(พุทธศาสตร์ประยุกต์ร่วมสมัย)

คำปรารภ

ในปัจจุบัน การที่ใครสักคนที่ไม่มีความรู้ในเรื่องพุทธศาสนาเลย จะมาศึกษาพุทธศาสนาให้เกิดความเข้าใจอย่างถูกต้องได้นั้น เป็นเรื่องที่ยากมาก หรือแทบเป็นไปไม่ได้เลย เพราะมีอุปสรรคหลายอย่าง เช่น ความรู้เรื่องภาษาที่อ่านแล้วไม่เข้าใจ หรือไม่รู้ว่าต้องเริ่มต้นศึกษาที่จุดไหนก่อน รวมทั้งไม่รู้ว่าหลักพื้นฐานในการศึกษาพุทธศาสนานั้นเป็นอย่างไร เป็นต้น  

หนังสือ “พุทธศาสตร์ประยุกต์ร่วมสมัย” นี้ ได้นำเอาหลักพื้นฐานในการศึกษาพุทธศาสนามาอธิบายเอาไว้อย่างละเอียดและครบถ้วน อีกทั้งยังได้นำเอาคำสอนที่เป็นหัวใจของคำสอนทั้งหมดของพระพุทธเจ้าเรื่อง อริยสัจ ๔ ที่เป็นคำสอนเรื่องการปฏิบัติ เพื่อให้จิตใจของเราในปัจจุบันมีความทุกข์น้อยที่สุดหรือไม่มีเลยได้ มาสรุปและอธิบายเอาไว้อย่างละเอียด โดยใช้ภาษาง่ายๆ ที่ใครๆแม้จะไม่มีความรู้เรื่องพุทธศาสนามาก่อน ก็สามารถอ่านแล้วเกิดความเข้าใจได้โดยง่าย เพื่อให้ผู้ที่สนใจไม่ว่าจะเป็นคนชาติใด หรือนับถือศาสนาใด หรือไม่มีศาสนาเลยก็ตาม จะได้ใช้เป็นคู่มือในการศึกษาคำสอนของพระพุทธเจ้าให้เกิดความเข้าใจอย่างถูกต้อง รวดเร็ว และครบถ้วน ต่อจากนั้นจะได้นำคำสอนของพระพุทธเจ้าไปปฏิบัติ เพื่อให้เกิดประโยชน์ทั้งแก่ตนเองและคนอื่นต่อไป และถ้าใครเป็นว่าหนังสือนี้จะเป็นประโยชน์ต่อเพื่อนมนุษย์ ก็ขอให้ช่วยกันเผยแพร่ต่อไปด้วยใจอันบริสุทธิ์ เพื่อช่วยให้เพื่อนมนุษย์ได้หลุดพ้นจากความทุกข์ และช่วยให้โลกมีสันติภาพกันต่อไป

พระออมสิน เตชปัญโญ

อาศรมพุทธบุตร เกาะสีชัง ชลบุรี

๑ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖

 

 

 

 

 

ภาค ๑ พื้นฐานสำคัญที่ต้องรู้ก่อน

ธรรมชาติ

ธรรมชาติ คือ สิ่งธรรมดาๆที่เราสามารถรับรู้ได้ด้วยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ของเรา ซึ่งธรรมชาตินี้ก็แยกได้ ๒ อย่าง คือ รูปธรรม กับ นามธรรม โดยสิ่งที่เป็นรูปธรรมก็ได้แก่ สิ่งที่เป็นพวกวัตถุสิ่งของและพลังงานทั้งหลาย ส่วนสิ่งที่เป็นนามธรรมก็ได้แก่ สิ่งที่เป็นพวกจิตหรือความรู้สึกนึกคิดทั้งหลาย  อีกทั้งธรรมชาตินี้ก็ยังแยกได้อีก ๒ อย่าง คือ สิ่งที่มีชีวิต กับ สิ่งที่ไม่มีชีวิต โดยสิ่งที่มีชีวิตก็ได้แก่ คน (มนุษย์) สัตว์ พืช ส่วนสิ่งที่ไม่มีชีวิตก็ได้แก่วัตถุสิ่งของและพลังงานทั้งหลาย

โดยสิ่งที่มีชีวิตนั้นเป็นสิ่งที่มี จิต (หรือ ใจ) ที่สามารถรับรู้สิ่งต่างๆของโลกที่มาสัมผัสจิตได้, จำสิ่งที่รับรู้ได้, มีความรู้สึกต่อสิ่งที่จำได้, และมีปฏิกิริยาต่อความรู้สึกได้ ซึ่งคนนั้นเป็นสิ่งที่มีชีวิตที่มีเนื้อสมองใหญ่กว่าสัตว์เมื่อเทียบกับร่างกาย จึงทำให้คนนั้นมีความจำมาก เมื่อมีความจำมากจึงทำให้คนนั้นมีความคิดได้ละเอียดและซับซ้อนมาก จึงทำให้คนนั้นเป็นสิ่งที่มีชีวิตชั้นสูงที่มีความรอบรู้ในตนเองและธรรมชาติมากกว่าสิ่งที่มีชีวิตอื่นๆ

เราอาจจะสงสัยว่า ธรรมชาติเกิดขึ้นมาได้อย่างไร? หรือใครสร้างธรรมชาติขึ้นมา? ซึ่งเรื่องนี้นักวิทยาศาสตร์ก็ยังหาคำตอบไม่ได้ แต่เราก็ไม่จำเป็นต้องไปรู้ว่าอะไรสร้างธรรมชาติขึ้นมาก็ได้เพราะไม่จำเป็น แต่สิ่งที่เราจำเป็นต้องรู้ก็คือ ธรรมชาติสร้างเราขึ้นมาได้อย่างไร? และธรรมชาติดลบันดาลให้สิ่งทั้งหลายของโลกรวมทั้งชีวิตของเราเป็นไปต่างๆนาๆ (เช่น มีความสุข มีความทุกข์ มีความเจริญ มีความเสื่อม เป็นต้น) อยู่ทุกวันนี้ได้อย่างไร? ซึ่งถ้าเราสามารถเข้าใจถึงความจริงของธรรมชาติในเรื่องเหล่านี้ได้ เราก็จะได้รู้ว่า “อะไรคือสิ่งสูงสุดที่คู่ควรกับชีวิตของเราที่เกิดมานี้ได้” และเมื่อรู้แล้วเราจะได้พยายามแสวงหาสิ่งสูงสุดที่คู่ควรกับชีวิตของเราต่อไป 

กฎสูงสุดของธรรมชาติ

ถ้าเราพิจารณาสิ่งต่างๆของธรรมชาติอย่างละเอียดเราก็จะพบว่า ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นมาตามธรรมชาตินั้น มันจะมีกฎ (ข้อบังคับ) มากมายหลายกฎที่ควบคุมมันอยู่ แต่ธรรมชาติจะมีกฎอยู่กฎหนึ่ง ที่กฎทั้งหลายของธรรมชาติ จะต้องขึ้นอยู่กับกฎนี้ทั้งสิ้น ซึ่งกฎนี้เรียกว่า “กฎสูงสุดของธรรมชาติ” ซึ่งกฎสูงสุดของธรรมชาตินี้เองที่ สร้างทุกสิ่งทุกอย่างขึ้นมา, รักษาทุกสิ่งทุกอย่างเอาไว้, และทำลายสิ่งต่างๆไปเมื่อถึงเวลา (บางศาสนาจะเรียก “กฎสูงสุด” นี้ว่าพระเจ้าหรือเทพเจ้า)

โดยกฎสูงสุดของธรรมชาตินี้มีใจความโดยสรุปว่า “ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นจะต้องมีเหตุและปัจจัยมาปรุงแต่งให้เกิดขึ้น” (คำว่า ปรุงแต่ง ในที่นี้หมายถึง การร่วมกันทำ) คือหมายถึงว่า “การที่สิ่งใดสิ่งหนึ่งจะเกิดขึ้นมาได้ จะต้องมีเหตุหลายๆเหตุ มาร่วมกันทำให้เกิดขึ้น” (แต่ถ้ามีเพียงเหตุเดียว จะไม่สามารถทำให้เกิดสิ่งใดขึ้นมาได้)

ก่อนอื่นเราจะต้องมาทำความเข้าใจกับคำว่า เหตุ และ ปัจจัย ก่อน คือในบรรดาเหตุหลายๆเหตุนั้น ถ้าเหตุใดใหญ่คือเห็นได้ง่ายหรือสำคัญที่สุดเพียงเหตุเดียว เราจะเรียกว่า “เหตุ” ที่หมายถึง สิ่งที่ทำให้เกิด “ผล” ส่วนเหตุที่เหลือทั้งหมดเราจะเรียกว่า “ปัจจัย” ที่หมายถึง เหตุย่อยๆ หรือ สิ่งที่มาสนับสนุนเหตุ อย่างเช่น แสงเทียนที่เกิดขึ้นมานั้น จะมีเทียนเป็นเหตุ และมีออกซิเจนกับความร้อนเป็นปัจจัยมาปรุงแต่งให้เกิดขึ้น เป็นต้น ซึ่งการที่เราชอบพูดสั้นๆว่า “เหตุทำให้เกิดผล” หรือ “ผลเกิดมาจากเหตุ” นั้น ก็ไม่ค่อยจะถูกต้องนัก เพราะความจริงแล้ว ถ้าจะพูดให้ชัดเจนก็ต้องพูดว่า “เหตุปัจจัยทำให้เกิดผล” หรือ “ผลเกิดมาจากเหตุปัจจัย” ซึ่งก็ขอให้เราเข้าใจจุดนี้เอาไว้ด้วย

