เรื่อง ศิษย์ผู้ตามส่งอาจารย์


         ในญี่ปุ่นมีเรื่องที่ชอบเล่าอย่างชื่นชมยินดีกันมาทุกยุคนับแต่สมัยอาชิคากะมาจนทุกวันนี้ คือ เด็กน้อยอิคยุ ติดตามมารดาไปวัดตั้งแต่ยังเล็ก หลวงพ่อเจ้าวัดท่านก็เรียกไปใช้สอยใกล้ชิด วันหนึ่งเช็ดพื้นไปปัดเอาถ้วยชาอย่างดีราคาแพงของอาจารย์แตก
        อิคยุเด็กน้อยรู้สึกตกใจมากเพราะรู้แน่ว่าถ้วยอย่างนี้แพงหาไม่ได้อีกแล้ว ในเมื่อขาดชุดไป ในจิตใจของเด็กๆก็เหมือนๆกับเราท่านทุกคนเมื่อครั้งยังเป็นเด็ก คือ เคยทำของมีค่าตกแตกเสียหายมาบ้างแล้ว ลองนึกดูเถิดว่า ในคราวอย่างนั้นเด็กธรรมดาก็ย่อมจิตใจว้าวุ่น คิดอุบายหลบเลี่ยงหรือหนี ปฏิเสธว่าไม่รู้ไม่เห็นไม่ได้ทำแตกเหมือนๆกันหมด แต่เด็กชายอิคยุคนนี้ ไม่มีโอกาสนิ่งอึ้งคิดหาหนทางแก้ตัวมากนัก เพราะขณะนั้นได้ยินเสียงฝีเท้าของอาจารย์เดินเข้าห้องมาพอดี ถ้าเป็นเด็กอื่น หากถึงคราวจวนตัวไม่รู้จะทำประการใดเช่นนั้น ก็จะร้องไห้โฮล่วงหน้าเพื่ออุทธรณ์ให้ถูกเฆี่ยนน้อยหน่อย แต่เด็กชายอิคยุคนนี้ กลับกระวีกระวาดลุกขึ้นยืน มือทั้งสองถือชิ้นกระเบื้องถ้วยชาซ่อนไว้ข้างหลัง ตาจ้องอยู่ที่อาจารย์ผู้กำลังนั่งลงบนอาสนะ ก่อนที่อาจารย์จะสังเกตอะไรผิดปกติ เด็กชายอิคยุก็เข้าคุกเข่าต่อหน้าขัดจังหวะเอาไว้ก่อนที่ท่านอาจารย์จะเอื้อมไปรินชาขึ้นซด ทั้งๆที่มือทั้งสองก็ยังซ่อนอะไรไว้ข้างหลังไม่ให้อาจารย์เห็น
        ท่านอาจารย์ชะงักเหลียวมาดูไอ้หนูน้อย ด้วยใบหน้าละไมเป็นปกติ เด็กชายอิคยุเห็นท่านอาจารย์ ก็แน่ใจว่าอาจารย์ไม่ได้ยินเสียงถ้วยชาแตกเมื่อครู่นี้ ทำให้เกิดปฏิภาณขึ้นบัดนั้น เรียนถามปัญหาธรรมะต่อท่านอาจารย์ทันใดว่า
        “หลวงพ่อฮะ ทำไมคนเรานี่ จึงต้องตายทุกคน ไม่เว้นใครเลยฮะ?”
