ศาสนาฮินดู (พราหมณ์)

๑. กำเนิด

ศาสนาฮินดูเป็นศาสนาเก่าแก่ของชาวอารยัน กำเนิดขึ้นที่ประเทศอินเดียก่อนศาสนาอื่นๆ โดยมีพราหมณ์เป็นผู้สั่งสอนและประกอบพิธีกรรมจึงเรียกกันว่าเป็นศาสนาของพราหมณ์ หรือศาสนาพราหมณ์.

๒. สิ่งเคารพสูงสุด

ศาสนาฮินดูเป็นศาสนาประเภทเทวนิยมคือเคารพยอมรับเรื่องเทพเจ้าเป็นสิ่งสูงสุด โดยเทพเจ้า ๓ องค์ที่ชาวฮินดูให้ความเคารพสูงสุดอันได้แก่

๑. พระพรหม ที่เป็นเทพเจ้าผู้สร้างหรือให้กำเนิดทุกสิ่งในเอกภพขึ้นมา

๒. พระวิษณุ หรือพระนารายณ์ ที่เป็นเทพเจ้าผู้ปกป้องรักษา

๓. พระอิศวร หรือพระศิวะ ที่เป็นเทพเจ้าผู้ทำลาย

เทพเจ้าทั้ง ๓ องค์นี้รวมเรียกว่า ตรีมูรติ ที่เป็นเทพเจ้าสูงสุด แต่ชาวฮินดูยังนับถือเทพเจ้ารองๆลงมาอีกมากประมาณ ๓๐๐ ล้างองค์.

๓. ศาสดา

ศาสนาฮินดูไม่มีศาสดาเพราะสืบทอดกันมานานจนไม่รู้ว่าใครเป็นผู้สั่งสอนคนแรก แต่มีฤๅษีและพราหมณ์เป็นผู้สั่งสอนและพัฒนาหลักคำสอนสืบต่อกันมาเรื่อยๆ

๔. คัมภีร์

คัมภีร์ของศาสนาฮินดูเก่านั้นมีอยู่ ๔ คัมภีร์คือ

๑. คัมภีร์ฤคเวท เป็นคัมภีร์สำหรับใช้สวดสรรเสริญพระเจ้า

๒. คัมภีร์ยชุรเวท เป็นคัมภีร์รวบรวมบทร้อยกรองใช้ในพิธีบูชายัญในศาสนา

๓. คัมภีร์สามเวท เป็นคัมภีร์รวบรวมบทสวดมนต์สำหรับประกอบพิธีกรรมต่างๆของประชาชนทั่วไป

๔. คัมภีร์อาถรรพเวท เป็นคัมภีร์เวทมนต์คาถา

คัมภีร์เหล่านี้เรียกว่า คัมภีร์พระเวท แต่ต่อมาได้เกิดคัมภีร์อุปนิษัทขึ้นอีก ซึ่งเป็นคัมภีร์ที่กล่าวถึงเรื่องธรรมชาติของจักรวาลและวิญญาณมนุษย์ อันส่งผลกระทบถึงความคิดและการดำเนินชีวิตของชาวอินเดียอย่างมาก.

๕. สรุปหลักคำสอน

คำสอนสำคัญในคัมภีร์อุปนิษัทนั้นสรุปได้ ๕ เรื่องคือ

๑. ปรมาตมัน หรือ พรหม คือวิญญาณหรือตัวตนดั้งเดิม หรือใหญ่ ที่เที่ยงแท้ถาวร เป็นหนึ่งและอมตะ

๒. อาตมัน หรือชีวาตมัน คือส่วนย่อยของปรมาตมันหรือพรหมที่แยกออกมาอยู่ในแต่ละบุคคล

๓. การกลับเข้าไปรวมกับปรมาตมันหรือพรหมได้นั้นคือการพ้นทุกข์ไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดอีก

๔. ชีวาตมันจะกลับไปรวมกับปรมาตมันได้นั้น ผู้นั้นจะต้องบำเพ็ญกิริยา ประกอบพิธีต่างๆจนบรรลุถึงโมกษะ (หลุดพ้นจากอัตตา) ชีวาตมันก็จะกลับไปรวมกับปรมาตมันได้.

