอยู่ ความทุกข์ก็ซ่อนอยู่ภายในอย่างเงียบๆด้วย และความสุขก็ยังนำความทุกข์และความเดือดร้อนมาให้อีกมากมายในภายหลัง และยังเห็นว่า แท้จริงมันไม่ได้มีตัวเราหรือตัวตนของใครๆหรือของสิ่งใดๆอยู่จริง มีแต่สิ่งที่ถูกปรุงแต่งให้เกิดเป็นตัวตนชั่วคราวขึ้นมาเท่านั้น และเมื่อสิ่งทั้งหลายได้แปรเปลี่ยนไปตามธรรมชาติที่ไม่เที่ยงของมัน เช่น ร่างกายแก่ เจ็บ จะตาย หรือคนที่รักได้จากไป หรือต้องประสบกับคนที่ไม่รัก หรือไม่สมหวัง เป็นต้น อริยะชนก็จะไม่มีทุกข์ หรือมีก็มีน้อยกว่าปุถุชนมาก เพราะมีความเข้าใจในชีวิตและธรรมขาติอย่างถูกต้องแล้ว

สรุปได้ว่า ปุถุชนจะมีความเห็น (ความรู้ ความเข้าใจ ความเชื่อ) ที่ผิด ที่ตรงข้ามกับอริยะชน คือจะมีความเห็นผิดว่าชีวิตของเรานี้มันเที่ยง มีความสุข และเป็นตัวตนของเราเอง ซึ่งจากความเห็นผิดนี้เองที่ทำให้ปุถุชนมีการดำเนินชีวิตหรือใช้ชีวิตที่ผิดตามไปด้วย คือมีความประมาท ลุ่มหลงในชีวิต ชอบทำผิดกฎหมายบ้านเมือง และทำผิดศีลธรรมของศาสนา เช่น ชอบเอาเปรียบและเบียดเบียนชีวิตและทรัพย์สินของผู้อื่น เห็นแก่ตัว ไม่ชอบช่วยเหลือผู้อื่น ฟุ่มเฟือย ลุ่มหลงติดใจในอบายมุขและสิ่งเสพติด  เป็นต้น และที่สำคัญคือปุถุชนจะไม่สนใจศึกษาและปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ของชีวิต ดังนั้นจึงทำให้ปุถุชนจึงต้องประสบกับความทุกข์ของจิตใจอยู่เสมอๆ รวมทั้งยังต้องพบกับปัญหาและความเดือดร้อนในชีวิตอยู่ตลอดเวลา ซึ่งจะตรงข้ามกับอริยะชนที่มีความเห็นที่ตรงข้ามกับปุถุชน คือมีความเห็นที่ถูกต้องว่าชีวิตของเรานี้มันไม่มีสิ่งใดเที่ยง มีสภาวะที่ต้องทนอยู่ตลอดเวลา และจะหาสิ่งที่เป็นตัวตนของเราและของคนอื่นหรือสิ่งอื่นๆไม่มีเลย  ซึ่งความเห็นที่ถูกต้องของอริยะชนนี้เองที่ทำให้อริยะชนมีการดำเนินชีวิตหรือใช้ชีวิตได้อย่างถูกต้องคือจะไม่ประมาทมัวเมาในชีวิต จะมีศีลธรรม รักษากฎหมายบ้านเมือง ไม่เห็นแก่ตัว ชอบช่วยเหลือคนอื่น ประหยัด ไม่ลุ่มหลงอบายมุขหรือสิ่งเสพติด ที่สำคัญอริยะชนจะมีการศึกษาและปฏิบัติเพื่อดับทุกข์อยู่เสมอๆ อันจะทำให้อริยะชนนี้มีความสงบสุข และมีความทุกข์น้อยหรือไม่มีความทุกข์เลยได้

เตชปัญโญ ภิกขุ

อาศรมพุทธบุตร เกาะสีชัง ชลบุรี

๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗

(ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.whatami.net)

*********************