การเกิดขึ้นของร่างกายและจิตใจ (ขันธ์ ๕) ตามความเป็นจริง

ธรรมชาตินั้นมีความมหัศจรรย์อย่างยิ่ง ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าทำไมมันจึงเป็นเช่นนี้ เรารู้เพียงแต่ว่า เมื่อมีเหตุและปัจจัยพร้อม มันก็จะมีการปรุงแต่งให้เกิดสิ่งต่างๆขึ้นมาได้โดยอัตโนมัติ (แต่ถ้าไม่มีเหตุหรือปัจจัยพร้อม ก็จะไม่มีการปรุงแต่งให้เกิดสิ่งใดขึ้นมาได้) คือเมื่อมี ดิน (ของแข็ง) น้ำ (ของเหลว) ไฟ (ความร้อน) ลม (อากาศ) ที่พอเหมาะพอดีพร้อม มันก็จะมีการปรุงแต่งให้เกิดวัตถุและสิ่งของต่างๆขึ้นมาในโลกได้

ไม่เพียงเท่านี้ สิ่งมหัศจรรย์ที่สุดก็คือ วัตถุพิเศษบางชนิด ยังสามารถที่จะปรุงแต่งให้เกิดสิ่งที่ไม่ใช่วัตถุ (นามธรรม) ขึ้นมาได้ อย่างเช่น ร่างกายของคน ที่มีระบบประสาท ๖ จุด (คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) ที่เมื่อได้กระทบกับสิ่งภายนอกที่คู่กัน (คือ รูป เสียง กลิ่น รส สิ่งกระทบกาย สิ่งกระทบใจ) ก็จะปรุงแต่งให้เกิด การรับรู้ (วิญญาณ) ขึ้นมาที่ระบบประสาทเหล่านั้นทันที คือ

เมื่อมีรูปมากระทบตา ก็จะเกิดการรับรู้รูปขึ้นมาที่ตาทันที

          เมื่อมีเสียงมากระทบหู ก็จะเกิดการรับรู้เสียงขึ้นมาที่หูทันที

          เมื่อมีกลิ่นมากระทบจมูก ก็จะเกิดการรับรู้กลิ่นขึ้นมาที่จมูกทันที

          เมื่อมีรสมากระทบลิ้น ก็จะเกิดการรับรู้รสขึ้นมาที่ลิ้นทันที

          เมื่อมีสิ่งกระทบกายมากระทบกาย ก็จะเกิดการรับรู้สิ่งกระทบกายขึ้นมาที่กายทันที

          เมื่อมีสิ่งกระทบใจมากระทบใจ ก็จะเกิดการรับรู้สิ่งกระทบใจขึ้นมาที่ใจทันที

เมื่อการรับรู้ใดเกิดขึ้นมาแล้ว ก็จะมีการจำสิ่งที่รับรู้นั้นได้ขึ้นมาด้วยทันที เพราะมีข้อมูลของสิ่งที่รับรู้นั้นเก็บไว้ที่สมอง

เมื่อมีการจำได้เมื่อใด ก็จะเกิดความรู้สึกต่อสิ่งที่รับรู้นั้นขึ้นมาด้วยทันที คือรู้สึกสุขบ้าง ทุกข์บ้าง ไม่ใช่ทั้งสุขและทุกข์บ้าง ไปตามข้อมูลที่สมองได้จำเอาไว้

          เมื่อเกิดความรู้สึกใดขึ้นมาแล้ว ก็จะเกิดการปรุงแต่งต่อไปว่าจะทำอย่างไรกับสิ่งที่รับรู้นั้นทันที คือเกิดความอยากได้สิ่งที่ให้ความสุข หรือเกิดตวามไม่อยากได้สิ่งที่ให้ความทุกข์ หรือเกิดความลังเลใจต่อสิ่งที่ให้ความไม่สุขไม่ทุกข์ รวมทั้งยังมีเกิดการคิดพิจารณาหรือคิดวิเคราะห์ไปต่างๆนาๆอีกด้วย  ซึ่งเมื่อใดที่อยากได้แล้วก็ได้ตามที่อยาก ก็จะเกิดความดีใจหรือพอใจ ถ้าเมื่อใดที่อยากได้แล้วไม่ได้ตามที่อยาก ก็จะเกิดความเสียใจหรือไม่พอใจ ที่เรียกว่าความทุกข์ขึ้นมาทันที แต่ถ้าเมื่อใดที่ไม่มีทั้งความอยากได้และไม่อยากได้รวมทั้งความลังเลใจ ก็จะไม่มีความทุกข์ (หรือที่สมมติเรียกว่า นิพพาน ที่หมายถึง ความสงบเย็น)

