ความขัดแย้งระหว่างความเชื่อกับความจริง

************

เรื่องสาเหตุที่ทำให้ไม่เชื่อเรื่องการเวียนว่ายตาย-เกิด

ชาวพุทธที่ไม่ได้ศึกษาหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าให้เข้าใจอย่างถูกต้อง ก็จะมีความเชื่อกัน (ผิดๆ) ว่า ชีวิตของมนุษย์เรานี้มีการเวียนว่ายตาย-เกิดเพื่อรับผลกรรมเก่า และมีนรกใต้ดินสวรรค์บนฟ้า รวมทั้งมีเทวดา นางฟ้า พระอินทร์ พระพรหม ยมบาล ผี เปรต ชนิดที่เป็นตัวตนบุคคล เป็นต้น อยู่จริง ซึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดความเชื่อเช่นนี้ขึ้นมาก็มีด้วยกันหลายสาเหตุ

แต่ในความเป็นจริงนั้น พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนเรื่องการเวียนว่ายตาย-เกิดเพื่อรับผลกรรมเก่า และเรื่องนรกใต้ดินสวรรค์บนฟ้า รวมทั้งเรื่องเทวดา นางฟ้า พระอินทร์ พระพรหม ยมบาล ผี เปรต ชนิดที่เป็นตัวตนบุคคล เป็นต้น โดยเรื่องเหล่านี้เป็นคำสอนของศาสนาพราหมณ์มาก่อน แล้วต่อมาก็ได้ปลอมปนเข้ามาอยู่ในคำสอนของพุทธศาสนามาช้านานแล้วโดยที่ชาวพุทธไม่รู้ตัว และเมื่อมีผู้ได้ค้นพบว่าคำสอนเหล่านี้ไม่ได้เป็นคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้า จึงทำให้เขาไม่ยอมรับคำสอนเหล่านี้ หรือไม่เชื่อเรื่องเหล่านี้ และก็ได้เกิดการโต้แย้งกับฝ่ายที่เชื่อขึ้นมา ดังนี้

ฝ่ายที่เชื่อบางคนก็จะเชื่อตามที่พระไตรปิฎกบันทึกไว้ และเชื่อว่าข้อความในพระไตรปิฎกคือคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้า  แต่ฝ่ายที่ไม่เชื่อจะแย้งว่า ตำราพระไตรปิฎกก็มีคำสอนอยู่ว่า อย่าเชื่อเพียงเพราะเหตุว่า มีตำราอ้างอิง แต่ให้นำมาลองปฏิบัติดูก่อน เมื่อได้ผลจึงค่อยปลงใจเชื่อ ถ้าไม่ได้ผลก็อย่าเชื่อ สรุปก็คือเราไม่เคยได้พบเห็นเรื่องเหล่านี้จริงๆเลย แม้จะเคยฝึกสมาธิมาก่อน ก็ไม่เคยได้พบตามคำล่ำลือ มีแต่มโนภาพเกิดขึ้นมาหลอกจิตเท่านั้น

ฝ่ายที่เชื่อบางคนก็จะเชื่อตามสามัญสำนึก (ความรู้สึก) ว่ามีตัวเราอยู่จริงในขณะนี้ จึงเชื่อว่าเมื่อชาตินี้ยังมีเราได้ ดังนั้นมันก็ต้องมีเราเกิดขึ้นมาได้อีกในชาติหน้า แต่ฝ่ายที่ไม่เชื่อก็จะแย้งว่า สามัญสำนึกเป็นเพียงความรู้สึกธรรมดาของจิตที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา จึงเชื่อไม่ได้ ส่วนความรู้สึกว่ามีตัวเราอยู่นี้ เกิดมาจากการปรุงแต่งของเหตุปัจจัยเท่าที่ยังมีอยู่จริงในปัจจุบันเท่านั้น ดังนั้นจึงเท่ากับว่ามันไม่มีสิ่งที่เป็นตัวเราอยู่จริงในปัจจุบัน (เห็นสุญญตา) เมื่อไม่มีตัวเรา จึงเท่ากับไม่มีตัวเรามาเกิด และไม่มีตัวเราตาย จึงเท่ากับว่าความจริงแล้วไม่มีเรื่องการเวียนว่ายตาย-เกิดทางร่างกาย มีแต่ความเชื่อเท่านั้น

ฝ่ายที่เชื่อบางคนก็จะเชื่อจากการคาดเดาว่า คนเราเกิดมาแตกต่างกันเพราะกรรมเก่า ถ้าไม่มีการเวียนว่ายตายเกิด คนเราก็ต้องเกิดมาเท่าเทียมกัน แต่ฝ่ายที่ไม่เชื่อก็จะแย้งว่า เมื่อเข้าใจและเห็นแจ้งแล้วว่า มันไม่มีตัวเราอยู่จริง (เห็นสุญญตา) ก็จะเข้าใจได้เองว่า มันไม่ได้มีตัวตนของใครๆอยู่จริงด้วย เมื่อมันไม่มีตัวตนของใครๆอยู่จริง จึงทำให้เข้าใจได้ว่า ทุกๆคนตามที่สมมติเรียกกันนี้ แท้จริงแล้วมันไม่ได้มีความแตกต่างกันเลย เพราะมันไม่ได้มีตัวตนของใครๆอยู่จริง

