(อิสระจากความเชื่อสู่ชีวิตใหม่)
คำนำ ศาสนาเคยเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจมนุษย์ให้มีความอุ่นใจ เบาใจ สบายใจและหายจากความหวาดกลัวจากภัยต่างๆ ที่มนุษย์ไม่สามารถแก้ไขหรือป้องกันได้มาช้านานแล้ว แต่ในยุคปัจจุบันที่ความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ กำลังเจริญรุ่งเรืองอย่างยิ่งอยู่นี้ ได้มีบางคนมองว่าศาสนาไม่มีความจำเป็นสำหรับชีวิต คือบุคคลเหล่านี้มองว่าศาสนามีแต่เรื่องงมงายไร้สาระ, ศาสนาเป็นสิ่งครอบงำชีวิตไม่ให้มีอิสรภาพ, ศาสนาไม่ได้ช่วยให้มีความเข้าใจและเห็นแจ้งในชีวิต, และศาสนาไม่ได้ช่วยให้ความทุกข์ของชีวิตลดน้อยลง หรือหมดสิ้นไปได้อย่างแท้จริงเลย ดังนั้นบุคคลเหล่านี้จึงได้ละทิ้งศาสนา ที่ตนเองเคยนับถือมาก่อน แล้วมาปฏิญาณตนว่าเขา ไม่มีศาสนา ไปในที่สุด หนังสือ ไม่มีศาสนา เล่มนี้ เรียบเรียงขึ้นสำหรับคนที่ ไม่มีศาสนา โดยเฉพาะ โดยหนังสือเล่มนี้จะช่วยชี้แนะวิธีการศึกษาชีวิตตามหลักวิทยาศาสตร์ จนทำให้ผู้ศึกษาเกิดความเห็นแจ้งในชีวิต และโลกได้อย่างถูกต้องด้วยตนเอง โดยไม่จำเป็นต้องเชื่อจากใครๆ รวมทั้งหนังสือนี้ยังแนะนำวิธีการปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ของชีวิต โดยใช้หลักวิทยาศาสตร์ โดยไม่ยึดติดกับคำสอนของศาสนาใดๆ หรืออาศัยความเชื่อจากใครๆทั้งสิ้น เรียกว่าเป็นการศึกษาเพื่ออิสรภาพของปัญญาอย่างแท้จริง และเมื่อผู้ไม่มีศาสนา มีความเห็นแจ้งในชีวิต ในโลก รวมทั้งดับทุกข์ของชีวิตได้แล้ว ชีวิตก็ย่อมที่จะได้พบกับประโยชน์ หรือสิ่งที่มีคุณค่าที่สุดสำหรับชีวิต ที่แม้คนมีศาสนาก็ยังยากที่จะได้พบ อันจะทำให้มีความกล้าหาญที่จะประกาศตนว่าเป็นผู้ที่ ไม่มีศาสนา ได้อย่างภาคภูมิใจอีกด้วย เตชปญฺโญ ภิกขุ อาศรมพุทธบุตร เกาะสีชัง ชลบุรี ประเทศไทย ๒๑ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๕๐
*******************************************
ศาสนาคืออะไร? คำว่า ศาสนา ภาษาอังกฤษจะหมายถึง ความสัมพันธ์ในทางจิตวิญญาณระหว่างมนุษย์กับพระเจ้า โดยมีผลเป็นความรอดหรือไม่มีทุกข์ คือเมื่อมนุษย์มีศรัทธาหรือความเชื่อมั่นในพระเจ้าแล้วก็จะทำให้มนุษย์รอดพ้นจากความทุกข์ได้ ส่วนภาษาบาลีจะหมายถึง คำสอน ซึ่งคำสอนนี้ก็หมายถึงคำสอนให้ปฏิบัติตาม โดยมีผลเป็นความไม่มีทุกข์ หรือมีทุกข์ลดน้อยลง ศาสนาของโลกก็มีอยู่ ๒ ประเภท คือ ๑. ศาสนาประเภทที่ยอมรับนับถือ พระเจ้า (หรือเทพเจ้า) เป็นสิ่งสูงสุด ๒. ศาสนาประเภทที่ยอมรับนับถือ ธรรมชาติ เป็นสิ่งสูงสุด ศาสนาประเภทที่ยอมรับนับถือพระเจ้าเป็นสิ่งสูงสุดนั้น จะมีความเชื่อว่ามีบุคคลตัวตนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกและในจักรวาล (หรือในเอกภพ) และมีอำนาจเหนือสิ่งใดๆ หรือเหนือธรรมชาติ ที่คอยดลบันดาลให้ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไป คือสร้างทุกสิ่งทุกอย่างขึ้นมา รักษาสิ่งต่างๆเอาไว้ และทำลายสิ่งต่างๆไปเมื่อถึงเวลา ถ้าใครเชื่อมั่นในพระเจ้า และปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระเจ้าอย่างเคร่งครัด ผู้นั้นก็จะรอดพ้นจากความทุกข์ได้ ส่วนศาสนาประเภทที่ยอมรับนับถือธรรมชาติว่าเป็นสิ่งสูงสุดนั้น จะมีความเชื่อว่าอำนาจสูงสุดที่ควบคุมทุกสิ่งทุกอย่างอยู่นี้ก็คือ ธรรมชาติ หรือ กฎธรรมชาติ ที่เป็นของธรรมดาๆที่เราทุกคนก็สามารถสัมผัสได้นี่เอง ซึ่งผู้ที่นับถือศาสนาประเภทนี้ก็เชื่อว่า ธรรมชาตินี่เองที่คอยดลบันดาลให้ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไป คือสร้างทุกสิ่งทุกอย่างขึ้นมา รักษาสิ่งต่างๆเอาไว้ และทำลายสิ่งต่างๆไปเมื่อถึงเวลา ถ้าใครรู้จักหรือเข้าใจธรรมชาติทั้งหลายโดยเฉพาะธรรมชาติของจิตใจตัวเองได้อย่างถูกต้อง ก็จะสามารถดำเนินชีวิตให้ถูกต้องตามที่ธรรมชาติกำหนดมาได้ และมีผลเป็นความไม่มีทุกข์เลย หรือมีทุกข์น้อยที่สุดได้ จากหลักการของศาสนาทั้งสองประเภทนี้ก็ทำให้สรุปได้ว่า ศาสนาก็คือหลักการปฏิบัติเพื่อให้บังเกิดผลเป็น ความไม่มีทุกข์ หรือ มีทุกข์น้อยที่สุด โดยศาสนาจะมีความเชื่อเป็นหลักสำคัญ ถ้าใครเชื่อในคำสอนของศาสนาใด ก็เรียกว่าเขานับถือศาสนานั้น และเมื่อมีความเชื่อในศาสนาใด ก็ต้องมีการปฏิบัติตามคำสอนของศาสนานั้น ซึ่งหลักการปฏิบัติของแต่ละศาสนาก็อาจจะแตกต่างกันไป ตามบทบัญญัติที่มีอยู่ในแต่ละศาสนา แต่ผลคือความไม่มีทุกข์จะเหมือนกัน แต่ยังมีบางคนที่ปฏิญาณตนว่า ไม่มีศาสนา เพราะเขาไม่เชื่อถือและไม่ปฏิบัติตามคำสอนของศาสนาใดๆเลยในโลก ซึ่งเราจะมาศึกษากันดูว่า การดำเนินชีวิตโดยไม่เชื่อถือในคำสอนของศาสนาใดๆเลยนั้นจะมีผลอย่างไรต่อชีวิต และผู้ที่ไม่มีศาสนานี้จะสามารถมีชีวิตอยู่โดยไม่มีความทุกข์เลยหรือมีน้อยที่สุด เหมือนกับคนที่ปฏิบัติตามคำสอนของศาสนาอย่างเคร่งครัดได้หรือไม่? ศาสนาเกิดขึ้นได้อย่างไร? ในยุคเริ่มต้นนั้นมนุษย์จะยังไม่มีศาสนา