หลักวิชชาพุทธศาสนา

จุดแรกเราต้องเข้าใจก่อนว่า พระพุทธเจ้าตรัสรู้อริยสัจ ๔ ซึ่งอริยสัจ ๔ เป็นหลักในการปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้นจากความทุกข์ของจิตใจมนุษย์ในปัจจุบัน (หรือที่เราชอบเรียกกันว่า ดับทุกข์) คือความทุกข์ของจิตใจเราในปัจจุบันนั้นคือปัญหาใหญ่หลวงที่สุดสำหรับมนุษย์ทุกคน โดยหลักในการปฏิบัตินั้นจะต้องใช้ปัญญานำหน้าสมาธิโดยมีศีลเป็นพื้นฐาน   ซึ่งจุดเด่นของพุทธศาสนาก็คือ ปัญญา ถ้าขาดปัญญาก็ไม่ใช่พุทธศาสนา

ดังนั้นการศึกษาพุทธศาสนาจะให้เข้าใจก็ต้อง มีจุดมุ่งหมายอยู่ที่เพื่อการปฏิบัติสู่ความพ้นทุกข์ ซึ่งต้องหมายถึงความทุกข์ของจิตใจด้วย ไม่ใช่ของร่างกาย และในปัจจุบัน (คือที่นี่และเดี๋ยวนี้) ด้วย ไม่ใช่ในอนาคต ไม่ว่าจะวันอื่นหรือชาติหน้า ถ้าไม่มีจุดหมายเช่นนี้จะไม่มีวันศึกษาพุทธศาสนาได้เข้าใจ เพราะเป็นการศึกษาที่ผิดจุดมุ่งหมาย  (หมายเหตุ. จุดแรกนี้เราเข้าใจและยอมรับหรือไม่? ถ้าไม่เข้าใจหรือไม่ยอมรับ ก็ไม่ผ่าน ถึงจะศึกษาไปจนตายถ้าไม่เข้าใจหรือไม่ยอมรับจุดนี้ก็ไม่ผ่าน)

จุดต่อไปก็คือเรื่อง ปัญญา ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่สุด  คำถามคือ คำว่า ปัญญา หมายถึงอะไร? คำว่า ปัญญา แปลว่า รู้รอบ หรือรอบรู้. คำถามคือ แล้วรู้อะไร? ซึ่งคำตอบก็คือ เมื่อพระพุทธเจ้าสอนเรื่องการดับทุกข์ ดังนั้นคำว่าปัญญาในพุทธศาสนาจึงหมายถึง ความรอบรู้ในเรื่องการดับทุกข์. คำถามคือ แล้วรู้แค่ไหนจึงจะเรียกว่าเป็นปัญญา? ซึ่งคำตอบก็คือ รู้เท่าที่ควรจะรู้ ซึ่งคำว่า เท่าที่ควรจะรู้ก็คือ แค่ดับทุกข์ได้ คือถ้ารู้แล้วมันดับทุกข์ได้จริงก็พอ ไม่จำเป็นต้องรู้มากไปกว่านี้อีกแล้ว แต่ใครจะรู้ก็ไม่ห้าม (หมายเหตุ. จุดนี้เราเข้าใจและยอมรับหรือเปล่า?)

แล้วหลักของปัญญา คืออะไร? หลักของปัญญา แน่นอนว่า ต้องมีการใช้เหตุผลอย่างยิ่ง แล้วก็ต้องมีความจริงมายืนยัน จึงจะเป็นปัญญาจริง และแน่นอนว่า จะไม่มีเรื่องความเชื่อ (ศรัทธา) มาเจือปนอย่างเด็ดขาด เพราะความเชื่อยังเป็นแค่ความรู้หรือทฤษฎีของคนอื่น ที่เรายังไม่ได้พิสูจน์ให้เห็นจริง ต่อเมื่อเราได้พิสูจน์ความเชื่อจนเห็นจริงก่อน จึงจะเรียกว่าเป็นปัญญา (หมายเหตุ. จุดนี้เราเข้าใจและยอมรับหรือเปล่า?)

แล้วปัญญาคืออะไร? ถ้าพูดว่าปัญญา ก็เรียกว่าความรู้ทั้งหมดของพระพุทธเจ้าหรือหลักอริสัจ ๔ นั้นคือ ปัญญา แต่ถ้าจะสรุปก็คือ ความรู้ ความเข้าใจ และความเห็นแจ้งในชีวิต ในโลก  ถ้าไม่รู้ ไม่เข้าใจ และไม่เห็นแจ้งในชีวิต ในโลก ก็ไม่เรียกว่ามีปัญญา (อย่าลืมว่าการรู้ เข้าใจ และเห็นแจ้งนั้น ก็รู้ เข้าใจ และเห็นแจ้งเท่าที่ควรรู้ เข้าใจ และเห็นแจ้ง หรือแค่ช่วยให้ดับทุกข์ได้เท่านั้น ไม่ใช่จะรู้แจ้งอย่างผู้วิเศษอย่างที่เราอาจเคยได้ยินมา) (หมายเหตุ. จุดนี้เราเข้าใจและยอมรับหรือเปล่า?)

ศึกษาอย่างไรจึงจะเกิดปัญญา? การศึกษาที่จะทำให้เกิดปัญญานั้น จะต้องศึกษาจากสิ่งที่เรามีอยู่จริง หรือสามารถสัมผัสได้จริงในปัจจุบันเท่านั้น (ไม่ใช้ความเชื่อจากใครๆหรือจากตำราใด) ซึ่งการศึกษาจากสิ่งที่เรามีอยู่จริงนี้ ก็ต้องใช้เหตุให้ผลจากสิ่งที่เรามีอยู่จริงนั่นเองมาศึกษา (ไม่ใช้การคาดเดา) ส่วนการศึกษาก็ต้องมีการศึกษาไปตามลำดับ (คือจากพื้นฐานไปหายอด จากง่ายไปหายาก มีการแตกกิ่งก้านสาขาออกไปอย่างเป็นระเบียบ เป็นต้น) รวมทั้งจะยอมรับก็ต้องเมื่อ ได้พิสูจน์จนเห็นผลอย่างแน่ชัดก่อนแล้วเท่านั้น (พิสูจน์ก่อนเชื่อ) เมื่อศึกษาได้เช่นนี้จึงจะเกิดปัญญาได้อย่างแท้จริง ซึ่งนี่ก็ตรงกับหลักวิทยาศาสตร์นั่นเอง

แล้วหัวใจของปัญญา คืออะไร? การที่เราจะรู้ เข้าใจ และเห็นแจ้งชีวิตและโลกได้นั้น เราก็ต้องรู้ เข้าใจและเห็นแจ้งสิ่งๆหนึ่งก่อน สิ่งนั้นก็คือ กฎสูงสุดที่ควบคุมทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ ที่เรียกว่า กฎสูงสุดของจักรวาล ที่พระพุทธเจ้าเรียกว่า กฎอิทัปปัจจยตา ซึ่งกฏนี้ก็คือกฏง่ายๆที่บอกว่า สิ่งใดจะเกิดขึ้นมา สิ่งนั้นจะต้องมีเหตุและปัจจัย (ปัจจัยก็คือเหตุย่อยๆ) มาปรุงแต่งให้เกิดขึ้น คือกฏนี้สรุปว่า “ทุกสิ่งที่เกิดขึ้น ต้องมาจากเหตุ (คือหลายๆเหตุ ไม่ใช่แค่เหตุเดียว เพราะเพียงเหตุเดียวจะไม่สามารถปรุงแต่งให้เกิดอะไรขึ้นมาได้)” เมื่อเราเข้าใจและยอมรับกฏนี้แล้ว เราก็จะนำกฎนี้มาพิจารณาร่างกายและจิตใจของเราเองเป็นหลัก และพิจารณาสิ่งที่เรามองเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ได้ลิ่มรส ได้สัมผัสทางกาย และได้สัมผัสทางใจ