มีคำบางคำที่เราควรทำความเข้าใจให้ถูกต้องก่อน ก็คือคำว่า “เกิด” ที่หมายถึง จากเดิมที่สิ่งใดสิ่งหนึ่งยังไม่มีอยู่ก่อน แล้วจึงมามีขึ้นในภายหลัง  และ เมื่อสิ่งที่มีอยู่นั้นได้หายไปในภายหลัง ก็เรียกว่า “ดับ” แต่ถ้าสิ่งใดเกิดขึ้นมาแล้ว แต่ยังไม่ดับหายไปก็เรียกว่า “ตั้งอยู่” (หมายเหตุ. คำว่า “ดับ” นี้ความจริงแล้วสามารถใช้ได้ทั้งกับ “สิ่งที่เป็นวัตถุและจิตใจ” แต่บางทีเราก็จะใช้คำว่า “ดับ” นี้เฉพาะเรื่องทางจิตใจหรือความรู้สึกเท่านั้น ส่วนเรื่องทางวัตถุเรามักจะใช้คำว่า “แตกสลาย” แทน ส่วนร่างกายจะใช้คำว่า “ตาย” ซึ่งก็ขอให้เข้าใจเอาไว้ด้วย จะได้ไม่เข้าใจสับสน)

สังขาร - สิ่งปรุงแต่ง

มีหลักที่เราจำเป็นต้องรู้ในจุดนี้ก่อนก็คือ สิ่งทั้งหลายของธรรมชาตินั้นสรุปได้ ๒ อย่าง คือ สิ่งปรุงแต่ง (สังขาร) กับ สิ่งที่ไม่ปรุงแต่ง (วิสังขาร)

โดย “สิ่งปรุงแต่ง” ก็คือ สิ่งที่ต้องอาศัยสิ่งอื่นมาร่วมกันทำให้เกิดขึ้น โดยสิ่งที่เป็นสิ่งปรุงแต่งนั้นก็คือ ทุกสิ่งทุกอย่างยกเว้น “สิ่งที่ไม่ปรุงแต่ง” ล้วนเป็นสิ่งปรุงแต่งทั้งสิ้น โดยสิ่งปรุงแต่งทั้งหลายนั้น มันจะมีลักษณะให้เราสังเกตได้คือ มันจะมีการ “เกิด” และ “ดับ” ซึ่งเราจะต้องจำลักษณะของสิ่งปรุงแต่งนี้เอาไว้ให้ดี เพื่อที่เราจะได้แยก “สิ่งปรุงแต่ง” กับ “สิ่งที่ไม่ปรุงแต่ง” ให้ออกจากกัน และเมื่อเราแยกสิ่งทั้งสองนี้ออกจากกันได้แล้ว มันก็ง่ายที่เราจะศึกษา “ความจริง” ที่ลึกซึ้งของสิ่งทั้งสองนี้ให้เกิดความเข้าใจได้อย่างถูกต้อง

วิสังขาร - สิ่งไม่ปรุงแต่ง

ส่วน “สิ่งไม่ปรุงแต่ง” นั้นก็คือ สิ่งที่ไม่ต้องอาศัยสิ่งอื่นมาร่วมกันทำให้เกิดขึ้น โดยสิ่งที่ไม่ปรุงแต่งทางวัตถุนั้นก็ได้แก่ “สุญญากาศ” ที่หมายถึง ที่ว่างเปล่าที่ไม่มีอะไรเลยแม้อากาศ ส่วนสิ่งที่ไม่ปรุงแต่งทางจิตใจนั้นก็ได้แก่ “นิพพาน” ที่หมายถึง ความสงบเย็นของจิต

สิ่งที่ไม่ปรุงแต่งนี้จะมีลักษณะให้เราสังเกตได้ก็คือ มันจะ “ไม่มีการเกิดและดับ”  คือมันจะมีการตั้งอยู่หรือมีอยู่ตลอดเวลา แต่สิ่งที่มีอยู่ตลอดเวลานี้บางเวลาจิตของเราอาจจะได้สัมผัสกับมันก็ได้ หรือไม่ได้สัมผัสกับมันก็ได้ ดังนั้นเราจึงอาจจะคิดว่าสิ่งนั้นมันมีการเกิดและดับ แต่แท้จริงมันแล้วไม่ได้มีการเกิดและดับเลย ซึ่งเปรียบเหมือนดวงจันทร์วันเพ็ญที่มีแสงสว่างอยู่ตลอดเวลาทั้งคืน แต่ว่าเมื่อใดที่เมฆหมอกเคลื่อนตัวมาปิดบังแสงของมันเอาไว้ จึงทำให้ตาของเรามองไม่เห็นแสงสว่างของดวงจันทร์ในขณะนั้น แต่เมื่อเมฆหมอกได้เคลื่อนตัวผ่านไป ตาของเราก็จะกลับมามองเห็นแสงสว่างของดวงจันทร์นั้นได้อีก ซึ่งอาการอย่างนี้เราจะบอกว่าแสงสว่างของดวงจันทร์นั้นมีการเกิดและดับไม่ได้ แต่เป็นที่ตาของเราต่างหากที่มันมีการรับรู้หรือสัมผัสกับแสงสว่างได้เป็นครั้งคราว

วิสังขารที่สำคัญที่เราจะต้องทำความเข้าให้ถูกต้องก็คือ นิพพาน ที่แปลว่า เย็น คือหมายถึง ความสงบเย็นของจิต ขณะที่ไม่มีกิเลสครอบงำ (กิเลส หมายถึง สิ่งสกปรก ซึ่งก็ได้แก่ ความพอใจ-ไม่พอใจ-ลังใจ) คือ ตามธรรมชาติแล้วจิตของมนุษย์ทุกคนจะมีความบริสุทธิ์ (คือไม่มีกิเลส) เป็นพื้นฐานอยู่แล้วตลอดเวลา ซึ่งจิตที่บริสุทธิ์นี้ก็จะมีนิพพานหรือความสงบเย็นอยู่ด้วยตลอดเวลาโดยไม่ต้องไปปรุงแต่งให้เกิดขึ้นมา

แต่เมื่อ “จิตของเราไม่ได้รับการสอนให้เกิดปัญญาและไม่ได้รับการอบรมให้เกิดสมาธิ เพื่อมาระวังรักษาความบริสุทธิ์นี้เอาไว้ เมื่อจิตของเราได้สัมผัสกับโลก จึงทำให้จิตของเราเกิดอาการของกิเลสขึ้นมาทันที” แล้วกิเลสมันก็จะทำให้จิตของเราสกปรก (คือเกิดความทุกข์) ซึ่งความสกปรกของจิตนี้เอง ที่ได้มาปิดบังนิพพานหรือความสงบเย็นของจิตเอาไว้ จึงทำให้จิตของเราไม่สามารถสัมผัสกับนิพพานได้ในขณะนั้น แต่เมื่อใดที่กิเลสได้ดับหายไป (แม้เพียงชั่วคราว) นิพพานก็จะกลับมาปรากฏมาให้จิตของเราได้สัมผัสอีกทันที (หมายเหตุ เราจะไม่ใช้คำว่า “เกิด” กับนิพพาน เพราะนิพพานไม่มีการเกิด แต่เราจะใช้คำว่า “ปรากฏ” แทน ซึ่งคำว่า ปรากฏ หมายถึง การที่จิตของเราได้รับรู้หรือสัมผัส)

อัตตา - ตนเอง

มีคำที่เราจำเป็นต้องทำความเข้าใจให้ถูกต้องก่อนที่จะไปศึกษาเรื่องต่อไป ก็คือคำว่า อัตตา ที่แปลว่า ตน หรือ ตนเอง ซึ่งหมายถึง ตัวตนที่แท้จริง ซึ่งตัวตนที่แท้จริงนี้จะมีลักษณะ ๓ ประการให้เราสังเกตได้คือ

๑. อัตตา คือ มีตัวตนเป็นของมันเอง โดยที่ไม่ต้องอาศัยสิ่งอื่นใดมาปรุงแต่งให้เกิดขึ้น

๒. นิจจัง คือ เป็นสิ่งที่เที่ยง หรือ เป็นอมตะ คือจะไม่มีการเกิดและดับ แต่จะมีอยู่หรือตั้งอยู่ตลอดเวลา

๓. สุขัง คือ สุข หรือ สบาย คือหมายถึง ไม่มีปัญหาใดๆมาทำให้เดือดร้อน หรือ เกิดความทุกข์

คำสอนเรื่อง “อัตตา” นี้เป็นคำสอนของศาสนาพราหมณ์ (หรือฮินดู) ซึ่งเป็นศาสนาเก่าแก่ของอินเดีย โดยศาสนาพราหมณ์ในปัจจุบันนั้นเขามีหลักคำสอนว่า “จิต” ของคนและสิ่งที่มีชีวิตทั้งหลายเป็น “อัตตา” คือเป็นตัวตนอมตะที่ไม่วันตายหรือดับหายไปอย่างเด็ดขาด เมื่อร่างกายตาย จิตที่เป็นอมตะนี้ก็จะออกจากร่างกายที่ตายไปแล้วเพื่อไปเกิดยังร่างกายใหม่ๆได้เรื่อยไป ซึ่งความเชื่อนี่เองที่ทำให้เกิดความเชื่อเรื่อง “การเกิดใหม่” หรือการเวียนว่ายตายเกิดทางร่างกาย และเรื่อง สิ่งที่เหนือธรรมชาติ เช่น สิ่งศักดิ์สิทธิ์ เทวดา นางฟ้าฯ (ชนิดที่เป็นตัวตนบุคคล) รวมทั้งเรื่อง นรก สวรรค์ฯ (ชนิดที่เป็นสถานที่) เป็นต้น ขึ้นมา