แต่เพราะมนุษย์ถูกภัยต่างๆจากธรรมชาติคุกคาม เช่น ฟ้าร้อง, ฟ้าผ่า, น้ำท่วม, ฝนแล้ง, ลมพายุ, แผ่นดินไหว เป็นต้น ด้วยความที่มนุษย์ยุคนั้น ยังไม่มีความรู้ว่าสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้เกิดภัยต่างๆนั้นคืออะไร จึงทำให้มนุษย์ในยุคนั้นคิดเอาตามสามัญสำนึกของตัวเองว่า จะต้องมีบุคคลหรือสิ่งอะไรที่มีอำนาจมาก ที่สามารถดลบันดาลให้เกิดภัยต่างๆนั้นขึ้นมา ด้วยความกลัวต่อภัยธรรมชาติเหล่านั้น ดังนั้นมนุษย์ในยุคนั้นจึงได้คิดวิธีการที่จะอ้อนวอนสิ่งที่คิดว่า มีอำนาจ นั้นให้หยุดการดลบันดาลภัยนั้นเสียด้วยการยอมสิโรราบ หรืออ้อนวอน หรือเคารพบูชาด้วยวิธีการต่างๆที่คิดขึ้นต่อสิ่งที่คิดว่ามีอำนาจนั้น เพื่อให้สิ่งที่คิดว่ามีอำนาจนั้นพอใจและไม่ดลบันดาลภัยต่างๆนั้นมาให้ ซึ่งเมื่อได้กระทำการบูชาอ้อนวอนแล้ว มนุษย์ก็หายกลัวภัยต่างๆเหล่านั้น แล้วก็มีความอุ่นใจ เบาใจ และสุขใจขึ้นมา ทั้งๆที่ภัยเหล่านั้นก็ยังคงมีอยู่เหมือนเดิม ซึ่งนี่คือจุดเริ่มต้นของการมีศาสนาขึ้นมาในโลก และมีการพัฒนามาเรื่อยๆจนถึงขั้นศาสนาช่วยให้มนุษย์หลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวงได้ ศาสนามีประโยชน์อย่างไร? เมื่อมนุษย์มีความรู้ความเข้าใจในธรรมชาติมากขึ้น ศาสนาก็เปลี่ยนจากความกลัวภัยธรรมชาติมาเป็นความกลัวภัยจากชีวิต โดยเฉพาะภัยจากความทุกข์ของชีวิต อย่างเช่น ความทุกข์จากความแก่, ความเจ็บ, ความตาย, และความพลัดพราก เป็นต้น มนุษย์เป็นสิ่งที่มีชีวิต แต่เมื่อทุกชีวิตต้องตาย และคนที่ตายก็ไม่เคยมีใครกลับมาบอกเลยว่าชีวิตเบื้องหลังความตายนั้นเป็นอย่างไร มนุษย์จึงกลัวภัยจากความตายนี้กันมาก เพราะไม่รู้ว่าเมื่อตายไปแล้วจะเป็นเช่นไร ซึ่งจุดนี้เองที่ศาสนามีบทบาทมาช่วยให้มนุษย์ คลายความกลัวภัยจากความตายนี้ลงได้มาก ศาสนาจึงเท่ากับเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของผู้นับถือ ให้บรรเทาความทุกข์ใจลงได้เป็นอย่างดี แม้ว่ามนุษย์จะยังคงไม่พ้นจากความตายก็ตาม ทุกศาสนาจะสอนให้เชื่อมั่นว่า ถ้าทำแต่ความดี เมื่อตายไปแล้วก็ย่อมที่จะได้รับแต่ผลที่ดี (เช่น ได้ขึ้นสวรรค์ หรือเกิดมาร่ำรวยมีเกียรติ เป็นต้น) แต่ถ้าทำความชั่ว เมื่อตายไปแล้วก็จะได้รับแต่ผลที่เลวร้ายหรือไม่ดี (เช่น ตกนรก หรือเกิดมาต่ำต้อยยากจน เป็นต้น) หรือถ้าปฏิบัติตามหลักศาสนาขั้นสูงอย่างเคร่งครัดได้ถึงที่สุด ก็จะเข้าถึงสภาวะที่มีแต่ความสุขอยู่ชั่วนิรันดรได้ หรือพ้นทุกข์อย่างถาวรได้ โดยพื้นฐานแล้วเมื่อมนุษย์มีความเชื่อมั่นในศาสนาที่ตนเองนับถือ มนุษย์ก็จะไม่ทำความชั่วแต่จะทำแต่ความดี ซึ่งมันก็ย่อมที่จะมีผลดีทั้งแก่จิตใจของตัวเอง ทั้งแก่ชีวิตของตัวเองและแก่สังคม คือส่วนตัวก็มีความปกติสุข และส่วนรวมก็มีความสงบสุข รวมทั้งโลกก็มีสันติภาพ ซึ่งนี่คือผลดีจากการมีศาสนา ศาสนามีข้อเสียอย่างไรบ้าง? คำสอนดั้งเดิมหรือแก่นแท้หรือหัวใจของทุกศาสนานั้นจะ สอนให้ทุกคนเป็นคนดี รักผู้อื่น ช่วยเหลือผู้อื่น ไม่เบียดเบียนใครๆ และสอนให้ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย ประหยัด งดเว้นสิ่งที่ไม่ดี เช่น สิ่งเสพติด สิ่งฟุ่มเฟือย การพนัน การดื่มสุรา เป็นต้น รวมทั้งสอนให้ขยัน อดทน เสียสละ เป็นต้น ซึ่งคำสอนเหล่านี้นับว่ามีประโยชน์อย่างยิ่งต่อผู้ที่ปฏิบัติได้และต่อสังคมโดยรวม ถ้าทุกคนหรือ ส่วนใหญ่ปฏิบัติได้เช่นนี้ โลกก็จะมีสันติภาพได้ ความจริงแล้วหลักคำสอนดั้งเดิมของทุกศาสนาจะมีไม่มาก แต่ภายหลังได้มีการแต่งเติมคำสอนออกไปมากมาย ซึ่งก็มีทั้งที่ตรงกับหลักคำสอนดั้งเดิม และผิดเพี้ยนจากหลักคำสอนดั้งเดิมออกไปจนกลายเป็นเรื่องราวและการปฏิบัติที่งมงายไร้เหตุผล ที่ไม่ได้ช่วยให้ผู้นับถือหรือผู้มาศึกษาเกิดความเข้าใจและเห็นแจ้งในชีวิตขึ้นมาได้ รวมทั้งไม่ได้ช่วยทำให้ความทุกข์ของผู้ที่นับถือ ลดน้อยลงหรือหมดสิ้นไปได้อย่างแท้จริงเลย ซ้ำร้ายยังจะทำให้ชีวิตมีความทุกข์เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย ในปัจจุบันสิ่งหนึ่งที่เพิ่มเติมเข้ามาในศาสนาก็คือ พิธีกรรม ซึ่งจัดว่าเป็นส่วนเกินของศาสนาที่คนรุ่นหลังๆแต่งเติมขึ้นมาให้ผู้นับถือปฏิบัติ เพื่อให้มีระเบียบแบบแผน และสร้างความน่าเชื่อถือมากขึ้น แต่กลับเป็นว่าผู้คนที่นับถือกลับมายึดถือพิธีกรรมว่าเป็นเรื่องศักดิ์สิทธิ์ และเห็นว่าพิธีกรรมสำคัญมากกว่าหลักคำสอนเสียอีก จนทำให้ผู้นับถือเกิดความเห็นผิดว่า พิธีกรรมเป็นหัวใจของศาสนา มากกว่าหลักคำสอนที่เป็นหัวใจ อีกสิ่งหนึ่งก็คือ เรื่องการอาศัยศาสนาเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ โดยนักสอนศาสนา (หรือนักบวชของศาสนา) บางคนที่หวังผลประโยชน์ทางวัตถุ ก็อาศัยศาสนาเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ โดยอาศัยศาสนาบังหน้าเพื่อให้ผู้ที่เชื่อถือนำทรัพย์หรือสิ่งของหรือเกียรติยศชื่อเสียงมาให้ ถ้าใครจะหันหน้าเข้าหาศาสนาก็จะต้องบริจาคทรัพย์จึงจะได้รับความสนใจ แต่ถ้าใครไม่มีทรัพย์ก็จะไม่ได้รับความสนใจ คือแทนที่ศาสนาจะเป็นฝ่ายให้แต่กลับจะเป็นฝ่ายเอาเพียงอย่างเดียว ซึ่งส่วนมากแล้วนักสอนศาสนาเช่นนี้จะร่ำรวย แต่ว่าผู้นับถือกลับยากจน จึงทำให้ศาสนาถูกมองว่าเป็นธุรกิจแสวงหาผลประโยชน์จากผู้นับถือไปในที่สุด อีกเรื่องหนึ่งคือ ปัจจุบันศาสนามักสอนให้คนเห็นแก่ตัว คือศาสนาส่วนใหญ่จะมีคำสอนเรื่องการบริจาคทรัพย์ให้แก่ทางศาสนา แล้วบอกคล้ายกับว่านี่เป็นการสั่งสมหรือฝากทรัพย์เอาไว้ เพื่อไปรับเอาในโลกหน้า ภายหลังที่ตายจากโลกนี้ไปแล้วตามความเชื่อของศาสนา อีกทั้งยังสอนว่าถ้าบริจาคเพียงเล็กน้อย ก็จะได้รับผลมากมายในโลกหน้า ยิ่งถ้าบริจาคมาก ก็จะยิ่งได้รับผลทวีคูณหลายร้อยหลายพันเท่าเลยทีเดียว นี่เองที่ทำให้คนที่นับถือเกิดความเห็นแก่ตัว คือคนมีทรัพย์มากก็คิดว่า ในโลกนี้ตนเองก็มีทรัพย์ใช้สอยอย่างสุขสบายอยู่แล้ว แต่เมื่อตายไปทรัพย์ที่เหลือก็จะไม่สามารถเอาติดตัวไปด้วยได้ จึงได้เสียดายทรัพย์เหล่านั้น และอยากที่จะเก็บทรัพย์เหล่านั้นเอาไปไว้ใช้สอยในโลกหน้า ที่เชื่อว่าจะมีอีกตามความเชื่อของศาสนา เขาจึงได้เอาทรัพย์จำนวนมากไปบริจาคกับทางศาสนา เพื่อหวังจะไปรับเอาในโลกหน้า แทนที่จะบริจาคเพื่อช่วยเหลือสังคมด้วยใจบริสุทธิ์ นี่เองที่ทำให้ศาสนาถูกมองว่า สอนให้คนเห็นแก่ตัว คือทำอะไรๆเพื่อตัวเอง ไม่ได้เสียสละเพื่อสังคมด้วยใจบริสุทธิ์โดยไม่หวังผลตอบแทนใดๆอย่างแท้จริง แม้ผู้คนส่วนใหญ่จะมองว่าผู้บริจาคนั้นเป็นคนมีจิตใจงดงามและเสียสละก็ตาม ซึ่งแม้คนที่มีทรัพย์น้อยก็ยังเห็นแก่ตัว ด้วยการเจียดทรัพย์ที่มีน้อยของตนไปบริจาคแข่งขันกัน เพื่อหวังไปรับเอาในโลกหน้าด้วยเช่นกัน ซึ่งลักษณะเช่นนี้เรียกว่า บ้าบริจาค เพราะอยากกักตุนเอาไว้เพื่อตัวเองในโลกหน้า ที่แม้จะยังไม่มีใครสามารถพิสูจน์ให้เห็นจริงได้ก็ตาม อีกเรื่องหนึ่งก็คือ การนำเอาสิ่งที่ไม่ใช่หลักของศาสนามาสั่งสอนหรือปฏิบัติ ซึ่งอาจเป็นเพราะว่ามีคนนิยมและได้ผลประโยชน์มาก แต่ว่าเป็นเรื่องนอกศาสนาบ้าง งมงายบ้าง ไร้สาระบ้าง ไร้เหตุผลบ้าง หรือทำลายหลักคำสอนดั้งเดิมของศาสนาบ้าง แล้วก็สนใจนำมาศึกษาและปฏิบัติกันอย่างจริงจัง จนลืมหลักคำสอนดั้งเดิมของศาสนาไปในที่สุด อีกเรื่องหนึ่งก็คือเรื่อง การปฏิบัติที่เสื่อมเสียของนักสอนศาสนาหรือนักบวชของศาสนา คือก็อาจมีนักสอนศาสนาหรือนักบวชในศาสนาบางคนที่ปฏิบัติตัวเสื่อมเสีย แต่เป็นที่สนใจของสังคม ก็ทำให้ผู้คนมองไปว่า คำสอนของศาสนานั้นไม่ดีจริง เพราะแม้ผู้สอนศาสนาเองก็ยังปฏิบัติตรงข้ามกับที่ตนเองสอน อีกเรื่องหนึ่งคือ พฤติกรรมของผู้นับถือศาสนา คือคำสอนของศาสนานั้นถึงแม้จะดีงาม แต่ก็ใช่ว่าผู้นับถือทุกคนจะปฏิบัติตามได้อย่างเคร่งครัด เมื่อมีผู้นับถือศาสนาบางคนที่ประพฤติเสื่อมเสีย หรือยิ่งถ้ามีคนประพฤติเสื่อมเสียมากๆ คนที่นับถือศาสนาอื่นหรือคนไม่มีศาสนาก็จะมองศาสนานั้น ว่ามีคำสอนที่ไม่สามารถช่วยให้ผู้นับถือเกิดมีความประพฤติที่ดีงามขึ้นมาได้ อีกเรื่องหนึ่งก็คือ ข้อบังคับของศาสนา ซึ่งแทบทุกศาสนามักจะมีกฎเกณฑ์บังคับเอาไว้ให้ผู้ที่นับถือต้องปฏิบัติตามทั้งสิ้น ไม่โดยตรงก็โดยอ้อม คือเท่ากับว่าแทนที่ศาสนาจะช่วยให้มีอิสรภาพ แต่กลับเป็นว่าศาสนากลายเป็นสิ่งครอบงำหรือผูกมัดให้ผู้นับถือสูญเสียอิสรภาพในการคิด การพูด และการกระทำที่แม้ว่าจะถูกต้องดีงามในระดับสากลก็ตาม อีกเรื่องคือ ความใจแคบของศาสนา คือศาสนาส่วนใหญ่มักจะสอนทำนองว่า ถ้าใครไม่มานับถือศาสนานี้ แล้วไปนับถือศาสนาอื่น เมื่อตายไปก็จะต้องได้รับโทษอย่างแสนสาหัสตราบนานเท่านาน แต่ถ้าใครมานับถือและปฏิบัติตามคำสอนของศาสนานี้อย่างเคร่งครัด เมื่อตายไปก็จะได้รับรางวัลอย่างล้นเหลือตราบนานเท่านานเลยทีเดียว จากสิ่งที่ไม่ดีทั้งหลายที่เกิดขึ้นในภายหลังของศาสนาทั้งหลายนี่เอง ที่ทำให้คนที่มีปัญญาบางคนเบื่อหน่ายศาสนาที่เขานับถืออยู่ เพราะเขามองเห็นทั้งความงมงายไร้สาระ มองเห็นความเสื่อมเสีย มองเห็นการครอบงำ มองเห็นการแสวงหาผลประโยชน์ มองเห็นความเห็นแก่ตัว และมองไม่เห็นว่าศาสนาจะช่วยให้เขามีความเข้าใจและเห็นแจ้งในชีวิตได้อย่างไร? รวมมองไม่เห็นว่าศาสนาจะช่วยให้เขาหลุดพ้นจากความทุกข์ของชีวิตที่กำลังประสบอยู่นี้ได้อย่างไร? ดังนั้นผู้ที่มีปัญญาเหล่านี้จึงพยายามแสวงหาศาสนาที่บริสุทธิ์ ที่ดีงาม, มีประโยชน์, ไม่มีโทษ, ไม่แสวงหาผลประโยชน์, ไม่งมงายไร้เหตุผล, ให้อิสระ, เป็นสากล, และช่วยให้มีความเข้าใจและเห็นแจ้งในชีวิต, รวมทั้งช่วยให้หลุดพ้นจากความทุกข์ หรือมีความทุกข์ลดน้อยลงได้ ซึ่งก็ยากที่จะได้พบศาสนาเช่นนี้ในปัจจุบัน ดังนั้นบางคนจึงละทิ้งศาสนาของตนแล้วกลายมาเป็นคน ไม่มีศาสนา ไปในที่สุด ซึ่งนับวันคนไม่มีศาสนาเช่นนี้ จะมีมากขึ้นในโลกยุคปัจจุบัน ถ้ามนุษย์ไม่มีศาสนาจะเป็นอย่างไร? ศาสนาย่อมคู่กับความเชื่อเสมอ ศาสนาคือคำสอนให้ปฏิบัติตาม ซึ่งก็ต้องอาศัยความเชื่อมั่นในคำสอนจึงจะปฏิบัติตามได้ ซึ่งความเชื่อมั่นนี้สามารถเกิดขึ้นได้จากการปลูกฝังมาตั้งแต่ยังเล็ก คือจากจิตที่ยังว่างแล้วปลูกฝังให้เกิดมีความเชื่อขึ้นมา และเมื่อหมั่นตอกย้ำความเชื่อนั้นบ่อยๆ ความเชื่อในศาสนาก็จะมั่นคงมากขึ้น และถ้าใครได้รับคำสอนที่ดีจากศาสนา เขาก็ย่อมที่จะได้รับแต่ความสุขสงบ แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าใครได้รับแต่การปลูกฝังให้มีแต่ความเชื่อเพียงอย่างเดียว โดยไม่มีคำสอนที่ดีอยู่ด้วย ก็จะทำให้เขากลายเป็นคนคลั่งศาสนา ที่ผู้สอนศาสนาสามารถชี้นำให้เขาทำอะไรก็ได้ ที่แม้จะตรงข้ามกับหลักคำสอนของศาสนา โดยการอ้างว่านี่เป็นคำสอนของศาสนา ซึ่งนี่คือผลเสียจากการนับถือศาสนาโดยขาดปัญญา ส่วนบางคนที่นับถือศาสนาแต่ไม่ได้รับการปลูกฝัง ให้มีความเชื่ออย่างเหนียวแน่นในศาสนามาตั้งแต่ยังเล็ก เมื่อโตขึ้นและได้พบสิ่งที่ไม่ดีของศาสนาที่ตนนับถือบ่อยๆ เขาก็อาจจะขาดความเชื่อมั่นในศาสนาที่เขานับถืออยู่ได้ หรือบุคคลที่แม้ได้รับการปลูกฝังให้มีความเชื่อมั่นในศาสนามาก่อนแล้วก็ตาม แต่เมื่อโตขึ้นและได้เรียนรู้โลกมากขึ้น และได้พบสิ่งที่ไม่ดีของศาสนาที่เขานับถือบ่อยๆ ก็อาจจะทำให้เขาขาดความเชื่อมั่นในศาสนาที่เขานับถืออยู่ได้ บุคคลที่ขาดความเชื่อมั่นในศาสนานี้ก็แยกได้เป็นสองจำพวกคือ พวกที่มีปัญญาน้อย กับพวกที่มีปัญญามาก ซึ่งคนที่มีปัญญาน้อยนี้ค่อนข้างเสี่ยงที่จะทำความชั่วได้ง่าย เพราะขาดสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจหรือขาดภูมิคุ้มกันความชั่ว คือเมื่อเขาไม่เชื่อว่าถ้าทำชั่วแล้วจะต้องได้รับผลอันเลวร้ายหรือไม่ดี ภายหลังเมื่อตายไปแล้ว เขาก็ย่อมที่จะไม่เกรงกลัวการทำความชั่ว จึงมีโอกาสที่บุคคลประเภทนี้จะทำความชั่วได้ง่าย และผลเสียก็จะเกิดแก่ทั้งคนที่ทำความชั่วเอง และแก่สังคมไปด้วยเสมอ อย่างเช่นที่กำลังเป็นอยู่ในสังคมโลกปัจจุบัน หรือคนที่มีปัญญาน้อยบางคน เมื่อเห็นว่าเมื่อตายไปแล้วก็จะไม่มีโลกหน้าอีก จึงได้พยายามแสวงหาและเสพความสุขให้เต็มอิ่มในปัจจุบัน เพราะเชื่อว่าตายไปแล้วก็จะไม่ได้เสพอีก ซึ่งการแสวงหาและเสพของเขานั้นบางครั้งก็แสวงหาและเสพในทางที่ผิด ที่จะมีผลกลับมาสร้างความทุกข์ให้กับตัวของเขาเองและแก่สังคมด้วย ส่วนพวกที่มีปัญญามากนี้ไม่น่าเป็นห่วง เพราะเขาย่อมมีปัญญามองเห็นว่าการทำความชั่วนั้นจะมีแต่ผลเสียหรือไม่ดีเพียงอย่างเดียว ไม่ว่าตายแล้วจะเป็นเช่นไรก็ตาม และมองเห็นว่าการทำความดีนั้นจะมีแต่ผลดีเพียงอย่างเดียว ไม่ว่าตายไปแล้วจะเป็นเช่นไรก็ตาม ดังนั้นคนที่มีปัญญาที่แท้จริงนี้ แม้ไม่มีศาสนาเขาก็ยังทำแต่ความดีและไม่ทำความชั่วได้เหมือนกับคนที่มีศาสนา ผู้มีปัญญาย่อมมองเห็นว่า คนที่ทำความชั่ว ก็จะทำให้ชีวิตในปัจจุบันมีแต่ปัญหา มีแต่ความเดือดร้อนวุ่นวาย หาความสงบสุขไม่ได้ เพราะการทำความชั่วของเขาในปัจจุบันนั่นเอง แม้ตายไปแล้วถ้าโลกหน้ามี เขาก็ยังต้องได้รับผลที่ไม่ดีอีกอย่างแน่นอน แต่ถึงโลกหน้าจะไม่มี เขาก็ได้รับผลที่ไม่ดีอยู่แล้วในปัจจุบัน ส่วนคนที่ทำความดีนั้น ชีวิตในปัจจุบันของเขาก็ย่อมที่จะมีแต่ความสงบสุข ไม่มีความเดือดร้อน เพราะการทำความดีของเขาในปัจจุบัน แม้ตายไปแล้วถ้าโลกหน้ามี เขาก็ยังต้องได้รับผลดีอีกอย่างแน่นอน แต่ถึงโลกหน้าจะไม่มี เขาก็ไม่ขาดทุนเพราะเขาก็ได้รับผลดีอยู่แล้วในปัจจุบัน สรุปได้ว่า การที่คนเราจะทำความชั่วนั้น ขึ้นอยู่กับการขาดความเชื่อมั่นในคำสอนที่ดีของศาสนา และการขาดปัญญา ส่วนคนที่จะทำความดีนั้นก็ ขึ้นอยู่กับการมีความเชื่อมั่นในคำสอนที่ดีของศาสนา และมีปัญญา ดังนั้นการสร้างโลกให้มีสันติภาพ จึงมีอยู่ ๒ วิธี คือ (๑) พยายามเผยแพร่คำสอนในส่วนที่ดีของทุกศาสนา ให้ผู้นับถือมีความเชื่อมั่นในคำสอนที่ดีของศาสนาที่เขานับถือให้มากขึ้น และ (๒) พยายามให้ความรู้ที่ถูกต้อง หรือให้การศึกษาที่ถูกต้องที่จะทำให้เกิดความเข้าใจและเห็นแจ้งในชีวิตได้ แก่ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ให้มากที่สุด เพื่อให้เขามีปัญญาที่ถูกต้องมากขึ้น ถ้าทำได้โลกจึงจะมีสันติภาพที่มั่นคงได้ ความดี-ความชั่วที่เป็นสากลเป็นอย่างไร? ทุกศาสนาย่อมที่จะมีคำสอนที่เป็นหลักพื้นฐานเรื่องความดีและความชั่วเสมอ ซึ่งคำสอนส่วนใหญ่จะคล้ายๆกันคือจะสอนว่า ความชั่วก็คือการเบียดเบียนชีวิตและทรัพย์สินของผู้อื่น, รวมทั้งการลุ่มหลงสุรา, สิ่งเสพติด, การพนัน, ความสนุกสนานเฮฮา, ความฟุ่มเฟือย เป็นต้น ส่วนความดีก็คือการช่วยเหลือผู้อื่น, รวมทั้งการประหยัด, ไม่ฟุ่มเฟือย, ขยัน, อดทน, เสียสละ เป็นต้น แต่บางศาสนาก็มีคำสอนที่เสริมแต่งขึ้นมาใหม่และยึดถือกันมากกว่าคำสอนพื้นฐานว่า ความชั่วก็คือการไปนับถือศาสนาอื่น ส่วนความดีก็คือการนับถือและปฏิบัติตามคำสอนของศาสนาของเขา ส่วนผลจากการทำชั่วก็คือ เมื่อตายไปจะต้องถูกลงโทษหรือถูกทรมานอย่างแสนสาหัส ตราบนานเท่านานใน นรก ของเขา ส่วนผลจากการทำดีก็คือ เมื่อตายไปก็จะได้รับรางวัลเป็นสิ่งที่มนุษย์ชื่นชอบ อย่างมากมายล้นเหลือใน สวรรค์ ของเขา ตราบนานแสนนานเลยทีเดียว ซึ่งทั้งนรกและสวรรค์ของแต่ละศาสนานั้นจะไม่เหมือนกันหรือไม่ใช่สถานที่เดียวกัน คำสอนเรื่อง นรก ที่เป็นสถานที่ สำหรับลงโทษ คนทำผิดเช่นนี้ผู้มีปัญญาจะมองว่า เป็นการขู่เด็กหรือคนมีปัญญาน้อยให้กลัว เพื่อผู้คนจะได้ไม่ทำชั่ว โดยบอกว่าผู้ที่ทำความชั่วเมื่อตายไปจะถูกทำร้ายหรือถูกทรมานอย่างแสนสาหัส หรือถูกฆ่าซ้ำแล้วซ้ำอีก ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนกลัวอย่างที่สุด ซึ่งการสอนเช่นนี้ก็มีผลดีตรงที่ คนที่เชื่อก็จะไม่ทำชั่ว แล้วก็ทำให้ทั้งตัวผู้ปฏิบัติเองก็มีความสุข และสังคมก็สงบสุข ส่วนคำสอนเรื่อง สวรรค์ ที่เป็นสถานที่ สำหรับให้รางวัล เช่นนี้ผู้มีปัญญาจะมองว่า เป็นการเอาสิ่งที่มนุษย์ทั้งหลายชื่นชอบ อันได้แก่เรื่องความสุขจากเรื่องทางเพศ เรื่องวัตถุสิ่งของ เรื่องเกียรติยศชื่อเสียง มาหลอกล่อให้ผู้คนอยากทำความดี เพื่อหวังจะได้รับรางวัลนั้นในโลกหน้าหรือเมื่อตายไปแล้ว ซึ่งการสอนเช่นนี้ก็นับว่ามีส่วนดีอยู่บ้างตรงที่สอนให้รู้จักการเสียสละ แต่ก็มีส่วนเสียตรงที่การเสียสละนั้นทำไปด้วยความเห็นแก่ตัว และผู้สอนก็มักจะสอนทำนองว่า ถ้าอยากจะได้รับผลดีมากๆ ก็ต้องเอาทรัพย์มาบริจาคให้กับศาสนานี้หรือผู้สอนมากๆ จึงจะได้รับผลดีนั้นมากตามไปด้วย ซึ่งก็ทำให้ผู้สอนเช่นนี้ร่ำรวยไปตามๆกัน และผลเสียอีกอย่างก็คือทำให้คนที่เชื่อนั้น ไม่มีการพัฒนาทางสติปัญญา คือถึงแม้จะเป็น คนดี ก็ตาม แต่ก็เป็น คนดีที่โง่เขลา ซึ่งความโง่นั้นไม่เคยทำให้ใครได้รับสิ่งที่มีประโยชน์แก่ชีวิตอย่างแท้จริงเลย จะเห็นได้ว่า คำสอนเรื่องความดี-ความชั่วและผลของความดี-ความชั่ว (นรก-สวรรค์) ของแต่ละศาสนานั้นจะแตกต่างกัน ซึ่งในกรณีนี้ถ้าเราทำใจให้เป็นกลางโดยไม่เอนเอียงไปเข้าข้างศาสนาใดเลยก็จะทำให้เกิดปัญหาขึ้นมาว่า เราจะเชื่อในคำสอนของศาสนาใดจึงจะถูกต้องที่สุด? ถ้าไปเชื่อศาสนาหนึ่ง ก็จะขัดแย้งกับอีกศาสนาหนึ่ง แต่ทุกศาสนาก็อ้างว่าคำสอนของเขานั้นถูกต้องที่สุด และก็แน่นอนว่าในทางตรงกันข้ามก็เป็นการบอกว่า คำสอนของศาสนาอื่นนั้นผิด ไปในตัวด้วย ซึ่งนี่ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้มีปัญญาไม่นับถือศาสนาใดเลย จากเหตุความเชื่อที่ไม่ตรงกันนี้เองที่ทำให้เกิดคำถามขึ้นมาว่า แล้วทำไมจึงไม่มีคำสอนที่เป็นกลางๆหรือสากล ให้มนุษย์ทั้งหมดไม่ว่าจะนับถือลัทธิหรือศาสนาใดก็ตาม จะได้เอาไว้ปฏิบัติให้ตรงกัน จะได้ไม่มีความแตกแยกในสังคมมนุษย์ อันจะนำไปสู่สันติภาพของโลกได้? สำหรับคนไม่มีศาสนาแล้วเขาจะมองว่า การทำความดีนั้นต้องเป็นสากล อันได้แก่ การช่วยเหลือผู้อื่นให้พ้นจากความทุกข์หรือมีความสุขอย่างมั่นคงด้วยวิธีการต่างๆ เช่น ให้แรงกาย ให้ทรัพย์ ให้ความรู้ ให้อภัย ให้โอกาส ให้หลักในการดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง ให้ความรู้ที่จะทำให้เข้าใจหรือรู้แจ้งในชีวิต เป็นต้น ส่วนการทำความชั่วที่เป็นสากล ก็คือการเบียดเบียนชีวิตและทรัพย์สินของผู้อื่นในทุกๆกรณี ทั้งทางกายและวาจา ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ส่วนผลจากการทำความดีโดยตรงนั้นก็คือ ความสุขใจ อิ่มใจ สบายใจจากการที่ได้ทำความดี ส่วนผลจากการทำความชั่วโดยตรงก็คือ ความทุกข์ใจ ร้อนใจ หรืออย่างน้อยก็คือความไม่สบายใจจากการที่ได้ทำความชั่ว ซึ่งนี่คือผลโดยตรงที่เราทุกคนก็สามารถรับรู้ได้จริง โดยไม่จำเป็นต้องเชื่อจากใครๆ และทุกคนไม่ว่านับถือลัทธิหรือศาสนาอะไรก็ต้องยอมรับ ส่วนผลโดยอ้อมจากการทำความดีและความชั่วนั้นมันไม่แน่นอน ผู้มีปัญญาจึงไม่สนใจ อย่างเช่น คนทำความดีแต่ก็ไม่มีใครรู้ จึงไม่มีใครไปชื่นชมหรือให้รางวัล ส่วนคนที่ทำความชั่วแต่ปกปิดเอาไว้ได้ ก็ไม่มีใครไปตำหนิหรือลงโทษ เป็นต้น ซึ่งผลโดยอ้อมเหล่านี้ มันเป็นเรื่องของสังคมภายนอก ที่เอาแน่นอนไม่ได้ ถ้าใครหวังว่าจะทำความดี เพื่อให้คนอื่นมาชื่นชมหรือให้รางวัล ก็แสดงว่าเขาไม่ได้ทำดีด้วยใจบริสุทธิ์ แต่ทำเพราะหวังผลตอบแทน และเมื่อทำความดีไปแล้วไม่ได้รับผลตามที่หวังนั้นตอบแทน ก็เลยทำให้เห็นผิดไปว่า ทำดีแล้วไม่ได้ดี แต่พอไปมองคนทำชั่วบางคนที่ปกปิดเอาไว้ได้และร่ำรวยสุขสบาย และมีคนยกย่องเคารพนับถือ ก็เลยเกิดความเห็นผิดไปอีกว่า ทำชั่วแล้วได้ดี ไปในที่สุด สรุปได้ว่า ศาสนาที่คน ไม่มีศาสนา จะยอมรับได้นั้นจะต้องเป็นสากล คือทุกคนในโลกยอมรับได้ เป็นศาสนาที่ไม่ทำให้เกิดความแตกแยก เป็นศาสนาที่ทำให้มนุษย์เกิดความเห็นแจ้งชีวิต และเป็นศาสนาที่สร้างประโยชน์แก่มนุษย์ทุกคน ซึ่งศาสนาเช่นนี้เราจะเรียกว่าเป็น ศาสนาสากล หรือ ศาสนาแห่งมิตรภาพ หรือ ศาสนาวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นศาสนาในฝันของคนไม่มีศาสนาทั้งหลาย