เมื่อเรายอมรับว่า “ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นต้องมาจากเหตุและปัจจัย” แล้ว มันก็ง่าย (ถ้าไม่ยอมรับมันก็ยากหรือไม่มีทางเข้าใจเลย) แต่ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจคำว่า “เกิดขึ้น” ก่อน คือคำว่า “เกิดขึ้น” หมายถึง จากที่มันไม่มีอยู่ก่อน แล้วมามีขึ้นภายหลัง อย่างเช่น เมื่อเรายังไม่เคาะระฆัง มันก็ไม่มีเสียงระฆัง แต่เมื่อเราเคาะระฆัง เสียงระฆังจึงเกิดขึ้น ส่วนคำว่า “ดับไป” ก็คือ เมื่อเราหยุดเคาะระฆัง เสียงระฆังมันก็ดับหายไป ส่วนคำว่า “ตั้งอยู่” ก็หมายถึงว่า ขณที่เสียงระฆังยังดังอยู่ ยังไม่ดับหายไป เป็นต้น และเมื่อเข้าใจคำว่า เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปแล้วมันก็ง่ายที่จะเกิดปัญญา เพราะเมื่อเราสัมผัสหรือรู้แจ้งด้วยจิตใจของเราเองว่า สิ่งใดที่มีการ “เกิดขึ้น” และ “ดับหายไป” ก็แสดงว่า สิ่งนั้นเกิดขึ้นมาจากเหตุและปัจจัย ตามกฏอิทัปปัจจยตา (สิ่งที่เกิดขึ้นมาจากเหตุและปัจจัยจะเรียกว่าเป็น สังขาร ที่หมายถึง สิ่งปรุงแต่ง)

สิ่งแรกที่เราจะต้องนำมาพิจารณาว่ามันเป็นสิ่งปรุงแต่งตามกฏอิทัปปัจจยตาหรือไม่นั้นก็คือ ร่างกายของเราเอง ซึ่งเราก็จะเห็นได้ว่า แต่เดิมร่างกายของเรานั้นมันยังไม่มี แต่เมื่อเชื้อของพ่อมาผสมกับไข่ของแม่ จึงเป็นเหตุให้เกิดร่างกายขึ้นมา และเมื่อมีอาหาร น้ำ อุณหภูมิที่พอเหมาะ และอากาศบริสุทธิ์ (ธาตุ ๔ ดิน น้ำ ไฟ ลม) เป็นปัจจัยมาปรุงแต่งให้เกิดร่างกายขึ้นมา (วัตถุทั้งหลายก็มีลักษณเดียวกันนี้) ซึ่งนี่แสดงถึงว่า ร่างกายเป็นสิ่งปรุงแต่ง

เมื่อร่างกายเป็นสิ่งปรุงแต่งมาจากเหตุและปัจจัย (คือธาตุ ๔) ก็แสดงว่า สิ่งที่เราสมมติเรียกว่าเป็น “ร่างกาย” จริงๆนั้นมันไม่มี มีแต่ร่างกายสมมติ เพราะความจริงมันเป็นแค่ สิ่งปรุงแต่ง เท่านั้น ดังนั้นมันจึงไม่ใช่สิ่งจะเป็นร่างกายจริงๆ (ถ้ามันเป็นร่างกายจริงๆ (อัตตา) มันจะต้องไม่อาศัยเหตุและปัจจัยมาปรุงแต่งให้เกิดขึ้น คือมันจะมีตัวตนเฉพาะของมันเอง และอัตตานี้จะเที่ยง (นิจจัง)ไม่ต้องทนอยู่ (สุขัง)) ซึ่งคำว่า อนัตตา นี้ก็แปลว่า ไม่ใช่ อัตตา นั่นเอง

เมื่อร่างกายเกิดขึ้นมาแล้ว มันก็ไม่สามารถตั้งอยู่ไปชั่วนิรันดร หรือเป็นอมตะได้ เพราะสุดท้ายไม่ช้าก็เร็ว มันจะต้องแตกสลายหายไปในที่สุด (อนิจจัง) และแม้ขณะที่ร่างกายยังตั้งอยู่ มันก็ยังต้องทนประคับประคองตัวตนชั่วคราวของมันเอาไว้ด้วยความยากลำบาก คือมันต้องทนต่อความหิว ความกระหาย ความหนาว ความร้อน แรงกดดัน และโรคภัยต่างๆ เป็นต้น ที่ทำให้ร่างกายเกิดความรู้สึกทรมานหรือทนได้ยาก มากบ้างน้อยบ่างอยู่ตลอดเวลา (ทุกขัง)