อนัตตา – ไม่ใช่อัตตา

คำว่า อนัตตา แปลว่า ไม่ใช่อัตตา โดยสิ่งที่เจ้าชายสิทธัตถะทรงค้นพบและทำให้พระองค์ทรงตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าขึ้นมาก็คือทรงค้นพบว่า “ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นมานั้นมันเป็น “สังขาร” (สิ่งปรุงแต่ง) และเป็นอนัตตา (ไม่ใช่อัตตา)” ซึ่งความหมายก็คือ “พระพุทธเจ้าทรงปฏิเสธ หรือ ไม่ยอมรับว่า จิตของคนและสิ่งที่มีชีวิตทั้งหลายเป็นอัตตาตามที่ศาสนาพราหมณ์สอน” และทรงอธิบายว่า “จิตเป็นสิ่งปรุงแต่ง” คือเป็น “สิ่งที่ต้องอาศัยสิ่งอื่นมาเป็นเหตุและปัจจัยมาปรุงแต่งให้เกิดขึ้น” ซึ่งสาเหตุที่พระพุทธเจ้าทรงสอนอย่างนี้ก็เป็นเพราะ จิตของเรานี้ไม่มีลักษณะของอัตตาเลย (เรื่องนี้เราจะได้ศึกษากันในหัวข้อต่อไป)

โดยคำสอนเรื่อง “จิตเป็นอนัตตา” ของพระพุทธเจ้านี้จัดเป็น “หัวใจของปัญญา” ที่พระพุทธเจ้าสอนให้เรานำมาปฏิบัติร่วมกับสมาธิ เพื่อดับทุกข์ตามหลักอริยมรรคของอริยสัจ ๔ ของพระพุทธเจ้า แต่การที่ใครๆจะเข้าใจและยอมรับว่าจิตเป็นอนัตตาได้นั้น มันเป็นเรื่องยาก เพราะการที่จะศึกษาให้เกิดความเข้าใจว่า “จิตเป็นอนัตตา” ได้นั้น จะต้องศึกษาโดยใช้หลักวิทยาศาสตร์เท่านั้น (คือไม่ใช้ความเชื่อใดๆ, ศึกษาจากสิ่งที่มีอยู่จริง, ศึกษาโดยใช้เหตุใช้ผล, ศึกษาอย่างเป็นระบบ, และต้องพิสูจน์จนเห็นผลจริงก่อนยอมรับ) จะใช้ความเชื่อตามตำราหรือตามคำสอนจากคนอื่นไม่ได้

แต่คนทั่วไปที่ขาดการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์มาอย่างเพียงพอ และยังถูกความเชื่อเรื่อง “จิตเป็นอัตตา” ครอบงำจิตใต้สำนึกเอาไว้อย่างมิดชิด เขาย่อมจะไม่ยอมรับเรื่องจิตเป็นอนัตตาตามที่พระพุทธเจ้าสอน ส่วนคนที่จะสามารถศึกษาให้เข้าใจเรื่องจิตเป็นอนัตตาได้ จะต้องเป็นคนที่มีความรู้พื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์เพียงพอ และไม่ยึดติดในความเชื่อเรื่องจิตเป็นอัตตาตามที่ศาสนาพราหมณ์สอน เขาจึงจะสามารถศึกษาเรื่องจิตเป็นอนัตตาให้เกิดความเข้าใจอย่างถูกต้องได้

เมื่อพระพุทธเจ้าทรงไม่ยอมรับว่าจิตเป็นอัตตา ดังนั้นก็หมายถึงว่า คำสอนเรื่อง “การเกิดใหม่ทางร่างกาย” รวมทั้งเรื่อง “สิ่งที่เหนือธรรมชาติ” ทั้งหลาย เช่น สิ่งศักดิ์สิทธิ์ เทวดา นางฟ้าฯ (ชนิดที่เป็นตัวตนบุคคล) รวมทั้ง นรก สวรรค์ฯ (ชนิดที่เป็นสถานที่) เป็นต้น นั้น ไม่ใช่คำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้า

แต่ภายหลังที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้วไม่นาน คำสอนเรื่องจิตเป็นอัตตาของศาสนาพราหมณ์นั้น ก็ได้ถูกนำเข้ามาเป็นคำสอนของพุทธศาสนาในระดับศีลธรรม และได้สืบทอดมาจนถึงเราในปัจจุบัน ซึ่งก็ขอให้เราเข้าใจจุดนี้เอาไว้ด้วยเพื่อที่จะได้มีความเห็นหรือความเข้าใจที่ถูกต้องมาตั้งแต่เริ่มต้น อันจะทำให้การศึกษาของเราต่อไปทั้งหมดถูกต้องตามไปด้วย แต่ถ้าเรามีความเห็นหรือความเข้าใจผิดว่า “จิตเป็นอัตตา” ก็จะทำให้เราเกิดความเข้าใจหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าผิดมาตั้งแต่ต้น แล้วก็จะทำให้การศึกษาต่อไปของเราทั้งหมด พลอยผิดเพี้ยนไปด้วยโดยไม่รู้ตัว

กฏอิทัปปัจจยตา

กฎสูงสุดของธรรมชาตินี้ พุทธศาสนาเรียกว่า “กฏอิทัปปัจจยตา” ที่หมายถึง กฎการอาศัยปัจจัยแล้วเกิดขึ้น ซึ่งใจความโดยละเอียดของกฎอิทัปปัจจยตาก็คือ “เมื่อสิ่งนี้ๆมี สิ่งนี้จึงมี, เมื่อสิ่งนี้ๆเกิดขึ้น สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น, เมื่อสิ่งนี้ๆไม่มี สิ่งนี้จึงไม่มี, เมื่อสิ่งนี้ๆดับไป สิ่งนี้จึงดับไป” แต่เมื่อสรุปเนื้อหาของกฎอิทัปปัจจยตานี้แล้วก็จะได้ว่า “ทุกสิ่งที่เกิดขึ้น จะต้องมีเหตุและปัจจัยมาปรุงแต่งให้เกิดขึ้น” หรือ “ไม่มีสิ่งใดที่จะเกิดขึ้นมาได้เองลอยๆโดยไม่มีเหตุและปัจจัยมาปรุงแต่งให้เกิดขึ้น”

โดยทุกสิ่งที่เกิดขึ้นมาจากเหตุและปัจจัยตามกฏอิทัปปัจจยตานี้ เราจะเรียกว่าเป็น “สิ่งปรุงแต่ง” ที่หมายถึง สิ่งที่เกิดขึ้นมาจากเหตุและปัจจัยมาปรุงแต่งให้เกิดขึ้น ซึ่งเรื่อง “สิ่งปรุงแต่ง” นี้ เป็นเรื่องสำคัญมาก ที่เราจะต้องตั้งใจศึกษาให้เกิดความเข้าใจอย่างถูกต้องก่อนเป็นอันดับแรก เพราะความรู้เรื่องสิ่งปรุงแต่งนี้ จะทำให้เราเข้าใจคำสอนเรื่อง “จิตเป็นอนัตตา” อันเป็นหัวใจของคำสอนทั้งหมดของพระพุทธเจ้าได้ แต่ถ้าเรายังไม่เข้าใจเรื่อง “สิ่งปรุงแต่ง” นี้เพียงอย่างเดียว เราก็จะไม่สามารถศึกษาให้เกิดความเข้าใจคำสอนทั้งหมดของพระพุทธเจ้าได้

ถ้าเรานำเอากฎสูงสุดของธรรมชาตินี้ มาพิจารณาสิ่งต่างๆของธรรมชาติอย่างละเอียดถี่ถ้วน เราก็จะพบกับความจริงว่า การที่ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นมาในชีวิตของเรานี้ เช่น รูปร่างหน้าตา จิตใจ นิสัย หรือความสุข ความทุกข์ ความดี ความชั่ว ความเจริญ ความเสื่อม เป็นต้น ก็ล้วนเกิดขึ้นมาจากเหตุและปัจจัยตามกฎสูงสุดของธรรมชาตินี้ทั้งสิ้น และไม่ว่าจะเป็นสิ่งใดในโลกและในจักรวาล ก็ล้วนเกิดขึ้นมาจากเหตุและปัจจัยตามกฎสูงสุดของธรรมชาตินี้ทั้งสิ้นเหมือนกัน ซึ่งความรู้เรื่องกฎสูงสุดของธรรมชาตินี้เอง ที่เป็นพื้นฐานสำคัญที่จะนำเราไปสู่การศึกษาเพื่อให้เกิด “ปัญญา” ที่เป็น “ความรู้แจ้งชีวิตและโลกตามความเป็นจริง” ได้

กฎไตรลักษณ์

ไตรลักษณ์ แปลว่า ลักษณะ ๓ ประการของ “สิ่งปรุงแต่ง” ทั้งหลาย โดยสิ่งปรุงแต่งทั้งหลาย ที่เกิดขึ้นมาตาม “กฎอิทัปปัจจยตา” นั้น จะมีลักษณะ ๓ ประการอยู่ในสิ่งปรุงแต่งทั้งหลายนั้นด้วย ซึ่งลักษณะทั้ง ๓ ประการนั้นก็ได้แก่