๕. เรื่องกฎแห่งกรรม คือสอนว่ากรรมเป็นเครื่องกำหนดของชีวิตในภพหน้า กล่าวคือใครทำสิ่งใดในชาตินี้ ย่อมได้สิ่งนั้น ในชาติหน้า

๖. หลักความเชื่อที่สำคัญ

คำสอนในคัมภีร์อุปนิษัทนี้เองที่ทำให้เกิดความเชื่อเรื่องวิญญาณเวียนว่ายตายเกิด และเรื่องนรกใต้ดิน สวรรค์บนฟ้า ผี สาง เทวดา ต่างๆขึ้นมา รวมทั้งเรื่องอาวตารของพระนารายณ์ที่เกิดมาเพื่อช่วยโลก เช่น อวตารมาเป็นพระรามเพื่อฆ่ายักษ์ หรือแม้เรื่อง อวตารมาเป็นพระพุทธเจ้า เพื่อสอนพวกอสูรผิดๆจะได้ไม่มีฤทธิ์เดช จะได้กำจัดได้ง่าย เป็นต้น นี่เองที่ทำให้ผู้ที่ไม่รู้จักพุทธศาสนาอย่างถูกต้องก็จะเชื่อกันว่าพุทธศาสนานั้นแยกออกมาหรือเป็นเพียงสาขาหนึ่งของศาสนาฮินดูเท่านั้น ซึ่งความเชื่อนี้ก็ได้เข้าไปปะปนอยู่ในคำสอนของพุทธศาสนาในระดับศีลธรรมเต็มไปหมด และก็ยังเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้พุทธศาสนาสูญหายไปจากอินเดียอีกด้วย

๗. นิกาย

นิกายใหญ่ๆของศาสนาฮินดูมีอยู่ ๖ นิกายคือ

๑. นิกายไวษณวะ ซึ่งนับถือพระวิษณุเป็นเทพเจ้าสูงสุด

๒. นิกายไศวะ ซึ่งนับถือพระศิวะเป็นเทพเจ้าสูงสุด (พวกนี้เรียกว่าพวกลึงค์ยัติซึ่งนิยมพกลึงค์เล็กๆคาดไว้ที่เอว)

๓. นิกายศักดา ซึ่งพวกนี้นับถือลักษณะสตรีเพศคือนับถือมเหสีของพระวิษณุ คือเจ้าแม่กาลี ในฝ่ายที่ดุร้าย

๔. นิกายคณพัทยะ ซึ่งนับถือพระคเณศที่มีเศียรเป็นช้าง

๕. นิกายสรภัทธะ ซึ่งนับถือบูชาพระอาทิตย์เป็นเทพเจ้าสูงสุด

๖. นิกายสมารธะ ซึ่งเป็นนิกายใจกว้างนับถือเทพเจ้าทุกองค์.

๘. จุดหมายสูงสุด

จุดหมายสูงสุดของศาสนาฮินดูก็คือการได้กลับไปรวมอยู่กับพรหมหรือปรมาตมัน ซึ่งไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดให้เป็นทุกข์อีกต่อไป ส่วนจุดหมายรองลงมาก็คือการได้ขึ้นสวรรค์เสพสุขอยู่กับนางฟ้าบนสวรรค์นานๆโดยไม่ต้องทำงาน.

๙. ความเชื่อและหลักปฏิบัติ

ชาวอินเดียวจะมีการแบ่งผู้คนออกเป็นพวกๆหรือวรรณะตามความเชื่อจากศาสนาฮินดูคือ

๑. วรรณะพราหมณ์เป็นวรรณะสูงสุด ได้แก่พวกผู้ประกอบพิธีกรรมต่างๆ

๒. วรรณะกษัตริย์ ได้แก่พวกกษัตริย์ผู้ปกครองบ้านเมือง

๓. วรรณะแพศย์ ได้แก่พวกพ่อค้า ช่างฝีมือ

๔. วรรณะศูทร ได้แก่พวกคนใช้

ชาวอินเดียจะยึดถือเรื่องวรรณะกันมาก ถ้าใครแต่งงานกันต่างวรรณะ ลูกออกมาจะเป็นพวกจัณฑาล ซึ่งเป็นคนชั้นต่ำสุดที่สังคมรังเกียจ ส่วนวรรณะพราหมณ์ที่ถือว่าเป็นวรรณะสูงสุดเพราะเขาถือว่าพราหมณ์เกิดมาจากพรหม. หลักปฏิบัติของศาสนาฮินดูนั้นก็มีหลักศีลธรรมอยู่มากมาย แต่เน้นไปที่การบูชาเทพเจ้าที่ตนนับถือ และยังมีความอดทนที่จะรับความทุกข์ยากโดยไม่คิดจะปรับปรุงแก้ไข เพราะถือว่านี่เป็นกรรมของตนหรือเป็นพรหมลิขิตไม่สามารถหลีกหนีได้ ไม่มีใครจะมาช่วยเหลือได้ จึงทำให้เกิดความนิ่งดูดายหรือใจดำไม่ค่อยจะมีใครช่วยเหลือใคร เพราะถือว่าเป็นกรรมของเขาเองที่ทำไว้ในชาติก่อน ส่วนคนที่ไปช่วยก็ช่วยเพราะอยากให้ตนมีสภาพชีวิตที่ดีขึ้น ไม่ได้ช่วยเพราะความสงสารอย่างแท้จริง.