        “ลูกเอ๋ย นั่นมันเป็นธรรมชาติธรรมดา” หลวงพ่อตั้งต้นชี้แจงโดยซื่อ ไม่เฉลียวว่าเด็กทำไมจะมาถามธรรมะเอาตอนนี้ ท่านกล่าวเรื่อยไปอีกว่า
        “บรรดาสรรพสิ่ง ไม่ยกเว้นสิ่งใดถึงที่ถึงคราว ย่อมล่วงหล่นม้วยมรณ์ตายไปอย่างเที่ยงแท้ มิได้ตั้งอยู่นาน”
        เด็กชายอิคยุ จ้องตาท่านอาจารย์อยู่ไม่วาง ฟังอาจารย์ชักนำให้ความรู้เป็นไปของสังขารอยู่จนจบ เลยยื่นแบเศษถ้วยชาแตกในมือให้อาจารย์ดู พร้อมกับทำหน้าเศร้าว่า “ถ้วยชาของหลวงพ่อ นี้ก็เหมือนกันฮะ ถึงคราวมันตายเสียแล้ว”
        ความข้อนี้ คนทั้งวัดเสสรวลเฮฮากันไปทั่ว เมื่อเล่าสู่กันฟัง ทุกคนได้เห็นแววปฏิภาณของเด็กเล็กๆ รู้จักนำความรู้ที่ได้ยินได้ฟังผู้ใหญ่เขาพูดจาสนทนาธรรมกัน มาใช้แสดงเชาว์ไวไหวพริบเข้ากับเหตุการณ์จวนตัวเห็นปานนั้น แต่ในสมัยแรกๆก็ยังไม่มีใครคาดฝันว่าเด็กน้อยๆนี้ในเวลาต่อมาจะกลับกลายเป็นท่านธยานาจารย์อิคยุ ผู้เป็นอาจารย์ใหญ่ฝ่ายเซ็น ในสมัยที่ท่านโตบวชเป็นพระแล้ว ตัวลูกศิษย์ผู้นี้กลายเป็นผู้บรรลุธรรมก่อนอาจารย์ผู้เฒ่าเสียอีก ใช่แต่เท่านั้น ตัวหลวงพ่อผู้เฒ่าเองก็ไม่เคยนึกมาก่อน ว่าเด็กน้อยที่เคยทำถ้วยชาของท่านแตกนี้ จะกลายเป็นครูสอนวิธีตายให้ท่านเอง ขณะที่ท่านจะดับจิต เรื่องที่เล่าต่ออีกในกาลเวลาระยะหลัง ตอนใกล้สิ้นอายุขัยของหลวงพ่อผู้เฒ่าว่า
        ครั้งหนึ่งขณะที่หลวงพ่อสำรวมจิต จวนจะทำกาลกิริยาอยู่นั้น ท่านอาจารย์ใหญ่อิคยุก็คลานเข้าไปกราบ เรียนถามหลวงพ่อว่า “กระผมต้องบอกหนทางให้หลวงพ่อไหมครับ?”
        หลวงพ่อยังมีสติดีอยู่ ตอบแผ่วๆว่า “ฉันมาก็มาแต่ลำพังผู้เดียว เวลาจะไปก็ไปแต่ลำพังผู้เดียว เจ้าจะมาช่วยอะไรได้เล่า”
        พอดี ท่านอาจารย์อิคยุก็ตอบขึ้นด้วยถ้อยคำว่า “หากหลวงพ่อนึกว่าหลวงพ่อเกิด และหลวงพ่อต้องตายจริงๆ แล้ว นั่นยังถูกบดบังหุ้มห่อด้วยความไม่รู้อยู่อีกนะครับ ถ้าอย่างนั้นผมจะบอกทางให้หลวงพ่อละ ทางที่ไม่ต้องเรียกว่าเกิด ไม่ต้องเรียกว่าตายไงล่ะ หลวงพ่อ” พอสิ้นประโยคถ้อยคำสำคัญยิ่งของลูกศิษย์ หลวงพ่อก็พริ้มดับไป นิทานก็จบ

         คติธรรม เรื่องนี้จะสอนให้รู้ว่าธรรมะนั้นมีไว้ปฏิบัติ มิใช่มีไว้ท่องจำเท่านั้น และยังสอนธรรมะขั้นลึกถึงเรื่องว่าไม่มีตัวตน ถ้ายังคิดว่ามีตัวตนอยู่ก็ยังไม่ชื่อว่าเห็นธรรมหรือรู้แจ้งจริง และทำให้เชื่อว่ามีตนเองมาเกิดและมีตนเองที่จะตาย อันจะทำให้จิตไม่สงบเย็น(นิพพาน) แต่ถ้ารู้ว่าไม่มีตนเองเสียแล้ว ความเชื่อว่ามีตนเองมาเกิดและมีตนเองตายก็จะหมดไป จิตก็จะสงบเย็นได้ ไม่ทุรนทุราย แม้ว่าร่างกายจะต้องตายจริงๆก็ตาม
|next|