๑. อนิจจัง แปลว่า ไม่เที่ยง คือหมายถึง ความที่มันไม่นิ่ง คือเมื่อเหตุและปัจจัยได้ปรุงแต่งได้เกิดสิ่งใดสิ่งใดสิ่งหนึ่งขึ้นมาแล้ว สิ่งนั้นจะมีการเปลี่ยนแปลงหรือเสื่อมสภาพอยู่ภายในตลอดเวลา รวมทั้งสิ่งปรุงแต่งนั้นจะไม่สามารถตั้งอยู่ในสภาพนั้นได้ตลอดไปชั่วนิรันดร (คือไม่เป็นอมตะ) เพราะไม่ช้าก็เร็ว สิ่งปรุงแต่งทั้งหลายก็ต้องแตกสลาย (ใช้กับวัตถุ) หรือดับหายไป (ใช้กับจิต) อย่างแน่นอน (สรุปก็คือ เมื่อมีเกิดก็ต้องมีดับ ถ้าสิ่งเกิดแล้วไม่ดับ สิ่งนั้นก็จะเป็นนิจจัง)

๒. ทุกขัง แปลว่า ทน หรือ ต้องทน คือหมายถึงว่า สิ่งปรุงแต่งทั้งหลายนั้น มันมีภาวะที่ต้องทนประคับประคองสภาพ “การปรุงแต่ง” ของมันเอาไว้ด้วยความยากลำบากอยู่ลอดเวลา (บางสิ่งก็ทนได้ยาก บางสิ่งก็ทนได้ง่าย) ซึ่งภาวะที่ต้องทนนี้ก็มีทั้ง ความยากลำบากในการแสวงหาเหตุและปัจจัยมาปรุงแต่งตัวมันเอง, และต้องทนต่อความเปลี่ยนแปลงภายในของมันเองอยู่ตลอดเวลา, รวมทั้งยังต้องทนต่อการทำลายจากสิ่งภายนอกให้แตกสลายหรือดับหายไปอีกด้วย (ถ้าสิ่งใดเกิดขึ้นมาแล้วมีแต่ความสุขสบายโดยไม่มีภาวะที่ต้องทน สิ่งนั้นก็จะมีความเป็นสุขัง)

๓. อนัตตา แปลว่า ไม่ใช่อัตตา คือหมายถึงว่า สิ่งปรุงแต่งทั้งหลายนั้น เมื่อมันเกิดขึ้นมาจากเหตุและปัจจัยมาปรุงแต่งให้เกิดขึ้น ดังนั้นจึงเท่ากับว่า “สิ่งปรุงแต่งทั้งหลายที่เกิดขึ้นมานั้นมันไม่ได้เป็นอัตตา” หรือ ไม่ได้เป็นตัวตนที่แท้จริง (ถ้ามันเป็นตัวตนที่แท้จริง มันจะไม่ต้องอาศัยสิ่งอื่นใดมาปรุงแต่งให้เกิดตัวตนของมันขึ้นมา) ซึ่งสิ่งปรุงแต่งทั้งหลายที่เกิดขึ้นมานี้เราจะเรียกว่าเป็น “ตัวตนสมมติ” (คือสมมติว่าเป็นอัตตา) หรือ “ตัวตนมายา” (คือมันหลอกว่าเป็นอัตตา) หรือเป็น “ตัวตนชั่วคราว” (คือมันไม่ได้เป็นอมตะ)

ความรู้เรื่องสิ่งปรุงแต่งทั้งหลายเป็นอนิจจัง ทุกขัง และอนัตตานี้เอง ที่พระพุทธเจ้าสอนให้เรานำเอาความรู้นี้มาพิจารณาร่างกายและจิตใจ (ขันธ์ ๕) ของเราเองอย่างละเอียดถี่ถ้วน ก็จะทำให้เราเกิดปัญญาขั้นเข้าใจ (จินตามยปัญญา) ขึ้นมา และเมื่อเรานำเอาความเข้าใจนี้มาพิจารณาดูที่ร่างกายและจิตใจของเราเองรวมทั้งของคนอื่นด้วยความตั้งใจอย่างที่สุด (คือด้วยสมาธิ) ก็จะทำให้กิเลส (คือความพอใจ-ไม่พอใจ-ลังเลใจ) ที่เป็นสาเหตุของความทุกข์ (คือความเศร้าโศก) ระงับหรือดับลงทันที (แม้เพียงชั่วคราว) เมื่อจิตไม่มีกิเลส ความทุกข์ก็จะไม่มี (แม้เพียงชั่วคราว) เมื่อจิตไม่มีความทุกข์ มันก็จะนิพพานหรือสงบเย็นทันที (แม้เพียงชั่วคราว) ซึ่งนี่ก็คือการเกิดปัญญาขั้นเห็นแจ้ง (ภาวณามยปัญญา) ขึ้นมาแล้ว ซึ่งปัญญาขั้นเห็นแจ้งนี้เองที่เป็นปัญญาสูงสุดของพุทธศาสนาตามหลักอริยสัจ ๔ ของพระพุทธเจ้า

สุญญตา - ความว่าง

สุญญตา แปลว่า ความว่างเปล่า คือหมายถึงว่า สิ่งปรุงแต่งทั้งหลายนั้น มันไม่ได้มีอัตตาหรือตัวตนที่แท้จริงเป็นของมันเองเลย คือถ้าเราเอา “ร่างกายกับจิตใจ” ของเรามาพิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วนถึง “เหตุและปัจจัย” ที่มาปรุงแต่งให้เกิดขึ้น เราก็จะพบกับความจริงว่ามันเป็น “อนัตตา” (คือไม่ใช่อัตตา) และเมื่อเรานำเอาความเป็นอนัตตานี้มาเพ่งพิจารณาต่อไปด้วยสมาธิ เราก็จะพบกับความจริงสูงสุดว่า ร่างกายกับจิตใจของเรานี้มันเป็น “สุญญตา” คือ “ไม่ได้มีตัวเราที่แท้จริงอยู่ในร่างกายและจิตใจนี้เลย” ซึ่งความจริงสูงสุดนี้เองที่เป็น “ปัญญา” สำหรับมาใช้ดับทุกข์ตามหลักอริยสัจ ๔ ของพระพุทธเจ้า

ครั้งหนึ่งได้มีผู้ไปทูลถามพระพุทธเจ้าว่า “ทำอย่างไรมัจจุราช (คือความตาย) จึงจะตามหาเราไม่พบ? (คือหมายถึงว่า ทำอย่างไรเราจึงจะไม่เป็นทุกข์เพราะเรื่องความตาย) ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงตรัสตอบว่า “ให้มองโลกโดยเห็นเป็นของว่างเปล่า แล้วปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งทั้งปวงว่าเป็นตัวเรา-ของเราเสีย แล้วมัจจุราชจะตามหาเราไม่พบ” ซึ่งนี่ก็คือการสอนอริยสัจ ๔ โดยสรุป โดยมีหัวใจอยู่ที่ความรู้เรื่อง “สุญญตา” นั่นเอง ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องมาศึกษาเรื่อง “อนัตตา” และ “สุญญตา” นี้ให้เข้าใจอย่างถูกต้องและขัดเจน เพื่อที่จะได้นำความรู้นี้มาใช้ดับทุกข์ของจิตใจ (คือความเศร้าโศก) ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นสิ่งที่หวาดกลัวอย่างที่สุดกันต่อไป

ร่างกายกับจิตใจ

คำส่า ขันธ์ แปลว่า กอง, กลุ่ม, ส่วน ซึ่งชีวิตของคนเรานี้จะประกอบด้วยส่วน ๕ ส่วน อันได้แก่

๑. รูป คือ ร่างกาย ที่เกิดขึ้นมาจากธาตุ ๔ คือ ธาตุดิน (ของแข็ง), ธาตุน้ำ (ของเหลว), ธาตุไฟ (ความร้อน), ธาตุลม (ก๊าซ) ซึ่งร่างกายที่ยังดีอยู่ จะมีสิ่งที่ใช้เชื่อมต่อกับโลก (ธรรมชาติ) อยู่ ๖ อย่าง คือ ตา, หู, จมูก, ลิ้น, กาย, และใจ ที่เอาไว้เชื่อมต่อกับธรรมชาติภายนอก ๖ อย่าง อันได้แก่ รูป, เสียง, กลิ่น, รส, สิ่งที่มาสัมผัสกาย, สิ่งที่มาสัมผัสใจ

๒. วิญญาณ คือ การรับรู้ ที่เกิดขึ้นที่ ตา, หู จมูก, ลิ้น, กาย, ใจ (สมอง) ของเรา เช่น เมื่อตาได้กระทบกับรูป ก็จะเกิดการเห็นรูปขึ้นมาที่ตาทันที (คือเกิดวิญญาณทางตา) หรือเมื่อมีเสียงมากระทบหู ก็จะเกิดการได้ยินเสียงขึ้นมาที่หูทันที (คือเกิดวิญญาณทางหู) เป็นต้น (วิญญาณนี้นักวิทยาศาสตร์บอกว่ามันคือไฟฟ้าอ่อนๆที่เกิดขึ้นในร่างกายของสิ่งมีชีวิตที่ยังไม่ตาย)

