ความขัดแย้งระหว่างความเชื่อกับความจริง

************

เรื่องชาตินี้ชาติหน้ามาจากไหน?

ชาวพุทธที่ไม่ได้ศึกษาหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าให้เข้าใจอย่างถูกต้อง ก็จะมีความเชื่อกัน (ผิดๆ) ว่า ก็เมื่อชาตินี้ยังมีได้ แล้วทำไมชาติหน้าจะไม่มี? คือตามธรรมดานั้น คนเรานี้ย่อมที่จะมีความรู้สึกว่ามีตัวเองที่เป็นชายหรือหญิง ที่มีความทรงจำอย่างนี้ คือจำได้ว่ามีพ่อมีแม่ มีพี่มีน้อง มีชื่อนี้ และมีสิ่งนั้นสิ่งนี้เป็นของตน เป็นต้น จึงได้เกิดความรู้สึกว่ามีตนเองเกิดมาเป็นอย่างนี้ หรือเรียกว่ามีชาตินี้ ซึ่งนี่คือความรู้สึกว่ามีตนเองนี้เองที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดความเชื่อว่ามีอัตตาที่หมายถึงสิ่งที่เป็นตนเองหรือตัวเราจริงๆ ที่จะไม่มีวันดับสูญไป แม้จะตายไปแล้วก็จะต้องมีเราเกิดขึ้นมาได้ใหม่ได้อีก ที่เรียกว่า ชาติหน้า ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อมีชาตินี้-ชาติหน้า มันก็ต้องมีชาติที่แล้วด้วย คือทำให้เกิดความเชื่อว่า มันก็ต้องมีตัวเรามาก่อนที่จะมีชาตินี้ด้วย คือสรุปว่าเมื่อชาตินี้ยังมีตัวเราได้ จึงทำให้เกิดความเข้าใจ (ตามเหตุผลที่ว่า ชาตินี้เป็นเหตุให้เกิดชาติหน้า) หรือเชื่อ (ตามตำรา หรือตามคนอื่น หรือตามสามัญสำนึกที่เรารู้สึกว่ามีตัวเราอยู่จริงๆ) ว่า มันก็ต้องมีตัวเราชาติที่แล้ว (หรือชาติก่อนๆ) ด้วย รวมทั้งมันก็ต้องมีชาติหน้า (หรือชาติต่อๆไป) ด้วย ซึ่งนี่คือความเชื่อเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดทางร่างกาย ที่เป็นคำสอนของศาสนาพราหมณ์ ที่ทำให้เกิดความเชื่อเรื่องนรกใต้ดิน สวรรค์บนฟ้า ผี เทวดา นางฟ้า และเรื่องกรรมชนิดข้ามภาพข้ามชาติ เป็นต้นขึ้นมา และความเชื่อนี้ก็ได้ผสมหรือปลอมปนเข้ามาอยู่ในคำสอนของพุทธศาสนามาช้านานแล้วโดยที่ชาวพุทธไม่รู้ตัว

แต่ในความเป็นจริงนั้น ความรู้สึกว่ามีตัวเราในชาตินี้ มันเป็นแค่เพียงการปรุงแต่งหรือสร้างสรรค์ของธรรมติอย่างน่าอัศจรรย์ ที่ได้นำเอาธาตุดิน (ของแข็ง) ธาตุน้ำ (ของเหลว) ธาตุไฟ (ความร้อน) และธาตุลม (ก๊าซ) มาปรุงแต่งให้เกิดเป็นร่างกายและจิตใจขึ้นมา แล้วใส่ความรู้พิเศษว่ามีตนเอง (หรือตัวเรา) เอาไว้ในจิตใจของทุกชีวิต จึงทำให้ทุกชีวิตเกิดความรู้สึกว่ามีตนเอง (หรือตัวเรา) เกิดขึ้นมาชั่วคราวเท่านั้น ซึ่งทุกชีวิตก็จะมีความรู้สึกว่ามีตนเองเหมือนๆกันหมด เพราะมันคือชีวิตเดียวกัน เหมือนก๊อปปี้มาจากต้นกำเนิดเดียวกัน จะต่างกันบ้างก็เพียงร่างกายและความทรงจำเท่านั้น ส่วนความรู้สึกว่ามีตนเองนั้นจะเหมือนกัน เพราะเมื่อเกิดมาใหม่ๆจิตใจของทุกชีวิตหรือของเด็กทุกคนจะบริสุทธิ์ (ประภัสสร) เหมือนกันหมด คือไม่มีความทรงจำใดๆ ไม่มีกิเลส และไม่มีความรู้สึกว่ามีตนเอง รวมทั้งไม่มีสติปัญญาใดๆด้วย จะมีก็เพียงสัญชาติญาณ (ความรู้ที่เกิดขึ้นมาพร้อมกับชีวิตตามธรรมชาติโดยไม่มีใครสอน) ว่ามีตนเองเพียงเล็กน้อยเท่านั้น (สัญชาติญาณว่ามีตนเองนี้ทางพุทธศาสนาเรียกว่า อวิชชา) 