สภาวะที่ร่างกายเป็นอนิจจัง ทุกขัง และอนัตตาอย่างไร จิตใจของเราก็เป็นเช่นนั้นไม่ต่างกัน คือ จิตหรือใจนี้สรุปแล้วมันก็คือ สิ่งที่รู้สึกและคิดนึกได้ (คือจิตเกิดมาจาก วิญญาณ-การรับรู้, เวทนา-ความรู้สึก, สัญญา-การจำสิ่งที่รู้สึกได้,สังขาร-การคิดนึกปรุงแต่ง มาปรุงแต่งหรือประกอบขึ้นมา ) ดังนั้นเมื่อจิตมีความรู้สึกนึกคิดได้ ก็เรียกว่า จิตเกิด (คือเมื่อเราเริ่มตื่น) เมื่อจิตยังรู้สึกนึกคิดได้อยู่ ก็เรียกว่า จิตตั้งอยู่ (คือเมื่อเรามีสติสัมปฤดีอยู่) เมื่อจิตไม่มีความรู้สึกนิกคิด ก็เรียกว่า จิตดับ (คือเวลาที่เราหลับสนิทและไม่ฝัน) ซึ่งนี่ก็แสดงถึงว่า จิตใจของเรานี้มันไม่ใช่ตัวตนอมตะ (ไม่ใช่อัตตาที่จะเวียนว่ายตายเกิดทางร่างกายได้) หรือที่เราเรียกว่า จิตใจเป็นอนัตตา (อนัตตลักษณะ) ซึ่งเมื่อจิตมีการเกิดดับ ก็แสดงว่ามันไม่เที่ยง (อนิจจลักษณะ) และเมื่อจิตมีความรู้สึกที่ทนได้ยากมาก (คือเมื่อมันเกิดกิเลสหรือความยึดถือว่ามีตนเองหรือตัวเราขึ้นมา) ก็เรียกว่าเป็นทุกข์ แต่เมื่อจิตมีความรู้สึกที่ทนได้ยากน้อย (คือเมื่อจิตว่างจากเลสและความยึดถือว่ามีตนเองหรือตัวเรา) ก็เรียกว่า ไม่เป็นทุกข์ ซึ่งนี่ก็คือทุกขลักษณะของจิตใจโดยสรุป (จิตนิพพานก็คือจิตขณะที่ไม่เป็นทุกข์หรือมีทุกขลักษณะน้อยมากนั่นเอง)

สรุปแล้วทั้งหมดนี้ก็คือการอธิบายให้เข้าใจเรื่อง อัตตา (คำสอนของพราหมณ์) กับ อนัตตา (คำสอนของพระพุทธเจ้า) ตามที่อาตมาเข้าใจ (เห็น) ซึ่งเมื่อเราเข้าใจเรื่องความเป็นอนัตตาของจิตใจแล้ว เราก็จะเข้าใจได้เองว่า มันไม่มีได้มีสิ่งที่จะเป็นตัวตน (อัตตา) ของเราหรือของใครๆหรือของสิ่งใดๆอยู่จริง มีแต่ตัวตนสมมติหรือตัวตนชั่วคราว (อนัตตา) เท่านั้น และเมื่อเรานำเอาความเข้าใจนี้มาเพ่งพิจารณาดูในร่างกายและจิตใจของเราเองรวมทั้งในทุกสิ่งที่เรากำลังสัมผัสอยู่ (คือเพ่งด้วยสมาธิอย่างแรงกล้า โดยมีศีลเป็นพื้นฐานอยู่ก่อนแล้ว) จิตของเราก็จะยอมรับ และปล่อยวางความยึดถือว่าร่างกายและจิตใจรวมทั้งทุกสิ่งที่เกี่ยวข้องกับชีวิตว่าเป็นตัวเรา-ของเราลงทันที เมื่อจิตไม่มีกิเลสหรือความยึดถือ มันก็ไม่เป็นทุกข์ เมื่อไม่มีทุกข์มันก็สงบเย็นหรือนิพพาน แต่ถ้าจิตยังมีความเคยชินของกิเลสหรือความยึดถือ (คือสังโยชน์) อยู่ในจิตใต้สำนึก แล้วสมาธิหายไปเมื่อใด จิตก็จะยังกลับมาเกิดกิเลสและความยึดถือใหม่ได้อีก จนกว่าเราจะสามารถปฏิบัติปัญญา ศีล สมาธิ อย่างเคร่งครัดและต่อเนื่องนานๆ จนทำลายสังโยชน์ได้ถาวร กิเลสและความยึดถือก็จะไม่กลับมาเกิดอีกอย่างถาวรหรือตลอดชีวิตได้ ที่เรียกว่า นิพพานสูงสุด

เตชปัญโญ ภิกขุ

อาศรมพุทธบุตร เกาะสีชัง ชลบุรี

๒๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๗

ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.whatami.net

*********************
หน้ารวมบทความ
*********************