๓. สัญญา คือ การจำสิ่งที่รับรู้ได้ คือเมื่อเกิดการรับรู้สิ่งใดขึ้นมาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เมื่อใดก็จะเกิด “การจำสิ่งที่รับรู้นั้นได้” ขึ้นมาด้วยทันทีว่าเป็นอะไรและมีรายละเอียดหรือมีความหมายอย่างไร เช่น จำได้ว่ารูปที่เห็นนั้นเป็นอะไรและมีเรื่องราวเป็นอย่างไร หรือจำได้ว่าเสียงที่ได้ยินนั้นเป็นเสียงของอะไรและมีความหมายอย่างไร เป็นต้น

๓. เวทนา คือ ความรู้สึกต่อสิ่งที่รับรู้และจำได้ คือเมื่อเกิดการรับรู้สิ่งใดและจำสิ่งที่รับรู้นั้นได้ขึ้นมาแล้ว ก็จะเกิด “ความรู้สึกต่อสิ่งที่รับรู้และจำได้นั้น” ขึ้นมาด้วยทันที ซึ่งเวทนานี้ก็เกิดขึ้นมาได้ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แต่เวทนาทั้งหลายนี้ สามารถสรุปได้ ๓ กลุ่ม คือ

(๑) สุขเวทนา คือ ความรู้สึกที่ทนได้ง่าย หรือ ทนได้สบาย หรือที่เราชอบเรียกกันว่า “ความสุข”

(๒) ทุกขเวทนา คือ ความรู้สึกที่ทนได้ยาก หรือ ทนได้ลำบาก ซึ่งทุกขเวทนานี้จะยังไม่เรียกว่าเป็น “ความทุกข์” ที่พระพุทธเจ้าสอน จนกว่ามันจะเป็นทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นทางใจที่รุนแรงมาก (คือทำให้เราเกิดความเศร้าโศก) จึงจะเรียกว่าเป็นความทุกข์ตามที่พระพุทธเจ้าสอนไว้ในหลักอริยสัจ ๔

(๓) อทุกขมสุขเวทนา คือ ความรู้สึกที่ไม่ใช่ทั้งสุขเวทนาและทุกขเวทนา คือมันเป็นความรู้สึกกลางๆระหว่างสุขเวทนากับทุกขเวทนา หรือจะเรียกว่าเป็นความรู้สึกจืดๆก็ได้

เรื่องเวทนานี้เป็นเรื่องที่สำคัญที่เราจะต้องทำความเข้าใจให้ถูกต้อง เพราะเวทนานี้มันเป็นสิ่งที่มายั่วยวนหรือกระตุ้นให้จิตเกิดกิเลส (คือความพอใจ-ไม่พอใจ-ลังเลใจ) ซึ่งกิเลสนี้เองที่พระพุทธเจ้าสอนว่ามันเป็นเหตุให้จิตของเราเกิดความทุกข์ (ความเศร้าโศก, ความหนัก-เหนื่อยใจ, ความรู้สึกรำคาญใจ)

โดยเวทนาทั้ง ๓ นี้ถ้าจะเปรียบให้เข้าใจได้ง่ายก็ได้ว่า สุขเวทนาก็เปรียบเหมือนน้ำรสหวาน (ที่เราชอบหรือพอใจ) ส่วนทุกขเวทนาก็เปรียบเหมือนน้ำรสขม (ที่เราไม่ชอบหรือเกลียด) ส่วนอทุกขมสุขเวทนาก็เปรียบเหมือนน้ำรสจืด (ที่เราเฉยๆกับมัน) ซึ่งเวทนาทั้งหลายนี้นักวิทยาศาสตร์บอกว่ามันก็คือสารเคมี ที่สมองของเรามันหลั่งออกมาเมื่อจิตได้รับรู้โลกและจากการคิดของจิต คือถ้าคิดดี สมองก็จะหลั่งสารเคมีที่ทำให้เกิดสุขเวทนา (ความสุข) ขึ้นมา แต่ถ้าคิดชั่ว สมองก็จะหลั่งสารให้เกิดทุกขเวทนาขึ้นมา

๔. สังขาร คือ ปฏิกิริยาของจิต หรือ การปรุงแต่งของจิต คือเมื่อเกิดเวทนาใดขึ้นมาแล้ว ถ้าขณะนี้เราไม่มี “สติ-ปัญญา-สมาธิ” ที่มาระวังจิตไม่ให้เกิดกิเลส (คือความพอใจ-ไม่พอใจ-ลังเลใจ) จึงทำให้จิตเกิดอาการของกิเลสขึ้นมาทันทีตามอำนาจของเวทนาที่มายั่วยวน คือเกิด “ความพอใจต่อสุขเวทนา” และเกิด “ความไม่พอใจต่อทุกขเวทนา” รวมทั้งเกิด “ความลังเลใจต่ออทุกขมสุขเวทนา” อีกทั้งการคิดพิจารณาไตราตรอง และ ความตื่นเต้น ของจิต ก็จัดเป็น “สังขาร” ด้วยเหมือนกัน

ขันธ์ทั้ง ๕ นี้สรุปเรียกว่า “นามรูป” ที่หมายถึง ร่างกาย กับ จิตใจ (จิตใจหมายถึง สิ่งที่รู้สึกนึกคิดได้) ซึ่งร่างกายกับจิตใจนี้เองที่รวมตัวกันเป็น “ชีวิต” ของเราขึ้นมา แต่ถ้าแยกกันเมื่อใด ร่างกายกับจิตใจ ก็จะแตกสลายและดับหายไปด้วยกันทั้งคู่ทันที (แต่คนที่เข้าใจว่าจิตเป็นอัตตา เขาก็จะบอกว่าร่างกายกับจิตใจนี้สามารถแยกออกจากกันได้)

การศึกษาเรื่องขันธ์ ๕ นี้เป็นเรื่องจำเป็นมาก เพราะการที่เราจะเกิด “ปัญญา” ที่รู้แจ้งโลกและชีวิตตามความเป็นจริงได้ เราจะต้องนำเอาขันธ์ ๕ ของเรามาพิจารณาว่า แต่ละขันธ์มันอาศัยเหตุอะไรมาปรุงแต่งให้เกิดขึ้น และมันจะดับหายไปเพราะขาดเหตุอะไร ซึ่งการพิจารณาหาเหตุและผลอย่างละเอียดเช่นนี้เอง ที่จะทำให้เราเกิด “ปัญญา” ที่เข้าใจว่า ขันธ์ ๕ ของเรานี้มันเป็น อนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา ตามที่พระพุทธเจ้าสอนเอาไว้ได้อย่างถูกต้อง ซึ่งปัญญานี้เองที่พระพุทธเจ้าสอนให้เรานำเอามาปฏิบัติร่วมกับสมาธิ เพื่อดับทุกข์ตามหลักอริยสัจ ๔ ของพระพุทธเจ้า

การพิจารณาร่างกาย

จุดแรกที่เราจะต้องมาพิจาณาก็คือ ให้เรามาตั้งใจดูที่ร่างกายของเรา ก็จะทำให้เราพบความจริงว่า ร่างกายของเราก็มันมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และ สุดท้ายไม่ช้าก็เร็ว สภาพการปรุงแต่งของร่างกายเราก็ต้องแตกสลาย (ตาย) หรือหายไปอย่างแน่นอน ซึ่งนี่ก็แสดงถึงความจริงว่าร่างกายของเรานี้มันเป็น “อนิจจัง” คือไม่เที่ยง

อีกอย่างร่างกายของเราขณะที่ยังไม่ตาย มันก็ยังต้องทนต่อความหิว ความกระหาย ความหนาว ความร้อน และโรค-ภัยต่างๆมากมายอยู่ตลอดเวลา (ถ้าภาวะที่ต้องทนมีมาก ก็เรียกว่าความลำบากกาย แต่ถ้ามีน้อยก็เรียกว่าความสบายกาย) ซึ่งนี่ก็แสดงถึงความจริงว่า ร่างกายของเรานี้มีลักษณะของ “ทุกขัง” คือ ต้องทนอยู่อย่างยากลำบาก

รวมทั้ง ร่างกายนี้ต้องอาศัยอาหาร, น้ำ, ความร้อน, อากาศ มาปรุงแต่งให้เกิดขึ้น ซึ่งนี่ก็แสดงถึงความจริงว่า ร่างกายของเรานี้มันเป็น “อนัตตา” คือไม่ใช่อัตตาหรือตัวตนที่แท้จริง (ถ้าร่างกายมันไม่ต้องอาศัยอาหาร, น้ำ, ความร้อน, อากาศ มาปรุงแต่งให้เกิดขึ้น มันจึงจะเป็นอัตตาหรือตัวตนที่แท้จริง)

ที่สำคัญก็คือ ถ้าเราพิจารณาถึง “ความเป็นอนัตตา” ของร่างกายต่อไปอย่างละเอียดลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น ก็จะทำให้เราเกิดเข้าใจถึงความจริงสูงสุดว่า ร่างกายนี้มันเป็น “สุญญตา” คือ ไม่ได้มีร่างกายจริงๆอยู่เลย ส่วนร่างกายที่มีอยู่นี้ มันก็เป็นเพียง “ร่างกายชั่วคราว” (คือไม่ถาวร) หรือ “ร่างกายมายา” (คือหลอกลวงว่าเป็นของจริง) หรือ “ร่างกายสมมติ” (คือเป็นการสมมติเรียกเพื่อใช้ในการสื่อสารให้คนอื่นเข้าใจ) เท่านั้น