เมื่อเด็กนั้นโตขึ้นจึงได้สัมผัสโลกผ่านตา หู จมูก ลิ้น กาย จึงได้ค่อยๆเกิดความทรงจำขึ้น ซึ่งความทรงจำที่มากขึ้นนี้เอง ที่ทำให้เกิดการคิดนึก (การปรุงแต่งทางจิต) ที่มากขึ้น ซึ่งการคิดนึกนี้เองที่ไปกระตุ้นสัญชาติญาณว่ามีตนเองให้มีความเข้มข้นขึ้น จนเกิดเป็นความรู้สึกว่ามีตนเองขึ้นมา และเมื่อมีความรู้สึกว่ามีตนเองขึ้นมาแล้ว เมื่อสัมผัสโลกก็จะเกิดความรู้สึกต่างๆขึ้นมา (คือความรู้สึกสุขหรือน่าพอใจ, ความรู้สึกทุกข์หรือไม่น่าพอใจ, ความรู้สึกจืดๆหรือไม่สุขไม่ทุกข์) จิตของเด็กก็จะเกิดกิเลส (คือพอใจ, ไม่พอใจ, ไม่แน่ใจ) ขึ้นมา ซึ่งกิเลสนี้เองที่กระตุ้นให้จิตของเด็กเกิดความยึดถือว่ามีตนเอง (ซึ่งเป็นความรู้สึกว่ามีตนเองที่เข้มข้นมากขึ้นจนจิตเกิดความรู้สึกทนได้ยากหรือทรมาน) ขึ้นมา และเมื่อมีความยึดถือว่ามีตนเอง จิตก็จะเป็นทุกข์ แต่เมื่อใดที่จิตไม่มีความยึดถือว่ามีตนเอง จิตก็จะไม่เป็นทุกข์ เมื่อจิตไม่เป็นทุกข์ มันก็จะสงบเย็น (นิพพาน)

สรุปได้ว่า การที่จิตเกิดความรู้สึกว่ามีตัวเราขึ้นมาจนเรามาเชื่อกันว่ามีตัวเราจริงๆในชาตินี้นั้น มันเป็นเพียงการปรุงแต่งหรือสร้างสรรค์ของธรรมชาติอย่างน่าอัศจรรย์เท่านั้น ซึ่งการปรุงแต่งนี้ก็คือการที่ธรรมชาติได้นำเอาสิ่งต่างๆมารวมตัวกันจนเกิดเป็นสิ่งใหม่ขึ้นมาได้อย่างน่าอัศจรรย์ ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นมานี้จะไม่สามารถตั้งอยู่หรือธำรงอยู่ได้ตลอดไป เพราะมันขึ้นอยู่กับเหตุและปัจจัยที่มาปรุงแต่งมันขึ้นมา  ดังนั้นเราจึงไม่สามารถที่จะมายึดถือว่า จิตใจหรือความรู้สึกว่ามีตัวเรา ที่เป็นสิ่งปรุงแต่งนี้จะเป็นตัวตนหรืออัตตาของเราหรือของใครๆได้ หรือจะเรียกว่าความรู้สึกว่ามีตัวเรานี้มันเป็นมายา (ของหลอกลวงให้เข้าใจผิดว่าเป็นของจริง) หรือตัวเราชั่วคราว (ไม่เป็นอมตะ) นั่นเอง  

เตชปัญโญ ภิกขุ

อาศรมพุทธบุตร เกาะสีชัง ชลบุรี

๑๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๘

ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.whatami.net

*********************
หน้ารวมบทความ
*********************