นี่คือสิ่งที่เราสมมติเรียกกันว่า จิต หรือ ใจ ที่หมายถึง สิ่งที่รู้สึกนึกคิดได้ โดยจิตหรือใจก็จะประกอบด้วย การรับรู้ การจำได้ ความรู้สึก และการปรุงแต่ง ซึ่งการที่จิตจะปรุงแต่งได้ ก็ต้องอาศัยการความรู้สึกเอามาปรุงแต่ง ส่วนความรู้สึกก็ต้องอาศัยการจำได้จึงจะเกิดความรู้สึกขึ้นมาได้ ส่วนการที่จิตจำได้ก็ต้องมีการรับรู้สิ่งต่างๆภายนอกก่อน แล้วจึงนำเอาสิ่งภายนอกที่ได้รับรู้นั้นมาเปรียบเทียบกับข้อมูลที่สมองได้บันทึกเอาไว้ จึงจะจำได้ ส่วนการที่จะเกิดการรับรู้สิ่งต่างๆภายนอกได้นั้น ก็ต้องอาศัยระบบประสาททั้ง ๖ ของร่างกายที่ยังทำงานอยู่ ซึ่งการที่ระบบประสาททั้ง ๖ จะยังทำงานได้ก็ต้องอาศัยร่างกายที่ยังเป็นๆอยู่หรือยังมีชีวิตอยู่ และการที่ร่างกายจะยังมีชีวิตอยู่ก็ต้องอาศัยอาหาร น้ำ ความร้อน และอากาศ ที่พอเหมาะพอดีมาร่วมกันปรุงแต่งให้เกิดขึ้น

แต่ทั้งร่างกายและจิตใจนี้ เมื่อธรรมชาติได้ปรุงแต่งให้เกิดขึ้นมาเป็นตัวตนแล้ว มันก็ไม่สามารถที่จะดำรงค์หรือคงอยู่ในสภาพเดิมได้ตลอดไป คือมันจะมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และไม่ช้าก็เร็ว ทั้งตัวตนของร่างกายและจิตใจ ก็ต้องแตก (ใช้กับร่างกาย) และดับ (ใช้กับจิตใจ)ไปในที่สุด (ที่เรียกว่าอนิจจัง) ดังนั้นทั้งร่างกายและจิตใจ จึงเรียกได้ว่าเป็น ตัวตนชั่วคราว หรือ ตัวตนมายา หรือ ตัวตนสมมติ (ที่เรียกว่า อนัตตา) เพราะมันไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง (อัตตา หมายถึง ตัวตนที่แท้จริง หรือ ตัวตนอมตะ) ชนิดที่จะดำรงค์อยู่ไปชั่วนิรันดรได้ อีกทั้งเมื่อขณะที่ยังไม่แตกดับ ตัวตนเหล่านี้ก็ยังต้องทนประคับประคองตัวตนชั่วคราวของมันเอาไว้ด้วยความยากลำบากอยู่ตลอดเวลาอีกด้วย (ที่เรียกว่า ทุกขัง)

สรุปได้ว่า นี่คือการเกิดขึ้นของขันธ์ ๕ หรือร่างกายกับจิตใจของมนุษย์ รวมทั้งระบบการทำงานของจิตใจ ตามความเป็นจริง ที่เราทุกคนสามารถสัมผัสหรือรู้แจ้งได้ด้วยจิตของเราเอง โดยไม่จำเป็นต้องใช้ความเชื่อจากตำราหรือจากใครๆ ซึ่งการพิจารณาขันธ์ ๕ ตามความเป็นจริงเช่นนี้เอง ที่พระพุทธเจ้าสอนให้เราหมั่นพิจารณา เพื่อที่จะได้เกิดความเข้าใจอย่างแจ้งชัดว่า "มันไม่ได้มีสิ่งที่เป็นตัวตนของเราจริงๆอยู่ในขันธ์ ๕ นี้เลย" ซึ่งความเข้าใจนี้ก็คือหัวใจของปัญญาที่นำมาใช้คู่กับสมาธิ โดยมีศีลเป็นพื้นฐาน ในการปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ของจิตใจในปัจจุบัน ตามหลักอริยสัจ ๔ ของพระพุทธเจ้า

เตชปัญโญ ภิกขุ

อาศรมพุทธบุตร เกาะสีชัง ชลบุรี

๓๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๗

ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก www.whatami.net

*********************