การพิจารณาจิตใจ

จุดสำคัญที่เราต้องพิจารณาก็คือ จิต (หรือใจ) คือ ให้เรามาตั้งใจดูที่จิตของเราเองจริงๆ เราก็จะพบความจริงว่า จิตนี้มันมีการเกิดและดับอยู่เสมอๆในชีวิตประจำวันของเรา คือเมื่อเราตื่น จิตก็จึงจะ “เกิด” ขึ้นมา แต่เมื่อเราหลับสนิทและไม่ฝัน (หรือสลบ) จิตก็จะ “ดับ” หรือไม่มี ซึ่งนี่คือลักษณะของอนิจจัง (ความไม่เที่ยง) ของจิต (ถ้าจิตไม่มีการเกิดและดับ มันจึงจะเป็นนิจจัง)

รวมทั้งเมื่อจิตเกิดกิเลสขึ้นมาเมื่อใด จิตก็จะเกิดความทุกข์ขึ้นมาทันที่ (คือความหนักเหนื่อยใจ, ความเศร้าโศกเสียใจ, ความรู้สึกรำคาญใจฯ) ซึ่งนี้ก็คือลักษณะของทุกขัง (คือภาวะที่ต้องทน) ของจิต (ถ้าจิตไม่มีความทุกข์ใดๆเลยมันจึงจะเป็นสุขัง)

ที่สำคัญที่สุดก็คือ ให้เราเอาจิต “ที่รู้สึกว่าเป็นตัวเรานี้” มาพิจารณาถึงเหตุและปัจจัยที่มาปรุงแต่งให้เกิดขึ้น เราก็จะพบความจริงว่า “จิตเกิดจากร่างกายที่ยังไม่ตายมาปรุงแต่งให้เกิดขึ้น ถ้าไม่มีร่างกายที่ยังไม่ตาย ก็จะไม่มีจิต” ซึ่งนี่ก็แสดงถึงความจริงว่า จิตที่รู้สึกว่าเป็น “ตัวเรา” นี้มันเป็นเพียง “สิ่งปรุงแต่ง” ที่ธรรมชาติปรุงแต่งขึ้นมาตามกฎสูงสุดของธรรมชาติเท่านั้น ซึ่งธรรมชาติของสิ่งปรุงแต่งทั้งหลาย ก็ต้องเป็น “อนัตตา” (คือไม่ใช่อัตตา) ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า “จิตที่มันรู้สึกว่าเป็นตัวเรานี้มันเป็นอนัตตา” (ถ้าจิตจะไม่ต้องอาศัยร่างกายเพื่อเกิดขึ้นมา มันจึงจะเป็นอัตตา)

รวมทั้งถ้าเราจะพิจารณาจิตถึงความเป็นอนัตตาต่อไปอย่างละเอียดลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น ก็จะทำให้เราเกิดเข้าใจถึงความจริงสูงสุดว่า จิตนี้มันเป็น “สุญญตา” คือ “ไม่ได้มีตัวเราจริงๆอยู่ในจิตนี้เลย” ส่วนจิตที่รู้สึกว่าเป็นตัวเรานี้ มันก็เป็นเพียง “ตัวเราชั่วคราว” (คือไม่ถาวร) หรือ “ตัวเรามายา” (คือหลอกลวงว่าเป็นของจริง)  หรือ “ตัวเราสมมติ” (คือเป็นการสมมติเรียกเพื่อใช้ในการสื่อสารให้คนอื่นเข้าใจ) เท่านั้น

พระพุทธเจ้าทรงค้นพบว่าจิตเป็นอนัตตา

ตามธรรมชาติของมนุษย์นั้น ย่อมจะมีความพึงพอใจในความสุข แต่กลัวความทุกข์ (ความเศร้าโศก) โดยเฉพาะ “ความทุกข์จากความพลัดพรากจากบุคคลหรือสิ่งอันเป็นที่รัก” และ “ความทุกข์จากความตาย” นั้น เป็นความทุกข์ที่น่าหวาดกลัวอย่างที่สุดของมนุษย์ทุกคน ซึ่งมนุษย์ทุกยุคทุกสมัยก็พยายามค้นหาวิธีการปฏิบัติเพื่อที่จะได้ไม่มีความทุกข์นี้ เพราะเขาก็เข้าใจดีว่า ถ้าใครสามารถมีชีวิตที่ไม่มีความทุกข์ได้ตลอดชีวิต (คือมีชีวิตที่ไม่เศร้าโศก) ผู้นั้นก็เท่ากับว่าเขาได้รับสิ่งสูงสุด (คือมีคุณค่าหรือประโยชน์สูงสุด) ที่คู่ควรกับชีวิตแล้ว

โดยเฉพาะประเทศอินเดียในยุคพุทธกาล ก็ได้มีฤๅษีและนักบวชจำนวนมาก พยายามค้นหาวิธีการปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์นี้กันอยู่ทั่วไปในป่า จนทำให้เกิดมีเจ้าลัทธิที่มีชื่อเสียงเกิดขึ้นมามากมาย ที่สอนวิธีการปฏิบัติเพื่อให้จิตหลุดพ้นจากความทุกข์ โดยเขาจะเรียกความไม่มีทุกข์นี้ว่า นิพพาน ที่แปลว่า เย็น ซึ่งก็หมายถึง ความดับสิ้นไปของความทุกข์

โดยวิธีการปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ของเจ้าลัทธิในยุคนั้นเกือบทั้งหมดจะเน้นไปที่เรื่อง การทรมานร่างกายและการฝึกจิตให้มีสมาธิสูงๆ แต่ก็ยังไม่มีใครค้นพบวิธีการปฏิบัติเพื่อให้จิตไม่มีความทุกข์ (หรือนิพพาน) อย่างถาวรได้ จะทำได้ก็เพียงชั่วคราวเท่านั้น ซึ่งสาเหตุที่ทำให้เจ้าลัทธิในยุคนั้นยังไม่มีใครค้นพบวิธีการดับทุกข์อย่างถาวรได้นั้นก็เป็นเพราะ ในยุคนั้นเป็นยุค “อุปนิสัตว์” คือเป็นยุคที่ผู้คนมีความเชื่อกันว่า “จิตของมนุษย์และสิ่งที่มีชีวิตทั้งหลายนั้นเป็นอัตตา”

จนกระทั่งเจ้าชายสิทธัตถะได้ทรงออกผนวชเพื่อค้นหาวิธีการดับทุกข์เหมือนฤๅษีและนักบวชทั้งหลายในยุคนั้น และได้ทรงเข้ามาทดลองศึกษาวิธีการดับทุกข์จากเจ้าลัทธิที่มีชื่อเสียงของยุคนั้น รวมทั้งได้ทรงทดลองปฏิบัติตามวิธีการดับทุกข์ที่ได้ศึกษามาอย่างเคร่งครัด แต่ก็ยังไม่ทรงค้นพบวิธีการดับทุกข์อย่างถาวรได้ จึงทำให้พระองค์ทรงล้มเลิกการปฏิบัติตามที่ได้ศึกษามาจากเจ้าลัทธิของยุคนั้นจนหมดสิ้น แล้วทรงกลับมาคิดค้นวิธีการดับทุกข์ใหม่ด้วยพระองค์เอง

โดยพระองค์ทรงพิจารณาเห็นว่า การปฏิบัติตามความเชื่อของผู้คนในยุคนั้นไม่สามารถดับทุกข์ได้จริง ดังนั้นพระองค์จึงทรงเปลี่ยนมาปฏิบัติสวนทางกับความเชื่อของผู้คนในยุคนั้น โดยการใช้วิธีสังเกตธรรมชาติทุกอย่างตามความเป็นจริง จึงทำให้พระองค์ทรงค้นพบความจริงว่า สิ่งสูงสุดที่ดลบันดาลให้ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปนั้นไม่ใช่เทพเจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ใดๆ แต่ว่าเป็น “กฏของธรรมชาติ” (คือกฎที่บังคับว่า “ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นจะต้องมีเหตุและปัจจัยมาปรุงแต่งให้เกิดขึ้น”) และเมื่อทรงค้นพบกฎของธรรมชาตินี้แล้ว ก็ทำให้พระองค์ทรงค้นพบว่า  จิตของพระองค์เองและของทุกชีวิตก็ล้วนเป็น “สิ่งปรุงแต่ง” ด้วยกันทั้งนั้น  และนี่ก็ทำให้พระองค์ทรงเข้าใจได้ทันทีว่า “จิตเป็นอนัตตา” (คือไม่ได้เป็นอัตตาตามที่คนทั่วไปในยุคนั้นเขาเชื่อกันอยู่) ซึ่งการค้นพบนี้เองที่ทำให้จิตของเจ้าชายสิทธัตถะเปลี่ยนจากภาวะของปุถุชนมาเป็น “พุทธะ” ที่หมายถึง ภาวะที่ “ตื่นรู้” คือหายโง่ หรือเป็น “ผู้รู้แจ้งชีวิตและโลกตามความเป็นจริง” ขึ้นมาทันที (หมายเหตุ. เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะทรงมีเชื้อกษัตริย์และเป็นนักบวชรวมทั้งเป็นพุทธะด้วย เราจึงได้เรียกพระองค์ด้วยความยกย่องว่า “พระพุทธเจ้า”)

