ธรรมดาของโลก

คำว่า โลก หมายถึงทุกสิ่งที่เกิดมีอยู่บนโลก ไม่ว่าจะเป็นวัตถุสิ่งของ และสิ่งที่มีชีวิตทั้งหลาย ซึ่งรวมทั้งมนุษย์ทั้งหลายด้วย ซึ่งมนุษย์นั้นเป็นสิ่งมีชีวิตชั้นสูงที่มีความจำและความคิดที่ดีกว่าสัตว์ทุกชนิดบนพื้นโลก แต่มนุษย์ก็ยังตกอยู่ในภาวะของคู่ คือเมื่อมีสิ่งใดเกิดขึ้นมา มันจะต้องมีสิ่งที่ตรงข้ามกันกันเกิดอยู่ด้วยเสมอ เช่นเมื่อมีมืดก็ต้องมีสว่าง เมื่อมีหนุ่มสาวก็ต้องมีแก่เฒ่า เมื่อมีเกิดก็ต้องมีตาย เมื่อมีได้ก็ต้องมีเสีย เป็นต้น ซึ่งมันเป็นธรรมชาติที่จะต้องเกิดขึ้นเช่นนี้เสมอจนเรียกว่ามันเป็นของธรรมดาคู่โลก

สิ่งที่เป็นของธรรมดาคู่โลกที่เราควรรู้เพื่อที่จะได้ไม่ต้องเศร้าโศกเสียใจกับมันเมื่อมันเกิดสิ่งที่ไม่น่าพึงพอใจขึ้นมาก็คือ โลกธรรม ๘ หรือสิ่งธรรมดาของโลก ๘ อย่าง อันได้แก่ ได้ลาภ-เสื่อมลาภ ได้ยศ-เสื่อมยศ สรรเสริญ-นินทา สุข-ทุกข์ ซึ่งสิ่งทั้ง ๘ นี้มันเป็นเรื่องธรรมดาที่จะต้องเกิดขึ้นกับมนุษย์ที่ยังยึดติดอยู่ในโลก หรือยังพึงพอใจในโลก ไม่มีทางที่จะใครจะหลีกหนีไปได้

ได้ลาภก็หมายถึงการได้สิ่งที่น่าพึงพอใจมาอย่างง่ายๆโดยลงทุนน้อยหรือไม่ต้องลงทุนเลย อย่างเช่นการได้ทรัพย์ ได้อำนาจ ได้เพศตรงข้าม ได้วัตถุสิ่งของ เป็นต้น ซึ่งบางครั้งเราก็อาจได้สิ่งต่างๆนี้มาอย่างง่ายๆ ส่วนเสื่อมลาภก็หมายถึงการที่สิ่งที่เราได้มาง่ายๆนี้ก็จะต้องจากเราไป หรือสูญเสียไป จะด้วยเหตุอันใดก็แล้วแต่ อย่างเช่น ถูกแย่งชิง ถูกลักขโมย หรือถูกไฟไหม้ น้ำท่วม เป็นต้น ซึ่งลาภนั้นใครๆก็อยากได้ เมื่อเรามีก็ต้องมีคนอื่นอยากจะได้จากเราบ้าง จึงเป็นธรรมดาที่จะมีผู้คอยจะเอาลาภจากเราไป และก็ยากที่เราจะปกป้องรักษาลาภนี้เอาไว้ได้ตลอดไป หรือแม้จะไม่มีใครจะมาแย่งชิงเอาไปได้ แต่ไม่นานลาภนั้นก็จะหมดเองไปเพราะมันไม่มีอะไรที่เที่ยงแท้ถาวร

ได้ยศก็หมายถึงการได้รับการยกย่อง หรือมีเกียรติ หรือได้ตำแหน่งในหน้าที่การงานก็ตาม ซึ่งก็เป็นธรรมดาที่เมื่อเราทำสิ่งที่ดีงามก็อาจจะมีคนมายากย่องหรือให้ยศให้ตำแหน่ง และก็เป็นธรรมดาที่สักวันยศหรือตำแหน่งนั้นมันก็จะต้องเสื่อมหายไป ไม่ว่าจะถูกแย่งชิงหรือมีคนอื่นมียศ มีตำแหน่งสูงขึ้นไปกว่าเราเกิดขึ้นมา หรือเป็นเพราะหมดเวลาในการอยู่ในยศในตำแหน่งนั้นแล้วก็ได้

สรรเสริญก็คือการที่มีคนมาพูดยกย่องเรา เช่นว่าเราดี ว่าเราฉลาด ว่าเราเก่ง ว่าเรามีบุญวาสนา ว่าเราสวย เราหล่อ ว่าเราน่ารัก เป็นต้น ซึ่งก็เป็นธรรมดาที่เมื่อเราทำให้ใครพอใจเขาก็มักจะสรรเสริญเยินยอเรา แต่ก็เป็นธรรมดาที่เราไม่อาจทำให้ทุกคนพอใจเราได้ บางทีเราก็อาจทำให้บางคนไม่พอใจเราได้ และเมื่อเขาไม่พอใจเราเขาก็ย่อมที่จะพูดว่าเราหรือนินทาเราได้ เช่นว่าเราเลว ว่าเราโง่ ว่าเราต่ำช้า ว่าเราขี้เหร่ ว่าเราน่าเกลียด เป็นต้น หรือแม้จะไม่มีใครมานินทาว่าเราก็ตาม แต่เมื่อนานวันเข้าคำสรรเสริญนั้นมันก็จะเลือนหายไปได้เองอยู่แล้ว มันไม่สามารถจะยั่งยืนอยู่ได้ตลอดไป