ฝ่ายที่เชื่อบางคนก็จะเชื่อตามครูอาจารย์ เพราะเชื่อว่าครูอาจารย์เขารู้มากกว่าตน แต่ฝ่ายที่ไม่เชื่อก็จะแย้งว่า แม้ครูอาจารย์ ถ้าบังเอิญท่านมีความเห็นผิดอยู่ก่อนแล้วโดยที่ตัวท่านเองก็ไม่รู้ตัว ถ้าเราไปเชื่อท่าน เราก็จะพลอยเกิดความเห็นผิดตามท่านไปด้วยทันที

ฝ่ายที่เชื่อบางคนก็จะเชื่อตามคนที่มีชื่อเสียง เช่น เห็นว่าเขาจบปริญญาด้านศาสนามา เป็นต้น เขาจึงต้องมีความรู้ถูกต้อง แต่ฝ่ายที่ไม่เชื่อก็จะแย้งว่า แม้คนที่ดูแล้วน่าเชื่อถือนั้น ถ้าบังเอิญเขามีความเห็นผิดมาก่อนโดยที่เขาเองก็ไม่รู้ตัว เมื่อเราไปเชื่อเขา เราก็จะพลอยเกิดความเห็นผิดตามเขาไปด้วยทันที

ฝ่ายที่เชื่อบางคนก็จะเชื่อตามสังคม คือคนส่วนใหญ่เขาเชื่อเช่นนี้ เราก็ต้องเชื่อตามเขา ถ้าไม่เชื่อก็จะกลายเป็นแกะดำเข้ากับเขาไม่ได้ แต่ฝ่ายที่ไม่เชื่อก็จะแย้งว่า ถ้าสังคมเขามีความเห็นผิด เราก็จะพลอยมีความเห็นผิดตามเขาไปด้วยทันที ซึ่งสังคมในปัจจุบัน ก็มีแต่คนที่ถูกกิเลส (ความโลภ โกรธ หลง) และอวิชชา (ความรู้ผิดว่ามีตนเอง) ครอบงำอยู่แล้วทั้งสิ้น ดังนั้นความรู้ และความเข้าใจของสังคม จึงเป็นไปในทางที่ผิด (มิจฉาทิฏฐิ) เสียทั้งหมด เมื่อสังคมถูกมิจฉาทิฏฐิครอบงำ สังคมจึงเดือดร้อนวุ่นวาย จนหาความสงบและสันติภาพไม่ได้ อย่างเช่นในปัจจุบัน

ฝ่ายที่เชื่อบางคนก็จะเชื่อตามพ่อแม่ หรือคนที่เรารักหรือนับถือ แต่ฝ่ายที่ไม่เชื่อก็จะแย้งว่า ถ้าคนที่เรารักหรือนับถือนั้นบังเอิญท่านมีความเห็นผิดอยู่ก่อน แล้วเราเชื่อท่าน เราก็จะพลอยมีความเห็นผิดตามท่านไปด้วยทันที

สรุปว่า ความเชื่อเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดทางร่างกายเพื่อรับผลกรรมเก่า เป็นต้นนั้น เป็นแค่ความเชื่อ ที่ไม่มีทั้งเหตุผลมาอธิบายให้เราเข้าใจได้ และไม่มีของจริงมายืนยัน แม้จะมีผลดีอยู่บ้างที่ทำให้คนที่เชื่อไม่กล้าทำความชั่ว และอยากจะทำความดี แล้วทำให้สังคมมีความปกติสุขในตอนต้นก็ตาม แต่ก็มีผลเสียตรงที่ทำให้คนที่เชื่อนั้นไม่เกิดปัญญาสำหรับนำมาใช้คู่กับสมาธิ โดยมีศีลเป็นพื้นฐาน ในการปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้นจาความทุกข์ของจิตใจในปัจจุบัน หรือทำให้ความทุกข์ใจในปัจจุบันลดน้อยลง (ทั้งอย่างชั่วคราวและอย่างถาวร) เมื่อไม่มีปัญญาก็ย่อมไม่พ้นทุกข์ในปัจจุบัน และยังจะต้องพบกับปัญหาและความทุกข์ความเดือดร้อนอีกมากมายในภายหลัง เพราะว่าไม่มีปัญญามาเป็นเครื่องนำไปสู่การดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง (สัมมาทิฏฐิ)

เตชปัญโญ ภิกขุ

อาศรมพุทธบุตร เกาะสีชัง ชลบุรี

๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๘

ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.whatami.net

*********************
หน้ารวมบทความ
*********************