อัตตา-อนัตตา-นิรัตตา

สิ่งที่ต้องระวังในการศึกษาเรื่อง อนัตตา ก็คือ อย่ามีความเห็นสุดโต่งไปทางใดทางหนึ่งอย่างสุดเหวี่ยง คือคำว่า “อัตตา” แปลว่า ตัวตนที่แท้จริง (หรือตัวตนอมตะ) ส่วนคำว่า “นิรัตตา” หมายถึง ไม่มีตัวตนใดๆเลย ซึ่งความเห็นหรือความเข้าใจทั้งสองนี้ จัดเป็นความเห็นผิดจากความเป็นจริงของธรรมชาติ เพราะเป็นความเห็นที่สุดโต่งไปในทาง “มี” กับ “ไม่มี” ซึ่งความเห็นทั้งสองนี้ก็คือ ความเห็นว่า “จิตเป็นตัวตนอมตะ” กับความเห็นว่า “จิตไม่มีตัวตนใดๆเลย”

โดยความเห็นว่า จิตเป็นตัวตนอมตะ ที่สามารถออกจากร่างกายที่ตายไปแล้วเพื่อไปเกิดในร่างกายใหม่ๆได้เรื่อยไป (ตามหลักคำสอนของศาสนาพราหมณ์) นั้นจัดว่าเป็น “ความเห็นที่สุดโต่งไปในทางมีของจริงแท้” ซึ่งของจริงแท้จะมีลักษณะเป็นอมตะ (คือไม่มีวันดับหายไปอย่างเด็ดขาด) ซึ่งความเห็นนี้ก็เป็นแค่ความเชื่อที่ไม่มีใครพิสูจน์ให้เห็นจริงได้ และไม่มีเหตุที่สมเหตุสมผล มาอธิบายให้เราเข้าใจได้ตามหลักวิทยาศาสตร์ แต่ความเชื่อนี้ก็ยังมีส่วนดีตรงที่ ทำให้คนไม่ทำความชั่วแต่จะทำความดี ซึ่งก็จะทำให้คนที่มีความเชื่อเช่นนี้ จะเป็นคนดีของสังคมและช่วยให้สังคมสงบสุขได้ แต่ก็มีผลเสียคือไม่ทำให้เกิดปัญญาสำหรับนำมาใช้ดับทุกข์ตามหลักอริยสัจ ๔ ของพระพุทธเจ้าได้

ส่วนความเห็นว่า “จิตไม่มีตัวตนใดๆเลย” นั้นเป็นหลักความเชื่อของบางลัทธิในสมัยพุทธกาล ที่มีความเห็นที่สุดโต่งไปในทางว่า “ไม่มีตัวตนใดๆเลยในร่างกายและจิตใจ” ของทุกชีวิต ซึ่งคนที่มีความเห็นเช่นนี้ จะไม่เชื่อเรื่องการเกิดใหม่และไม่ยอมรับว่าการกระทำใดๆจะมีผล เช่น การทำดีก็ไม่มีผลดีใดๆเลย และการทำชั่วก็ไม่มีผลใดๆเลย, พ่อแม่ไม่มีพระคุณ, ผู้บริสุทธิ์จากกิเลสไม่มี เป็นต้น ซึ่งคนที่มีความเชื่อเช่นนี้มักจะไม่ชอบทำความดีและจะแสวงหาความสุขไปวันๆ โดยไม่สนใจว่าจะผิดศีลธรรมหรือไม่ ซึ่งคนเช่นนี้เองที่ทำให้สังคมเดือดร้อนวุ่นวาย อีกทั้งความเห็นนี้ก็ไม่ทำให้เกิดปัญญาสำหรับนำมาใช้ดับทุกข์ตามหลักอริยสัจ ๔ ของพระพุทธเจ้าได้

 ส่วนความเห็นว่า “จิตเป็นอนัตตา” นั้นก็คือความเห็นว่า จิตมันก็มีตัวตนอยู่เหมือนกัน แต่เป็นเพียง “ตัวตนชั่วคราว” เท่านั้น คือมันก็ยังมีตัวตนอยู่ตราบเท่าที่เหตุและปัจจัยของมันยังมีอยู่ แต่ถ้าเหตุหรือปัจจัยของมันไม่มี ตัวตนของมันก็จะไม่มี ซึ่งความเห็นนี้ไม่จัดว่าเป็นความเห็นที่สุดโต่งไปในทางว่า “มี” เหมือนความเห็นพวกอัตตา แต่ก็จะไม่สุดโต่งเลยไปในทางว่า “ไม่มี” เหมือนความเห็นพวกนิรัตตา ส่วนการกระทำใดๆของตัวตนชั่วคราวนี้ก็ย่อมมีผลเสมอ คือถ้าทำดีก็จะเกิดผลเป็นความสุขใจอิ่มใจทันที แต่ถ้าทำความชั่วก็จะมีผลเป็นความทุกข์ใจร้อนใจทันที ซึ่งผลนี้ก็ไม่ใช่ว่าต้องไปรับเอาในชาติหน้าอย่างพวกอัตตา แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีผลใดๆเลยอย่างพวกนิรัตตา ซึ่งความเห็นนี้เองที่เป็น “ความเห็นที่ถูกต้องตามความเป็นจริงของธรรมชาติ” (สัมมาทิฏฐิ) และจัดเป็นหัวใจของปัญญาสำหรับนำมาดับทุกข์ตามหลักอริยสัจ ๔ ของพระพุทธเจ้า

อวิชชาคือความรู้ผิดว่าจิตนี้คือเรา

มีคำอีกคำหนึ่งที่เราต้องทำความเข้าใจให้ถูกต้องคือคำว่า อวิชชา ที่แปลว่า ไม่ใช่วิชชา ซึ่งคำว่า วิชชา แปลว่า ความรู้สูงสุด โดยความรู้สูงสุดก็หมายถึง ความรู้ที่มีประโยชน์ที่สุดสำหรับชีวิตของเรา ซึ่งความรู้ที่มีประโยชน์สูงสุดสำหรับชีวิตของเราก็คือ ความรู้ที่ดับทุกข์ได้ โดยความรู้ที่ดับทุกข์ได้ก็คือ ความรู้ในอริยสัจ ๔ ของพระพุทธเจ้า

โดยหัวใจของอริยสัจ ๔ ก็คือ อริยมรรค ที่มีองค์ประกอบอยู่ ๘ ประการ โดยอริยมรรคนั้นสรุปได้เป็น ปัญญา ศีล สมาธิ ซึ่งหัวใจของอริยมรรคก็คือ ปัญญา ที่หมายถึง ความรอบรู้ในสิ่งที่ควรรู้ ซึ่งสิ่งที่ควรรู้ก็คือ ความรู้ที่นำมาใช้ดับทุกข์ได้ ซึ่งสรุปแล้วความรู้ที่นำมาใช้ดับทุกข์ได้ (หรือปัญญา) ก็คือ ความรู้ในเรื่องความเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ของสิ่งปรุงแต่งทั้งหลาย แต่หัวใจของปัญญาจริงๆก็คือ ความรู้ที่ถูกต้องว่า “จิตเป็นอนัตตา” ซึ่งหมายถึงความรู้ว่า จิตนี้ไม่ใช่เราหรือไม่ใช่ตัวเรา และเมื่อสรุปแล้ว วิชชา ก็คือ ความรู้ที่ถูกต้องว่าจิตนี้ไม่ใช่ตัวเรา ดังนั้นคำว่า อวิชชา จึงหมายถึง ความรู้ผิดว่าจิตนี้คือตัวเรา

อวิชชาหรือความรู้ผิดว่าจิตนี้คือตัวเรานี้เกิดมาจาก “ความรู้สึกว่ามีตนเอง” ของจิตตามธรรมชาติ ซึ่งความรู้สึกว่ามีตนเองของจิตนี้ก็คือ สัญชาติญาณพื้นฐานของจิตหรือชีวิต (สัญชาติญาณคือความรู้ที่เกิดขึ้นมาพร้อมกับชีวิตโดยที่ไม่ต้องมีใครสอน) คือเมื่อเกิดชีวิตหรือจิตขึ้นมาแล้ว มันก็จะเกิด “ความรู้สึกว่ามีตนเอง (หรือตัวเรา) เล็กน้อย” เกิดขึ้นมาด้วยเสมอ และเมื่อจิตเกิดความรู้สึกว่ามีตนเองแล้ว มันก็จะทำให้จิตเกิด “ความรู้ว่าจิตนี้คือตนเอง (หรือตัวเรา)” ตามมาด้วยทันที ซึ่งจากการที่เราก็ได้ศึกษาชีวิตของเราว่ามีลักษณะเป็น “อนัตตาและสุญญตา” มาแล้ว จนเราเกิดความเข้าใจอย่างถูกต้องมาแล้วว่า “ความจริงแล้วมันไม่ได้มีตัวเราอยู่จริง” (คือมีแต่ตัวเรามายา หรือ ตัวเราสมมติเท่านั้น) ดังนั้นจึงทำให้เราเข้าใจได้ทันทีว่า “ความรู้ว่าจิตนี้คือตนเอง (ตัวเรา)” นี้เป็น ความรู้ที่ผิดจากความเป็นจริงตามธรรมชาติ ซึ่งความรู้ผิดว่าจิตนี้คือตนเอง (หรือตัวเรา) นี้เองที่เรียกว่า “อวิชชา” ตามหลักพุทธศาสนา