๑๐. ประเทศที่นับถือ

ปัจจุบันศาสนาฮินดูจะมีผู้คนนับถือมากเฉพาะในประเทศอินเดีย และยังมีผู้ที่ทรมานร่างกายหรือบำเพ็ญทุกรกิริยาเพื่อให้บรรลุถึงโมกษะอยู่ด้วย แต่ก็มีผู้คนนับถือประปรายอยู่ในประเทศต่างๆทั่วโลก และนิยมเรียกกันว่าศาสนาพราหมณ์

๑๑. ประเพณี

ศาสนาฮินดูมีประเพณีต่างๆมากมาย ส่วนมากเป็นประเพณีบูชาเทพเจ้า เช่นการฆ่าสัตว์บูชายัญต่อเจ้าแม่กาลี ซึ่งบางครั้งก็มีการฆ่ามนุษย์เพื่อบูชายัญเพราะเชื่อว่าเทพเจ้าจะพอในและดลบันดาลให้ความหายนะหรือโรคระบาดหายไปได้

๑๒. ผู้สืบทอด

ศาสนาฮินดูจะมีพราหมณ์ เป็นผู้ผูกขาดการประกอบพิธี และทำหน้าที่สั่งสอน และจะมีการเรียนพระเวทหรือศึกษาคัมภีร์พระเวท ถ้าใครเรียนจบถือว่าเก่งมาก จนเกิดประเพณีว่าผู้หญิงจะต้องไปสู่ขอผู้ชายมาแต่งงานเพราะว่าผู้ชายมีค่าสูงส่ง โดยผู้จบพระเวทจะสามารถประกอบพิธีทำให้มีรายได้งาม อย่างเช่นถ้าใครจะให้ญาติที่ตายไปแล้วได้ขึ้นสวรรค์จะต้องนำทรัพย์หรือของมีค่า เช่นโค มาให้พราหมณ์มากๆ เพื่อพราหมณ์จะได้สวดส่งวิญญาณของญาตินั้นให้ขึ้นสวรรค์ ถ้าใครยากจนก็ไม่มีทางได้ขึ้นสวรรค์ .

๑๓. วันสำคัญ

เช่น วันสงกรานต์ เป็นต้น (ยังไม่มีข้อมูล)

๑๔. สถานที่สำคัญ

สถานที่สำคัญแห่งหนึ่งอยู่ที่เมืองพาราณสี ที่ตั้งอยู่ที่ฝั่งของแม่น้ำคงคาที่เรียกว่า กาสี ซึ่งคนที่เคร่งครัดในศาสนาฮินดูทุกคนจะต้องดิ้นรนมาตายที่วงกลมศักดิ์สิทธิ์ที่มีรัศมีประมาณ ๑๐ ไมล์จากจุดศูนย์กลางของตัวเมืองที่เรียกว่าปัญจะโกสี ซึ่งผู้คนจะมาแสวงบุญกันที่นี่ให้มากครั้งเท่าที่จะทำได้ และลงอาบนำในแม่น้ำคงคาที่ถือว่าศักดิ์สิทธิ์ชำระล้างบาปได้ ดังนั้นเมื่อมีคนตายจึงนิยมนำมาเผาที่บริเวณนี้และทิ้งศพลงแม่น้ำคงคา จนทำให้เมืองนี้เป็นเมืองที่เศร้าโศกตลอดกาล เพราะมีแต่งานศพและควันลอยโขมงอยู่ตลอดเวลา สถานที่ศักดิ์สิทธิ์อีกแห่งหนึ่งคือเมืองมธุรา ที่เป็นเมืองสำคัญศักดิ์สิทธิ์ของนิกายไวษวะที่ตั้งอยู่บนฝั่งแม้น้ำยมนา ที่ถือว่าเป็นบ้านเกิดของพระกฤษณะ เมื่อถึงเทศกาลจะมีนักแสวงบุญมาที่เมืองนี้และมีพิธีฟ้อนรำให้เกียรติแก่พระกฤษณะ ซึ่งนอกจากสถานที่สำคัญทั้งสองแห่งนี้แล้วยังมีศูนย์กลางทางศาสนาอีกหลายแห่ง.