ชีวิตคืออะไร? สิ่งที่ผู้มีปัญญาของโลกทั้งหลายอยากจะรู้มากที่สุดก็คือ ความจริงที่เกี่ยวกับชีวิต เช่น ชีวิตคืออะไร? เกิดมาทำไม? ตายแล้วจะเป็นเช่นไร? อะไรคือสิ่งสูงสุดที่เราควรจะได้รับ? และจะได้โดยวิธีใด? เป็นต้น แต่เมื่อไม่สามารถค้นหาความจริงเหล่านี้ได้ จึงทำให้แม้ผู้มีปัญญาของโลกก็ยังคงตาบอดหรือมืดมนท์ เพราะไม่รู้จักชีวิตของตัวเองอย่างแท้จริงอยู่ต่อไป การที่เราจะศึกษาสิ่งใดให้เกิดความเข้าใจ หรือให้รู้จักกับสิ่งนั้นได้อย่างถูกต้องแท้จริง เราก็ต้องมีสิ่งนั้นมาให้ศึกษาจริงๆ ถ้าเราไม่มีของจริงมาศึกษา ถึงเราจะศึกษาอย่างไรก็ไม่มีทางเข้าใจหรือรู้จักกับสิ่งนั้นอย่างถูกต้องแท้จริงได้ ดังนั้นการศึกษาชีวิต เราก็ต้องมาศึกษาจากชีวิตของเราเองจริงๆเท่านั้น เราจะไม่เชื่อจากตำราหรือจากใครๆทั้งสิ้น แต่เราจะเชื่อจากการที่เราได้ประสบ หรือสัมผัสกับสิ่งนั้นมาแล้วอย่างแน่ชัดเสียก่อนเท่านั้น ซึ่งนี่คือวิธีการของวิทยาศาสตร์ ที่จะช่วยปลดปล่อยสติปัญญาของเราให้เป็นอิสระ ไม่เป็นทาสทางสติปัญญาของใครๆทั้งสิ้น อะไรคือจุดหมายของชีวิต? ชีวิตของมนุษย์เราก็เปรียบเหมือนคนที่เรือแตกกลางทะเล คือต้องพยายามช่วยเหลือตัวเองให้อยู่รอดก่อนเป็นอันดับแรก และพยายามว่ายน้ำเข้าหาฝั่ง ซึ่งก็ต้องว่ายไปทั้งๆที่ยังมองไม่เห็นฝั่ง โดยอาศัยผู้นำที่ตัวเองเชื่อถือเป็นผู้นำทาง คือชีวิตก็ต้องดิ้นรนทำงานเลี้ยงชีวิต ถ้าหยุดทำงานก็อดตาย และยังต้องแสวงหาที่พึ่งทางใจเพื่อให้เบาใจ อุ่นใจ ว่าอนาคตจะต้องได้รับสิ่งที่ดีกว่าที่เป็นอยู่ ซึ่งที่พึ่งนั้นก็คงไม่พ้นการมีศาสนา คนมีศาสนาก็เหมือนกับคนที่ได้ยึดเกาะเศษไม้เล็กๆเอาไว้ พร้อมกับพยายามว่ายน้ำไปด้วยจึงไม่จมทะเล แล้วก็เชื่อว่าเศษไม้นั้นได้ช่วยพยุงตัวเองเอาไว้ไม่ให้จมทะเล แล้วก็ทำให้เกิดความอุ่นใจ เบาใจ สบายใจว่า ตนเองมีที่พึ่งอย่างดีที่สุดแล้ว ส่วนคนที่ไม่มีศาสนาก็เปรียบเหมือนคนที่ไม่มีสิ่งยึดเกาะเลย เมื่อมองไปเห็นคนมีศาสนาที่เขาเกาะเพียงเศษไม้อยู่ ก็เกิดความคิดว่า การไม่เกาะเศษไม้นั้นเลยจะดีเสียกว่าการไปเกาะเศษไม้นั้น เพราะอย่างไรเสียทุกคนก็ต้องว่ายน้ำช่วยตัวเองอยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว แม้ว่าใครจะมีเศษไม้มาให้ยึดเกาะ ก็ยังต้องว่ายน้ำช่วยเหลือตัวเองอยู่อีกนั้นเอง ถ้าหยุดว่ายเมื่อใดก็จะจมลงทันที เศษไม้นั้นก็ไม่ได้ช่วยอะไรอย่างแท้จริง เศษไม้นั้นก็เป็นเพียงแค่ กำลังใจ ให้แก่คนตกทะเลเท่านั้น คนที่ไม่มีศาสนาก็ต้องทำงานเลี้ยงชีวิตเหมือนกัน เพียงแต่ว่าเขาไม่มีที่พึ่งทางใจเหมือนคนมีศาสนา ดังนั้นลึกๆแล้วคนไม่มีศาสนาจะรู้สึกอ้างว้าง หว้าเหว่ และหวาดกลัว เพราะไม่รู้จุดหมายปลายทางของชีวิตอย่างแท้จริง แต่ถ้าคนไม่มีศาสนาจะรู้จักชีวิตอย่างถูกต้องแท้จริงแล้ว เขาก็จะเป็นคนที่มีจุดหมายของชีวิตที่มั่นคง และไม่รู้สึกอ้างว้างว้าเหว่และหวาดกลัวอีกต่อไป ดังนั้นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้คนไม่มีศาสนานี้มีจุดหมายของชีวิตที่มั่นคงได้ ก็ต้องมาศึกษาชีวิต เพื่อให้เกิดความเห็นแจ้งชีวิตอย่างถูกต้อง หรือเกิดความรู้แจ้งเห็นจริงในชีวิต และเมื่อเกิดความเห็นแจ้งชีวิตอย่างถูกต้องแล้ว คนไม่มีศาสนาก็จะมีความอุ่นใจ เบาใจ สบายใจ และมีจุดหมายชีวิตที่มั่นคง ซึ่งอาจจะมากกว่าคนที่ปฏิญาณตนว่ามีศาสนาบางคนเสียอีก วิทยาศาสตร์คืออะไร? วิทยาศาสตร์ คือ ความรู้ที่เกิดขึ้นมาจากการสังเกตปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นของธรรมชาติ วิทยาศาสตร์เป็นวิธีการค้นหาความจริงของธรรมชาติ ที่ได้ผลแน่นอนหรือถูกต้องที่สุด โดยวิทยาศาสตร์จะมีหลักอันเป็นหัวใจอยู่ที่ ๑. ศึกษาจากสิ่งที่มีอยู่จริง ที่เราสามารถรู้เห็นหรือสัมผัสได้จริงในปัจจุบัน ๒. ศึกษาโดยใช้เหตุใช้ผล ที่สมเหตุสมผลที่สุด โดยเหตุผลนั้นก็มาจากสิ่งที่มีอยู่จริงนั่นเอง ๓. มีการศึกษาอย่างเป็นระบบ โดยศึกษาจากพื้นฐานแล้วแตกกิ่งก้านสาขาออกไปอย่างมีระเบียบ รวมทั้งยังมีการศึกษาและปฏิบัติอย่างมีขั้นตอนอีกด้วย ๔. จะเชื่อต่อเมื่อได้มีการพิสูจน์หรือทดลองจนเห็นผลอย่างแน่ชัดแล้วเท่านั้น สิ่งสำคัญในการศึกษาธรรมชาติและชีวิตของเรานี้ก็คือ เราจะต้องใช้หลักวิทยาศาสตร์มาศึกษา คือเราจะเอาสิ่งที่ปรากฏหรือมีอยู่จริงๆในปัจจุบัน ที่เราสามารถรู้เห็นหรือสัมผัสได้จริงด้วย ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจของเราเท่านั้นมาใช้ศึกษา โดยการคิดพิจารณาก็ต้องใช้เหตุผลที่สมเหตุสมผลเท่านั้น เราจะไม่อาศัยการคาดคะเน หรือนึกเดาเอา หรือเชื่อตามคนอื่นอย่างเด็ดขาด แม้ใครจะโอ้อวดว่าเขามีความรอบรู้อย่างยิ่ง หรือมีอิทธิฤทธิ์มากมายสักเพียงใดก็ตาม หรืออวดอ้างว่าเป็นผู้วิเศษที่รอบรู้ทุกสิ่งทุกอย่างสักเท่าใดก็ตาม เราก็จะไม่เชื่อ จนกว่าเราได้จะพิสูจน์ให้เห็นจริงแล้วอย่างแน่ชัด