สัญชาติญาณว่ามีตนเองนี้เอง ที่ทำให้ทุกชีวิตรักตนเอง แล้วทุกชีวิตก็พยายามที่จะเอาตัวรอด จึงทำให้เกิดสัญชาติญาณย่อยๆตามมาอีกมากมาย เช่น สัญชาติญาณในการหนีภัย สัญชาติญาณในการหาอาหาร สัญชาติญาณในการกินอาหาร สัญชาติญาณในการสืบพันธุ์ สัญชาติญาณในการรักลูก สัญชาติญาณในการเลี้ยงลูก สัญชาติญาณในการรวมกลุ่ม เป็นต้นขึ้นมา ถ้าสิ่งที่มีชีวิตใดไม่มีสัญชาติญาณว่ามีตนเอง สิ่งที่มีชีวิตนั้นก็จะสูญพันธ์ไปจากโลกทันที

ความรู้ผิดสร้างปัญหาแก่มนุษย์

ธรรมชาติได้สร้างจิตของสิ่งที่มีชีวิตทั้งหลายขึ้นมา แล้วธรรมชาติก็ได้ใส่ “ความรู้สึกว่ามีตนเอง” เอาไว้ในจิตของสิ่งที่มีชีวิตทั้งหลายด้วย เพื่อให้สิ่งที่มีชีวิตทั้งหลายรักตนเองและพยายามเอาตัวรอด รวมทั้งสืบเผ่าพันธุ์ของตนเองเอาไว้ในโลก ซึ่งทั้งสัตว์และพืชของโลกนั้น ก็มีความรู้สึกว่ามีตนเองอยู่ด้วยกันทั้งสิ้น เพียงแต่ว่ามีเล็กน้อยเท่านั้น ดังนั้นทั้งสัตว์และพืช จึงดำรงชีวิตตามสัญชาติญาณหรือความรู้สึกว่ามีตนเอง ตามที่ธรรมชาติกำหนดมาอย่างไม่มีปัญหา (คือไม่มีความทุกข์ใจ)

มนุษย์นั้นเดิมก็เป็นสัตว์ชนิดหนึ่งของโลก แต่ว่าร่างกายของมนุษย์นี้มีวิวัฒนาการที่ข้ามกระโดดหรือผ่าเหล่า คือมีการพัฒนาให้มีเนื้อสมองใหญ่กว่าสัตว์เมื่อเทียบกับร่างกาย เมื่อมีเนื้อสมองมาก จึงทำให้มีความจำมาก เมื่อมีความจำมาก จึงทำให้จิตของมนุษย์สามารถคิดได้มากและคิดได้ละเอียดรวมทั้งคิดได้ซับซ้อน ซึ่งการคิดได้มากและละเอียดซับซ้อนนี้เอง ที่ทำให้มนุษย์มีการเรียนรู้ความจริงของธรรมชาติ จนเกิดความรู้และความเข้าใจในธรรมชาติ ทั้งภายในร่างกายของตนเองและธรรมชาติภายนอก จนเกิดเป็นความรู้หรือวิชาการต่างๆมากมายขึ้นมา แล้วก็ทำให้มนุษย์มีความเจริญก้าวหน้าอย่างมากในปัจจุบัน

แต่การที่มนุษย์มีความคิดได้มากและละเอียดซับซ้อนนี้เอง ก็ได้สร้างปัญหาให้กับมนุษย์โดยไม่รู้ตัว เพราะเมื่อจิตของมนุษย์ถูกอวิชชา (ความรู้ผิดว่ามีตัวเอง) ครอบงำ จึงทำให้จิตของมนุษย์นำเอาอวิชชาที่มีเพียงเล็กน้อยตามธรรมชาตินั้น มาปรุงแต่งให้มีความเข้มข้นขึ้น จนเกิดเป็นอุปาทาน คือ อาการที่จิตไปยึดถือเอา “ร่างกายและจิตใจ” ที่เป็นของธรรมชาติมาเป็น “ตนเองและของตน” ขึ้นมาอย่างเหนียวแน่น และเมื่อร่างกายที่จิตได้ยึดถือเอาไว้นั้น ได้ประสบกับ “ภาวะที่ไม่น่าพึงพอใจ” เช่น ร่างกายกำลังแก่ กำลังเจ็บ กำลังจะตาย หรือกำลังพลัดพรากจากสิ่งที่รัก เป็นต้น จึงทำให้จิตของมนุษย์ที่มีความยึดถือนี้เกิดความทุกข์ (ความเศร้าโศก) ขึ้นมาทันทีอย่างรุนแรง ซึ่งความทุกข์นี้เองที่เป็นปัญหาใหญ่หลวง หรือ เป็นสิ่งที่น่าหวาดกลัวอย่างที่สุดของมนุษย์ทุกคน

อีกอย่างอวิชชา (ความรู้ผิดว่ามีตัวเอง) นี้เอง ที่เมื่อครอบงำจิตของมนุษย์แล้ว ก็จะทำให้มนุษย์เกิด “ความเห็นผิด (หรือความเข้าใจผิด) ว่ามีตนเองอยู่จริงๆ” ซึ่งความเข้าใจผิดว่ามีตนเองอยู่จริงๆนี้เอง ที่ทำให้มนุษย์เกิด “ความเห็นแก่ตัว” (คือการทำอะไรก็เพื่อให้ตนเองมีความสุข และเพื่อให้ตนเองไม่มีความทุกข์) เมื่อมนุษย์คนใดมีความเห็นแก่ตัวจัดโดยไม่เห็นแก่ผู้อื่น จึงทำให้มนุษย์คนนั้นเกิด “ความโลภ” (คืออยากได้สิ่งของของผู้อื่นมาเป็นของตนเอง) และ “ความโกรธ” (คืออยากทำร้ายผู้อื่นเพราะเมื่ออยากจะได้อะไรแล้วไม่ได้สิ่งนั้น หรือเมื่อถูกแย่งชิงสิ่งของของตนเองไป) จึงทำให้มนุษย์ที่เห็นแก่ตัวจัดนี้ถูกเรียกว่าเป็น “คนชั่วที่ชอบเบียดเบียนผู้อื่นด้วยกายบ้าง ด้วยวาจาบ้าง” ซึ่งคนชั่วนี้เองที่ทำให้สังคมเดือดร้อนวุ่นวาย และเมื่อโลกมีคนชั่วมากๆ จึงทำให้เกิดวิกฤตการณ์ต่างๆมากมายขึ้นมาในโลก อย่างเช่นที่กำลังเป็นอยู่ในปัจจุบัน และ แม้โลกก็จะพินาศเพราะมนุษย์ส่วนใหญ่มีความเข้าใจผิดว่ามีตนเองอยู่จริง

ผู้ครองเรือนควรรู้เรื่องสุญญตา

เคยมีผู้ไปทูลถามพระพุทธเจ้าว่า ผู้ครองเรือน (คือผู้ที่ไม่ได้บวช ที่ยังต้องใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัว และไม่มีเวลามาปฏิบัติเหมือนนักบวช) ควรเรียนรู้หลักธรรมใด? พระพุทธองค์ทรงตรัสตอบว่า ผู้ครองเรือนควรรู้เรื่อง “สุญญตา” (ความว่าง)

ทำไมผู้ครองเรือนจึงควรรู้เรื่องสุญญตา? คำตอบก็คือ เพราะความรู้เรื่องสุญญตาจะช่วยให้ผู้ครองเรือนมีความทุกข์ใจ (ความเศร้าโศก) ลดน้อยลงได้อย่างมากเลยทีเดียว คือปรกติแล้วผู้ครองเรือนนั้น จะมีความเห็นผิดอยู่ในจิตใต้สำนึกว่า “ร่างกายกับจิตใจของตนเองนั้นมันเป็นอัตตา” คือเป็นตัวตนของมันเองจริงๆ

เมื่อมีความเห็นผิดว่าร่างกายกับจิตใจเป็นอัตตาแล้ว จึงทำให้เกิดอุปาทานหรือความยึดถือว่า “ชีวิตคือร่างกายกับจิตใจ ที่สมมติเรียกว่าเป็นตัวตน-ของตนนี้ เป็นตัวตน-ของตนจริงๆ” และเมื่อใดที่ชีวิตต้องประสบกับ “ภาวะที่ไม่น่าพึงพอใจ” เช่น แก่ เจ็บ ตาย พลัดพราก ผิดหวัง เป็นต้น จึงทำให้จิตที่ยึดถือนี้เกิดความเศร้าโศก (ความทุกข์ใจ) ขึ้นมาทันทีอย่างรุนแรง

แต่ถ้าผู้ครองเรือนนั้นมีความเข้าใจเรื่องความเป็น “สุญญตา” ของร่างกายและจิตใจตนเองอย่างถูกต้องแล้ว ก็จะทำให้ความยึดถือว่า “ชีวิตคือร่างกายกับจิตใจนี้เป็นตัวตน-ของตนจริงๆ” ลดน้อยลงอย่างมาก และเมื่อชีวิตของผู้ครองเรือนนี้ต้องพบกับ “ภาวะที่ไม่น่าพึงพอใจ” ของชีวิต ก็จะทำให้จิตใจของผู้ที่เข้าใจเรื่อง “สุญญตา” นี้ มีความทุกข์ใจ (คือความเศร้าโศก) ลดน้อยลงอย่างมากเลยทีเดียวตลอดทั้งชีวิตของเขา

จบภาคที่ ๑


|หน้าต่อไป|