สุขก็คือความรู้สึกที่น่าพึงพอใจทั้งหลายซึ่งเกิดมาจากการที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย และ ใจของเราได้สัมผัสกับสิ่งที่ให้ความสุข ซึ่งก็เป็นธรรมดาที่เมื่อจิตได้สัมผัสกับสิ่งที่น่าพอใจมันก็เกิดเป็นความสุขขึ้นมา และก็เป็นธรรมดาเหมือนกันที่เราไม่สามารถจะเลือกให้ตา หู จมูก ลิ้น กายและใจของเราให้ไปสัมผัสอยู่แต่เฉพาะกับสิ่งที่จะให้ความสุขได้ตลอดไป ซึ่งมันก็ต้องไปสัมผัสเข้ากับสิ่งที่ไม่น่าพึงพอใจเข้าด้วยเสมอ แล้วมันก็ต้องมีความรู้สึกที่ตรงข้ามคือความทุกข์เกิดขึ้นมาด้วยเสมอเหมือนกัน คือเรียกว่าเมื่อมีสุข มันก็ต้องมีทุกข์เป็นของคู่กัน ไม่มีใครที่จะมีแต่เพียงสุขเพียงอย่างเดียวได้ และก็ไม่มีใครที่จะมีแต่เพียงทุกข์เพียงอย่างเดียวได้เหมือนกัน หรือแม้ว่าเราจะยังไม่มีความทุกข์เกิดขึ้น แต่ความสุขที่มีอยู่ก็จะค่อยๆจืดจางหายไปอยู่ทุกขณะอยู่แล้ว ซึ่งก็ทำให้เราต้องลำบากในการที่จะแสวงหาความสุขใหม่ๆให้เกิดขึ้นมาอยู่เสมอๆ เหมือนน้ำแข็งที่เอาออกมาอยู่นอกห้องเย็นมันก็จะค่อยๆละลายไปอยู่ทุกขณะอยู่แล้ว

โลกธรรม ๘ นี้สรุปได้เป็น ๒ ส่วนคือ “ได้”กับ “เสีย” ซึ่งเป็นสิ่งที่เราทุกคนควรรู้และเข้าใจว่ามันเป็นสิ่งคู่กัน หรือเป็นของธรรมดาของโลก ที่เมื่อมีได้มันก็ต้องมีเสียอยู่ด้วยเสมอไม่ช้าก็เร็ว ไม่มีใครจะเลือกเอาแต่เฉพาะส่วนได้”หรือเฉพาะส่วนเสียเพียงอย่างเดียวได้ เพื่อที่เราจะได้ไม่ลุ่มหลงพอใจหรือติดใจยินดีในส่วนที่ได้จนเกินไป เพราะถ้าเราโง่ไปลุ่มหลงติดใจมากเกินไป เมื่อเวลาที่ส่วน เสียเกิดขึ้นมาบ้างเราก็จะรับไม่ได้ หรือเกิดความเศร้าโศกเสียใจอย่างรุนแรงขึ้นมาได้ แต่ถ้าเราจะฉลาดรู้เท่าทันธรรมชาติว่าเมื่อมี ได้มันก็ต้องมี เสียตามมาด้วยเสมอไม่ช้าก็เร็ว แล้วเราก็จะไม่ลุ่มหลงติดใจในส่วนที่ได้จนเกินไป และเมื่อเวลาส่วนที่ เสียเกิดขึ้นมาบ้างเราก็ได้ไม่ไปเศร้าโศกเสียใจกับมันจนเกินไป

สรุปได้ว่าเมื่อเรายิ่งโง่พอใจในส่วนได้มากเท่าใด เราก็ต้องเกิดความไม่พอใจในส่วนเสียมากเท่านั้น ถ้าเราพอใจในส่วนได้น้อย เราก็จะไม่พอใจในส่วนเสียน้อยตามไปด้วยเหมือนกัน และถ้าเราจะสามารถฝึกฝนจิตให้มีสมาธิและปัญญาจนอยู่เหลือโลกได้ เราก็จะมีจิตที่อยู่เหนือโลกธรรม ๘ นี้ได้ คือไม่มีทั้งความพอใจและไม่พอใจในสิ่งใดๆหรือทั้งในส่วนได้และส่วนเสียของโลกเลยแม้แต่น้อย ซึ่งจิตที่เหนือโลกนี้จะเป็นจิตที่สงบเย็นหรือที่เรียกว่านิพพานนั่นเอง.

เตชปญฺโญ ภิกขุ
อาศรมพุทธบุตร เกาะสีชัง ชลบุรี
(ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก www.whatami.net)
*********************