ภัยของมนุษย์

ภัย ก็คือ สิ่งทำลายทำให้เกิดความเสียหาย หรือสิ่งสร้างความทุกข์ความเดือดร้อน ซึ่งทุกสิ่งที่เกิดขึ้นมาล้วนมีภัยประจำตัวด้วยกันทั้งสิ้น คือทุกสิ่งที่เกิดขึ้นมาล้วนมีสิ่งที่จะมาทำลายให้เกิดความเปลี่ยนแปลงและแตกดับไปได้ทั้งสิ้น ในส่วนของวัตถุสิ่งของนั้นแม้จะมีภัยก็ไม่เป็นปัญหาสำหรับมัน เพราะมันไม่มีจิตใจจะมารับรู้ภัยที่เกิดขึ้นกับมัน อย่างเช่น รถยนต์จะพัง หรือบ้านจะพัง หรือก้อนหินสักก้อนจะถูกตีให้แตกมันก็ไม่จิตใจจะมารับรู้ถึงภัยของมัน แต่สำหรับสิ่งที่มีชีวิตนั้นภัยจะเป็นปัญหาอย่างยิ่ง เพราะสิ่งที่มีชีวิตย่อมที่จะมีจิตหรือใจมารับรู้ภัยที่เกิดขึ้นกับตัวเองได้

พืชจัดว่าเป็นสิ่งที่มีชีวิตพื้นฐานของโลกที่ทำให้สิ่งที่มีชีวิตอื่นๆเกิดขึ้นมาและตั้งอยู่ได้ ซึ่งภัยของพืชโดยสรุปก็คือขาดน้ำ ขาดปุ๋ย ขาดอากาศ ขาดแสงแดด หรือถูกสัตว์และมนุษย์ทำลาย เช่น เผา ตัด โค่น และนำมาเป็นอาหาร เป็นต้น แต่พืชไม่มีปากพูดหรือแสดงอาการว่าเดือดร้อนเป็นทุกข์ให้เห็น ดังนั้นมนุษย์จึงรู้สึกว่าพืชไม่เดือดร้อนเมื่อต้องถูกทำลายลงไปแม้โดยไม่จำเป็นก็ตาม ซึ่งเมื่อพืชที่มีพระคุณต่อมวลมนุษย์อันได้แก่ป่าไม้ถูกทำลายลงมากๆ สมดุลของโลกก็จะเสียไป เพราะพื้นฐานของชีวิตถูกทำลายไป แล้วภัยพิบัติของมนุษย์ก็จะเกิดขึ้นตามขึ้นมาอีกมากมายเป็นลูกโซ่ เช่น น้ำท่วม ฝนแล้ง อากาศเสีย โลกร้อนขึ้น เป็นต้น อันจะส่งผลให้เกิดความขาดแคลนอาหารและปัจจัยที่จำเป็นในการดำรงชีวิตตามมาอีก รวมทั้งยังจะส่งผลให้เกิดการแย่งชิงอาหารหรือปัจจัยในการดำรงชีวิตตามมาอีกในที่สุด

ส่วนสัตว์ทั้งหลายนั้นก็เป็นสิ่งที่มีชีวิตชั้นสูงขึ้นกว่าพืช คือมีความรู้สึกได้มาก และเคลื่อนไหวได้ ส่งเสียงร้องได้ ดังนั้นเมื่อมีภัยถึงตัวมันจึงสามารถที่จะแสดงอาการหวาดกลัวและหนีได้ มันก็จะส่งเสียงร้องแสดงถึงความหวาดกลัวและเจ็บปวดได้ เช่น ถูกสัตว์อื่นฆ่าหรือทำร้าย หรือถูกมนุษย์ทำร้ายหรือฆ่าเพื่อนำมาเป็นอาหาร เป็นต้น ซึ่งในแต่ละวันสัตว์ทั้งบนบกและในน้ำ และแม้แต่ที่บินอยู่ในอากาศ เช่น กุ้งหอย ปู ปลา เป็ด ไก่ สุกร แพะ แกะ วัว ควาย เป็นต้น จำนวนมากมายมหาศาลที่ต้องประสบกับภัยจากน้ำมือมนุษย์ คือถูกฆ่าเพื่อนำมาเป็นอาหาร แม้พวกมันจะรู้ตัวแต่ก็หนีไม่พ้น รวมทั้งไม่สามารถพูดบอกหรือไปร้องเรียนกับใครได้ ซึ่งมนุษย์ก็ไร้ซึ่งเมตตา ไม่สงสารชีวิตสัตว์ทั้งหลายเหล่านั้นเลย กลับเห็นเลือดเนื้อของพวกมันเป็นอาหารที่แสนโอชะ ซึ่งถ้ามองในแง่ศีลธรรมแล้ว มนุษย์กำลังสร้างบาปหรือทำสิ่งที่เลวร้ายให้แก่มนุษย์เอง อันจะส่งผลที่เลวร้ายกลับมาสู่มนุษย์เองในภายหลังโดยไม่รู้ตัว อย่างเช่น ทำให้เป็นคนใจร้าย เห็นแก่ตัว ไร้เมตตา และชอบเอารัดเอาเปรียบกันมากขึ้น ฟุ่มเฟือยมากขึ้น จนทำให้เกิดการเบียดเบียนกันขึ้นมาในรูปแบต่างๆ เช่น คดโกงในรูปแบบต่างๆ แย่งชิง จี้ ปล้น ฆ่า รวมทั้งสงคราม เป็นต้น หรือทำให้สภาพแวดล้อมเสียหายจนมนุษย์ต้องเดือดร้อน อย่างเช่นในปัจจุบัน

