เมืองในเปลวแดด


  เมืองในเปลวแดด เป็นเมืองหนึ่ง อันเกิดจากไอดินกลิ่นแดด มีความสัมพันธ์ต่อกันเหมือนธารน้ำเย็นต่อธารน้ำอุ่น,

  คนในเมืองเปลวแดด จะมีศีล อ่อนไหว ละเอียดอ่อน เหมือนเงา ส่วนมากเป็นกสิกร มีหน้าที่ช่วยเหลือกสิกรผู้ยากจน เหมือนปลาโลมาช่วยคนตกน้ำ,

  มีการถ่ายเทกลิ่นไอธรรมชาติ และ พลังงาน แสงแดดระหว่างคนเนื้อกับคนเปลวแดดอยู่เงียบๆ คล้ายน้ำต้องแดดเป็นไอ ไอต้องความเย็นเป็นน้ำ,

  จะว่าเมืองนี้เป็นเมืองบุญก็ว่าได้ ถ้าเราปลูกบุญเป็น เราอาจจะเห็นพวกเขาได้ ตามคัมภีร์ที่ว่า "บุญเสมือนเงาที่ติดตามผู้ปลูกอยู่",

  แต่ทะว่าใครเล่าจะปลูกบุญเป็น คนชื่อบุญปลูกก็ไม่เห็นมีกี่คน เด็กระยะนี้ก็ไม่ค่อยเห็นมีชื่อนี้ ใครชื่อนี้จะเชยไปเสียแล้วกระมัง,

  ไฉนหนอจะได้พบกับพวกเขา บ้านเมืองและบุคคลในเปลวแดด เขาว่าต้องเป็นคนดีมีศีลธรรม ซื่อสัตย์กตัญญู จิปาถะ ดูกฎเกณฑ์มากมาย จะกลายเป็นโม้มั้ง แต่อย่างไรก็ตาม เราก็เป็นกสิกรที่ยากๆไร้เสียจริงๆ หวังอยู่เสมอว่า คนแดดจะเมตตาชั่ววู๊บแว๊ป เราจะปลูกบุญรดน้ำพรวนดินอย่างจริงจัง,

  ใครล่ะจะอยากยากจนอยู่กับเธอ บุคคลในเปลวแดดที่เหงื่อไหลไคลย้อย หาเช้ากินค่ำ กินข้าวกับเกลือ กินเหงื่อกับน้ำอย่างนี้ นอกเสียจากคนมีกรรมแล้วยังมีบุญเท่านั้น ที่เห็นกลิ่นเหงื่อและสาปวัวหอมไปเสียแล้ว,

  เมืองในเปลวแดดเป็นภาพสะท้อนซ่อนความดีจากโลกมนุษย์ เหนื่อยยากเหมือนปีนเขา ให้พลังงานเหมือนแสงแดด ชุ่มโชกเหมือนเหงื่อไคล เย็นฉ่ำเหมือนสระโปกขรณี บริสุทธิ์เหมือนน้ำค้าง อิสระเหมือนท้องฟ้า บำบัดกิเลสเหมือนกีฬา,

  "พิภพในเปลวแดด จะเป็นนครแห่งพระอริยบุคคลหรือไม่หนอ?" สมณะในชุดพระธุดงค์รูปหนึ่ง เธอมักจะรำพึงรำพันกับตนเอง บนเส้นทางสายเปลี่ยวของกสิกรในเปลวแดด แต่ก็ร่มรื่นด้วยร่มไม้และสายธาร,

  การไปสู่นครแห่งเปลวแดด คงไปด้วยพลังงานในแสงแดดนั่นเอง ในบทบัญญัติที่ว่า "ภิกษุยินดีในเงินและทองที่เขาเก็บไว้ให้เป็นอาบัติ" คงจะเป็นเช่นว่า "สูเจ้าจงอย่ายินดีในเงินและทอง จงยินดีแต่พลังงานในแสงแดด",

  นครแห่งเปลวแดด แม้จะมีเส้นขอบฟ้าเป็นพรมแดน มีสุสานอันไพศาล ที่สะพรั่งอยู่ด้วยกอดอกรักยามวสันต์เป็นขอบเขต แต่ก็เป็นเสมือนว่า "บ้านเรียงเคียงกัน" เพราะที่นั่นไม่มีคำว่า "ที่นี่วุ่นวายจริงหนอ ที่นี่คับแค้นจริงหนอ" และก็ทรงไว้ซึ่งศานติ……..อยู่ชั่วนิรันดร.

สมจิโต ภิกขุ สำนักสงฆ์สังกะสี ดอนหัวฬ่อ ชลบุรี

 


|ภาพเมืองในเปลวแดด|