ด้วยตัวของเราเองก่อนเท่านั้น การศึกษาที่ขัดแย้งหรือตรงข้ามกับหลักวิทยาศาสตร์อย่างยิ่งก็คือ การเชื่อจากผู้อื่นโดยตนเองไม่ได้รู้เห็นหรือสัมผัสด้วยตนเองจริงๆอย่างแน่ชัด ซึ่งนั่นเป็นหลักของ ไสยศาสตร์ (ที่หมายถึงความรู้ของคนหลับหรือไม่มีสติปัญญา) ที่อาศัยเพียงความเชื่อโดยไม่ใช้ปัญญา คือไม่มีเหตุผล และไม่มีของจริงมายืนยัน โดยหลักของไสยศาสตร์ก็คือ ให้เชื่อเพียงอย่างเดียว ห้ามถาม ห้ามสงสัย ซึ่งไสยศาสตร์ก็ย่อมที่จะมีแต่เรื่องลึกลับไกลตัว หรือเรื่องที่เขาเชื่อว่าเหนือธรรมชาติ เช่น เรื่องของความศักดิ์สิทธิ์ ปาฏิหาริย์ หรือสิ่งวิเศษ หรืออำนาจวิเศษต่างๆ เป็นต้น ที่พิสูจน์ให้เห็นจริงไม่ได้ มีแต่คำล่ำลือปากต่อปากเท่านั้น และคนที่เชื่อก็มักเป็นคนไม่ชอบใช้ความคิดและขลาดกลัวหรืออ่อนแอ ซึ่งเรื่องไสยศาสตร์ที่สำคัญก็คือเรื่องที่ว่า จะมี จิต ของมนุษย์หรือสิ่งที่มีชีวิต ที่จะสามารถออกจากร่างกายที่ตายแล้ว ไปเกิดยังร่างกายใหม่ๆได้ (อย่างที่เรียกกันว่า ผี หรือวิญญาณ) หรือเรื่องสถานที่สำหรับลงโทษมนุษย์ที่ทำความชั่วที่ตายไปแล้ว (นรกใต้ดิน) หรือสถานที่สำหรับเป็นรางวัลแก่มนุษย์ที่ทำความดีเมื่อตายไปแล้ว (สวรรค์บนฟ้า) หรือเรื่องเทวดา นางฟ้า ปีศาจ ซาตาน เป็นต้น ซึ่งเรื่องเหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องของไสยศาสตร์ทั้งสิ้น ไสยศาสตร์ไม่ใช่สิ่งเลวร้ายเสมอไป ถ้านำเรื่องไสยศาสตร์มาใช้ให้เกิดสิ่งที่ดีงามก็จัดว่ามีประโยชน์ แต่ถ้าเป็นเรื่องการศึกษาให้เกิดปัญญา เพื่อให้เกิดความเห็นแจ้งในธรรมชาติและชีวิตแล้ว ไสยศาสตร์กลับจะเป็นตัวฉุดให้จมอยู่ ไม่เจริญงอกงาม เราจะต้องละทิ้งไสยศาสตร์ แล้วมาใช้หลักวิทยาศาสตร์เท่านั้น เราจึงจะศึกษาให้เกิดความเห็นแจ้งชีวิตและธรรมชาติได้ สรุปได้ว่า ถ้าเรายังเชื่อว่า เรื่องราวของไสยศาสตร์ทั้งหลายมีจริงหรือเป็นจริง ก็แสดงว่าเรายังเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่แท้จริงไม่ได้ เพราะยังไปหลงเชื่อสิ่งที่เราเองก็ยังพิสูจน์ให้เห็นจริงไม่ได้ แล้วจะมาเป็นนักวิทยาศาสตร์เพื่อค้นหาความจริงของชีวิตให้กับตัวเองได้อย่างไร? ซึ่งจุดนี้นับว่าสำคัญที่สุด ที่เราจะมองข้ามไปไม่ได้เลย ถ้าปรารถนาที่จะค้นหาความจริงให้กับตัวเอง ศาสนาสอนให้เชื่ออย่างไร? ศาสนาย่อมคู่กับความเชื่อและการปฏิบัติเสมอ คือเมื่อเราเชื่อในคำสอนของศาสนาใด เราก็ย่อมที่จะปฏิบัติตามคำสอนของศาสนานั้น จึงจะเรียกว่าเรานับถือศาสนานั้นอย่างแท้จริง แต่ถึงแม้เราจะปฏิญาณตนว่านับถือศาสนาใดอยู่ก็ตาม ถ้าเราไม่ปฏิบัติตามคำสอนของศาสนานั้น ก็เท่ากับเราไม่มีความเชื่อในศาสนานั้น ซึ่งนี่ก็เท่ากับเราไม่ได้นับถือศาสนานั้นอย่างแท้จริง ศาสนาส่วนใหญ่ จะมีคำสอนให้ผู้นับถือทุกคนจะต้องเชื่อมั่นเพียงอย่างเดียวโดยไม่ต้องสงสัย หรือห้ามถาม ห้ามสงสัย ซึ่งก็เท่ากับเป็นการปิดกั้นสติปัญญาของผู้ที่นับถือไม่ให้เจริญงอกงาม เหมือนปิดกั้นต้นไม้ไม่ให้ถูกแสงแดด บางศาสนาก็มีคำสอนหรือคำอธิบายต่อคำถามหรือข้อสงสัยได้อย่างละเอียด แต่ว่าเป็นคำตอบที่อ้างตำราของศาสนาบ้าง อ้างคำสอนของนักสอนศาสนาที่มีชื่อเสียงโด่งดังบ้าง อ้างความรู้ว่าผู้ตอบได้ปฏิบัติจนได้รู้แจ้งเห็นจริงแล้วบ้าง หรือบางทีก็อ้างสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือผู้วิเศษของศาสนาบ้าง เป็นต้น ซึ่งล้วนเป็นคำตอบที่คนไม่มีศาสนารับไม่ได้ เพราะขาดทั้งเหตุผลและหลักฐานหรือความจริงมายืนยัน คำสอนที่สอนให้เชื่อมั่นโดยไม่ต้องสงสัยนี้ จะมีผลดีต่อเมื่อผู้นับถือศาสนานั้นมีสติปัญญาน้อย และศาสนามีคำสอนที่ถูกต้องดีงามเพียงพอ รวมทั้งนักสอนศาสนาก็เป็นคนดีด้วย แต่ในทางตรงกันข้าม สำหรับคนที่มีปัญญาแล้วเขาย่อมรู้สึกอึดอัดใจ เพราะเห็นว่าถ้าศาสนาไม่มีคำสอนที่ดี หรือนักสอนศาสนาเป็นคนเห็นแก่ตัว ก็อาจจะทำให้เกิดผลเสียแก่ทั้งผู้นับถือและสังคมขึ้นมาได้ ยังมีคำสอนระดับสูงของบางศาสนาที่ให้อิสระแก่ผู้นับถืออย่างเต็มที่ คือไม่มีการบังคับว่าจะต้องเชื่อ เพียงแต่จะให้เหตุผลว่าควรจะทำอย่างไร? หรือไม่ควรทำอย่างไร? หรือควรจะเชื่ออย่างไร? ซึ่งศาสนานี้เป็นศาสนาที่สอนให้เกิดปัญญา แต่ก็ยากที่จะมีใครเข้าใจ เพราะแม้แต่ผู้ที่นับถือศาสนานี้เองเกือบทั้งหมด ก็ยังรับไม่ได้กับคำสอนระดับสูงของศาสนาตัวเองนี้ เพราะเขาเชื่อว่า เมื่อนับถือแล้วก็ต้องเชื่อมั่นเพียงอย่างเดียว เหมือนศาสนาเผด็จการ อีกทั้งปัจจุบันศาสนานี้ก็ยังถูกแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำสอนให้ผิดเพี้ยนไปอย่างมาก จนแทบมองไม่เห็นเนื้อแท้ของศาสนาดั้งเดิมแล้ว เชื่ออย่างไรจึงจะไม่ผิด? ในเรื่องของความเชื่อนั้น สำหรับผู้ที่มีปัญญาแล้วเขาย่อมจะไม่เชื่อจากการบอกต่อๆกันมา, จากการทำตามๆกันมา, จากคำล่ำลือ, จากตำรา, จากเหตุผลตรงๆ (ตรรกะ), จากเหตุผลแวดล้อม (นัยยะ), จากสามัญสำนึกของตัวเอง, จากที่มันตรงกับความเห็นที่ตนเองมีอยู่, จากบุคคลที่ดูภายนอกว่าน่าเชื่อถือ, และแม้จากครูอาจารย์ของตนเองก็ตาม การเชื่อจากบุคคลอื่นหรือแม้จากตำรา โดยตนเองยังไม่ได้พิสูจน์ทดลองให้ได้เห็นจริงนั้น มันมีโอกาสที่จะมีความผิดพลาดได้ทั้งสิ้น เพราะบุคคลอื่นนั้นเขาก็อาจมีความเห็นผิดมาก่อนแล้วก็ได้ หรือคนเขียนตำราก็อาจมีความเห็นผิดมาก่อนแล้วก็ได้ หรือในกรณีที่คนเขียนตำราอาจมีความเห็นถูกมาก่อน แต่ตำรานั้นก็อาจถูกเปลี่ยนแปลงให้ผิดเพี้ยนก่อนที่จะมาถึงเราแล้วก็ได้ แม้แต่สามัญสำนึก ที่เป็นความรู้สึกธรรมดาๆของจิตใจเราเอง มันก็ยังจะหลอกเราให้มีความเห็นที่ผิดได้ ส่วนเหตุผลที่น่าเชื่อที่สุดนั้นก็ยังเชื่อไม่ได้ เพราะถ้าเหตุที่เราได้รับมามันผิด ผลมันก็ย่อมที่จะผิดตามไปด้วย ส่วนบุคคลที่ดูภายนอกว่าน่าเชื่อถือที่สุด หรือแม้แต่ครูอาจารย์ของเราเองก็ตาม ถ้าบังเอิญเขามีความเห็นที่ผิดมาก่อน แล้วเราเชื่อตามเขา เราก็จะพลอยมีความเห็นผิดตามเขาไปด้วยทันที ซึ่งจากเหตุผลนี้เองที่คนมีปัญญาของโลก จึงยังไม่เชื่อจากใครๆ แม้จากเหตุผลและสามัญสำนึกของตัวเองก็ตาม สำหรับผู้มีปัญญาแล้ว ก่อนอื่นเขาจะไม่สนใจไปศึกษาเรื่องต่างๆที่ไม่ควรสนใจ เขาจะสนใจศึกษาแต่เฉพาะเรื่องที่ควรสนใจ อันได้แก่เรื่องที่จะทำให้เขาเกิดความเข้าใจและเห็นแจ้งชีวิต หรือเรื่องว่าทำอย่างไรชีวิตจึงจะไม่มีความทุกข์? ดังนั้นเขาจึงไม่สนใจที่จะไปศึกษาหรือพิสูจน์เรื่องเหลวไหลไร้สาระ ที่มีผู้มาท้าทายหรืออวดอ้างทั้งหลาย สำหรับผู้มีปัญญา เมื่อได้รับรู้เรื่องราวหรือคำสอนใดมา เขาก็จะนำมาพิจารณาดูก่อน ว่าคำสอนนั้นมีโทษหรือมีประโยชน์ ถ้าพิจารณาแล้วเห็นว่ามีโทษ (คือเห็นว่าถ้าปฏิบัติตามแล้วจะเกิดความทุกข์ความเดือดร้อน) เขาก็จะละทิ้งไม่สนใจ แต่ถึงแม้เขาจะพิจารณาแล้วเห็นว่ามีประโยชน์ (คือเห็นว่าถ้าปฏิบัติตามแล้วจะเกิดความสุขและมีความทุกข์ลดน้อยลง) เขาก็ยังไม่เชื่อ แต่เขาจะนำเอามาทดลองปฏิบัติดูก่อน ถ้าทดลองปฏิบัติจนเต็มความสามารถแล้วไม่ได้รับผล (คือไม่มีความสุข และความทุกข์ก็ไม่ลดน้อยลง) เขาก็จะละทิ้งอีกเหมือนกัน จนกว่าเขาจะทดลองปฏิบัติ จนได้รับผลเป็นความสุขมากขึ้น และความทุกข์ลดน้อยลงจริง เขาก็จึงจะเชื่อและรับเอาไปปฏิบัติให้ยิ่งๆขึ้นต่อไป นี่คือหลักในการสร้างความเชื่อของผู้ที่มีปัญญา คือเขาจะไม่เชื่ออะไรง่ายๆ จนกว่าจะได้พิสูจน์ให้เห็นจริงด้วยตนเองอย่างแน่ชัดก่อนแล้วเท่านั้น ซึ่งศาสนาส่วนใหญ่จะไม่มีหลักคำสอนเช่นนี้ จะมีก็บางศาสนาเท่านั้น แต่ถึงบางศาสนานั้นจะมี ก็ไม่ได้รับความสนใจนำมาศึกษาและปฏิบัติอย่างจริงจัง เพราะผู้นับถือส่วนใหญ่ยังยึดติดอยู่กับตำราและผู้สอนศาสนาอยู่อย่างเหนียวแน่น จนละเลยไม่สนใจนำคำสอนนี้มาศึกษาและปฏิบัติอย่างจริงจัง ดังนั้นผู้ที่ปฏิญาณตนว่าไม่มีศาสนาทั้งหลาย จึงควรที่จะมีหลักในการสร้างความเชื่อเช่นนี้เอาไว้ในใจ เพื่อที่จะได้เป็นคนที่มีอิสระในการคิดและเชื่อ อันจะทำให้เกิดปัญญาที่แท้จริงขึ้นมาได้ รวมทั้งมีความกล้าหาญที่จะประกาศตนว่า ไม่มีศาสนา ได้อย่างภาคภูมิใจ และไม่กลัวใครตำหนิ พร้อมทั้งยังสามารถชี้แนะให้ผู้อื่นเกิดมีปัญญาที่แท้จริงขึ้นมาได้ ซึ่งก็เท่ากับว่าได้ช่วยสังคมให้สงบสุข และช่วยโลกให้มีสันติภาพไปในตัว ศาสนามีอะไรเป็นสิ่งสูงสุด? ศาสนาทั้งหลายของโลกย่อมที่จะมี สิ่งสูงสุด เพื่อให้ผู้นับถือยึดถือเอาไว้ ในฐานะสิ่งที่ต้องเกรงกลัว และเคารพ รวมทั้งเชื่อฟังเสมอ ซึ่งบางศาสนาก็เรียกว่า พระเจ้า บางศาสนาก็เรียกว่า เทพเจ้า บางศาสนาก็เรียกว่า ธรรมชาติ บางลัทธิก็เรียกว่า อำนาจศักดิ์สิทธิ์ เป็นต้น สิ่งสูงสุดทั้งหลายของทุกศาสนานี้โดยสรุปแล้วก็จะมีลักษณะเหมือนกัน คือ เป็นผู้ดลบันดาลให้ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไป ซึ่งการดลบันดาลของสิ่งสูงสุดนั้นโดยสรุปก็คือ การสร้างสิ่งต่างๆขึ้นมา รักษาสิ่งต่างๆเอาไว้ และทำลายสิ่งต่างๆไปเมื่อถึงเวลา ซึ่งสรรพสิ่งทั้งหลายของโลกและของจักรวาล รวมทั้งความเจริญ ความเสื่อม และความสุข ความทุกข์ ความโง่ ความฉลาด เป็นต้น ก็ล้วนเกิดมาจากการดลบันดาลจากสิ่งสูงสุดนี้ทั้งสิ้น ซึ่งถ้าไม่มีความเชื่อจากศาสนามาครอบงำ เราก็จะมองเห็นว่า สิ่งที่มีอำนาจสูงสุดในโลกหรือในจักรวาลก็คือ สิ่งที่เราสามารถพบเห็นได้จริงในปัจจุบันที่เรียกว่า ธรรมชาติ นี่เอง สรุปได้ว่าทุกสิ่งทุกอย่าง รวมทั้งมนุษย์ทุกคน ย่อมที่จะต้องมีสิ่งสูงสุดมาคอยดลบันดาลหรือควบคุมอยู่ทั้งสิ้น ไม่ว่าใครจะยอมรับหรือไม่ก็ตาม เพียงแต่บางศาสนาอาจจะมองว่าเป็นบุคคล หรือเป็นสิ่งที่มีชีวิตที่มีอำนาจวิเศษหรือศักดิ์สิทธิ์ แต่สำหรับผู้ที่ไม่ยึดติดในศาสนา จะมองว่าเป็นธรรมชาติ ซึ่งถ้าเราจะมองด้วยใจเป็นกลางแล้วเราก็จะพบว่า ไม่ว่าสิ่งสูงสุดนั้นจะเป็นบุคคลตัวตนหรือเป็นธรรมชาติ มันก็คือสิ่งเดียวกัน แต่สำหรับคนที่ยึดติดในศาสนาอาจจะไม่ยอมรับเช่นนี้ เพราะเขาถูกความเชื่อจากศาสนาครอบงำอยู่ |