ในส่วนของคนที่ชอบเรียกตัวเองว่าเป็นมนุษย์ ที่แปลว่าสัตว์ประเสริฐนี้ ก็มีภัยมากมายรอบตัวไม่ต่างอะไรกับสัตว์ คือมีทั้งภัยจากภายในตัวเอง และภัยจากภายนอก โดยภัยจากภายในก็คือจากร่างกาย เช่น ความแปรปรวนของร่างกายที่ทำให้ร่างกายแก่เฒ่าลงทุกวินาที หรือความหิว ความกระหาย ความเจ็บป่วย เป็นต้น ซึ่งภัยเหล่านี้มันเป็นของธรรมดาที่ต้องเกิดแก่ร่างกายอยู่แล้ว แต่เราสามารถที่จะบรรเทามันให้ลดน้อยลงได้ถ้ารู้จักบริหารให้ถูกวิธี เช่น หิวก็หาอาหารมากิน กระหายก็หาน้ำมาดื่ม เจ็บป่วยก็หายามารักษา เป็นต้น ซึ่งใครๆก็รู้และบรรเทากันได้อยู่แล้ว

แต่ในส่วนของภัยจากภายนอกนั้นมีมากมายเหลือคณานับ ไม่ว่าจะจากสัตว์หรือคนด้วยกันเอง หรือจากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นโดยไม่คาดฝัน เช่นถูกทำร้าย หรือประสบกับอุบัติเหตุต่างๆไม่ว่าจะทางบกหรือทางน้ำ หรือแม้ในทางอากาศ หรือภัยจากความอดอยากขาดแคลน และจากโรคร้ายต่างๆจากคนและสัตว์ที่จะติดต่อมาถึงร่างกายได้ รวมทั้งภัยจากธรรมชาติที่อาจจะเกิดขึ้นเมื่อไรก็ได้โดยเราไม่อาจล่วงรู้ล่วงหน้าได้

พุทธศาสนาจะสอนไม่ให้เราประมาท เพราะมนุษย์นั้นมีภัยรอบด้าน แม้จะอยู่เฉยๆร่างกายก็กำลังก้าวไปสู่ความแก่และความตายอยู่ทุกขณะ ยิ่งถ้าเราเคลื่อนไหวมากและเร็ว ก็จะยิ่งต้องเสี่ยงกับภัยมากขึ้นเป็นเงาตามตัว เช่น ถ้าขับรถเร็วก็จะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย คือไม่มีใครรู้จริงว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคตเพราะเหตุและปัจจัยต่างๆมันมีมากมายที่จะผลักดันให้เกิดผลใดผลหนึ่งให้เกิดขึ้นมา อย่างเช่น อาจเกิดรถยนต์ชนกัน หรือพลิกคว่ำ หรือเกิดฟ้าผ่า ไฟไหม้ แผ่นดินไหว ลมพายุ คลื่นยักษ์ เป็นต้น ขึ้นมาเมื่อไรก็ได้โดยเราไม่คาดคิด

บางคนอาจจะคิดว่าจะมีบุคคลหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์มาช่วยให้พ้นจากความหายนะเหล่านี้ได้ ซึ่งนั่นจะยิ่งเป็นการเพิ่มความประมาทเข้าไปอีก เพราะเมื่อเอาเข้าจริงแล้วก็ไม่มีอะไรจะมาช่วยเหลือเราได้เลย มีแต่ตนเองเท่านั้นที่ต้องพึ่งตนเอง สิ่งของภายนอกที่ผู้อื่นช่วยเหลือนั้นเป็นเพียงสิ่งช่วยบรรเทาชั่วคราวบ้าง หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เราเชื่อถือก็เป็นเพียงสิ่งทำให้เราเกิดกำลังใจขึ้นมาเท่านั้น

อะไรคือความไม่ประมาท? เราอาจจะคิดว่าเรากำลังไม่ประมาทอยู่แล้ว เพราะเราทำอะไรๆถูกต้องดีพร้อมอยู่แล้ว แต่ความจริงแล้วการขาดสติและทำอะไรไปด้วยความขาดสตินั่นก็คือความประมาทสูงสุด อย่างเช่น การล่วงละเมิดชีวิตและทรัพย์สินของผู้อื่น รวมทั้งการกินการใช้อย่างฟุ่มเฟือยไม่ประหยัด และการเสพสิ่งเสพติด ลุ่มหลงสิ่งเริงรมย์ทั้งหลายด้วย ซึ่งคนที่ประมาทมักคิดว่า "ไม่เป็นไร" เพราะภัยยังไม่มาถึงตัวเอง แม้จะพบเห็นคนอื่นที่เขาพบกับภัยอยู่เต็มตาก็ตาม ซึ่งนี่คือความโง่เขลาของมนุษย์ที่แก้ได้ยาก

เมื่อเราประมาทแล้วทำอะไรที่ผิดหรือไม่ถูกต้องลงไปมากๆ เช่น เบียดเบียนชีวิตและทรัพย์สินของผู้อื่น ก็จะทำให้มีศัตรูมากและย่อมจะถูกเบียดเบียนกลับได้ในที่สุด หรือถ้าใช้จ่ายฟุ่มเฟือยไม่รู้จักเก็บหอมรอมริบ สักวันก็ย่อมที่จะเกิดความขาดแคลนขึ้นมาได้ หรือถ้าเราเสพสิ่งเสพติดก็จะทำให้สุขภาพเสียหาย หรือถ้าลุ่มหลงในเรื่องทางเพศมากก็อาจติดโรคเอดส์หรือโรคทางเพศสัมพันธ์อื่นๆได้โดยง่าย หรือถ้าเราขาดความสามัคคีกัน สังคมหรือประเทศชาติของเราก็อาจล่มสลายได้ หรือถ้าเราสนับสนุนให้มีการตัดไม้ทำลายป่าลงไปมากๆก็จะทำให้เกิดภัยธรรมชาติที่ร้ายแรงตามมา เป็นต้น

ดังนั้นเราจึงไม่ควรประมาท เพราะมนุษย์เรานั้นมีภัยอยู่รอบด้าน ภัยต่างๆจะมาถึงเราเมื่อไรก็ไม่อาจรู้ได้ ถ้าเราประมาทก็เหมือนกับว่าเรากำลังเดินไปสู่ความหายนะโดยไม่รู้ตัว เพราะในที่สุดไม่ช้าก็เร็วภัยก็ต้องเกิดขึ้นแก่ผู้ที่ประมาทอย่างแน่นอน ซึ่งก็ทำให้ผู้ที่ประสบภัยต้องพบกับความทุกข์ ความเดือดร้อนอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยง ซึ่งการป้องกันก็คือการมีสติระวังอย่าทำอะไรที่ผิดหรือชั่ว หรือแม้ไม่ดีทั้งหลาย เช่นละเมิดศีล ๕ ลุ่มหลงอบายมุข ติดสิ่งเสพติด กินและใช้อย่างฟุ่มเฟือย เป็นต้น แล้วหันมาทำแต่ความดี เช่น ทำหน้าที่ของเราให้ถูกต้องด้วยความขยันอดทน และประหยัดอดออม สามัคคี ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ช่วยเหลือสัตว์และรักษาป่าไม้ที่เป็นผู้มีพระคุณต่อมวลมนุษย์ เพียงเท่านี้เราก็สามารถจะพ้นจากภัยที่ป้องกันได้ เช่น ความยากจน ความขาดแคลน โรคร้ายต่างๆ เป็นต้น ส่วนภัยที่ไม่สามารถป้องกันได้เช่น อุบัติเหตุ แผ่นดินไหว น้ำท่วม ลมพายุ หรือคลื่นยักษ์ถล่มบ้านเรือน เป็นต้นนั้น เมื่อเราเตรียมพร้อมรับมันเอาไว้แล้ว มันก็จะไม่สร้างความเดือดร้อนให้มากมายนักได้ และที่สำคัญเรายังต้องหมั่นฝึกฝนอบรมจิตใจให้เกิดสมาธิและปัญญาเอาไว้ เพื่อเตรียมรับภัยที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ทั้งที่ต้องเกิดขึ้นแน่นอน (เช่น ความแก่ เจ็บ ตาย ความพลัดพราก เป็นต้น) และไม่แน่นอน (เช่น แผ่นดินไหว น้ำท่วม ลมพายุ คลื่นยักษ์ เป็นต้น) เอาไว้ เพื่อจะได้ไม่เศร้าโศกเสียใจมากจนเกินไปเมื่อภัยนั้นมาถึงเข้าจริงๆ

เตชปญฺโญ ภิกขุ. ๑ ม.ค. ๒๕๔๘
อาศรมพุทธบุตร เกาะสีชัง ชลบุรี
(ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก www.whatami.net)