ความขัดแย้งระหว่างความเชื่อกับความจริง

************

เรื่องพระพุทธเจ้าทรงค้นพบว่า“เราไม่มีตัวตน”

ชาวพุทธที่ไม่ได้ศึกษาหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าให้เข้าใจอย่างถูกต้อง ก็จะมีความเชื่อกัน (ผิดๆ) ว่า เรานั้นมีตัวตน (อัตตา) คือตามธรรมชาติของจิตมนุษย์โดยทั่วไปย่อมที่จะมีความรู้สึกว่ามีตัวตน (หรือมีตนเองอยู่จริง) และตัวตนนี้จะไม่สูญหาย คือจะมีอยู่ตลอดไป เพียงแต่บางช่วงเวลาอาจจะอยู่ในลักษณะหรือสภาวะที่แตกต่างกัน เช่น บางเวลาเป็นคน บางเวลาก็เป็นสัตว์ บางเวลาก็เป็นเทวดา บางเวลาก็เป็นผี (อสุรกาย) เป็นต้น ซึ่งนี่ก็คือหลักคำสอนของศาสนาพราหมณ์ ที่มันตรงกับสามัญสำนึกของคนทั่วไปที่เชื่อเรื่องมีตัวตน ที่เวียนว่ายตาย-เกิดเพื่อมารับผลกรรมเก่า ที่เป็นเหตุให้เกิดความเชื่อเรื่องนรกใต้ดิน สวรรค์บนฟ้า เป็นต้นขึ้นมา

แต่การที่เจ้าชายสิทธัตถะทรงตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าขึ้นมาก็เพราะ ทรงค้นพบความจริงสูงสุดของธรรมชาติว่า สิ่งที่เชื่อกันว่าเป็นตัวตน (อัตตา) ของเรานั้นมันไม่ได้มีอยู่จริง ซึ่งก็ตรงข้ามกับความเชื่อเรื่องว่ามีตัวตนของพราหมณ์นั่นเอง และเมื่อไม่มีอัตตา จึงทำให้ความเชื่อเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดเพื่อมารับผลกรรมเก่า รวมทั้งความเชื่อเรื่องนรกใต้ดิน สวรรค์บนฟ้า และเรื่องเทวดา นางฟ้า ผี เปรต เป็นต้นนั้น พลอยไม่มีจริงตามไปด้วย (มีแต่ความเชื่อว่ามันมีเท่านั้น)

แต่มันก็ยากมากที่คนทั่วไปจะยอมรับเรื่องที่ว่า ไม่มีตัวเอง เพราะใครๆเขาก็รู้สึกกันว่ามีตัวเองอยู่ทั้งนั้น และยังมีตำรามากมายมารองรับ รวมทั้งคนเกือบทั้งโลกเขาก็เชื่อว่ามีตนเองด้วยกันทั้งนั้น แล้วจะมาบอกว่าไม่มีตัวเองได้อย่างไร? นี่เองที่ทำให้คนที่สอนเรื่องไม่มีตัวเองนี้ถูกมองว่าเป็นคนขวางโลกหรือเป็นคนบ้าไปเสียแล้ว

การค้นพบว่า “เราไม่มีตัวตน” ของพระพุทธเจ้านี้ เกิดมาจากการพิจารณาจากเหตุผลตามความเป็นจริงของชีวิต ไม่ได้เกิดมาจากความเชื่อตามคนอื่น คือเหตุผลจากความเป็นจริงมันบอกว่า เราไม่มีตัวตน แต่สามัญสำนึกของจิตมันบอกว่า เรามีตัวตน ที่นี้มันก็ขึ้นอยู่กับว่า เราจะยอมรับเหตุผลตามความเป็นจริง หรือจะเชื่อตามสามัญสำนึกของจิต

เหตุผลที่ว่า “เราไม่มีตัวตน” นี้ก็คือ เมื่อเราพิจารณาดูจากความจริงของธรรมชาติแล้วเราก็จะพบกับกฎสูงสุดของธรรมชาติที่ควบคุมทุกสิ่งทุกอย่างเอาไว้ ซึ่งกฎนี้ก็คือกฎง่ายๆที่ใครๆก็ยอมรับ อันได้แก่กฎที่ว่า “การที่สิ่งใดจะเกิดขึ้นมาได้ มันจะต้องมีเหตุและปัจจัย (ปัจจัยก็คือเหตุย่อยๆ) มาร่วมกันปรุงแต่ง (หรือสร้าง หรือทำ หรือประกอบ) ให้เกิดขึ้น” (กฎนี้พระพุทธเจ้าทรงเรียกว่า กฎอิทัปปัจจยตา) คือเดิมสิ่งต่างๆจะยังไม่มี แต่เมื่อมีเหตุและปัจจัยพร้อม มันก็จะเกิดการปรุงแต่งให้เกิดสิ่งต่างๆขึ้นมา และสิ่งที่เกิดขึ้นมานี้จะเรียกว่าเป็น สังขาร ที่หมายถึง สิ่งปรุงแต่ง (ส่วน สิ่งที่ไม่ปรุงแต่ง นั้นเรียกว่า วิสังขาร คือเป็นสิ่งที่มีอยู่ แต่มันมีโดยไม่ต้องมีเหตุและปัจจัยมาปรุงแต่งให้มันมี ซึ่งสิ่งที่เป็นวิสังขารนั้นก็ได้แก่ กฎของธรรมชาติ ความว่าง ความดับ และนิพพาน-ความสงบเย็นของจิต เท่านั้น นอกนั้นจะเป็นสังขารทั้งสิ้น)

ตัวอย่างเช่น เดิมร่างกายของเราจะยังไม่มี แต่เมื่อมีเชื้อของพ่อมาผสมกับไข่ของแม่ จึงเริ่มเกิดร่างกายขึ้นมา เมื่อมีร่างกายขึ้นมาแล้วก็ยังต้องมีอาหาร น้ำ อุณหภูมิที่พอเหมาะ และมีอากาศที่บริสุทธิ์มาร่วมกันปรุงแต่ง จึงทำให้ร่างกายเจริญเติบโตขึ้นมาและตั้งอยู่ได้ หรืออย่างเช่น จิตของเรานี้ ก็ต้องมีร่างกายที่ยังมีชีวิตมาเป็นเหตุให้เกิดการรับรู้ (วิญญาณขันธ์) ขึ้นมาที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ก่อน แล้วอาศัยความทรงจำที่สมองมีอยู่เป็นปัจจัย มาร่วมกันปรุงแต่งให้เกิดเป็นจิตที่สามารถรับรู้สิ่งต่างๆ (เช่น รูป เสียง กลิ่น รส เป็นต้น) ได้, จำสิ่งที่รับรู้ได้ (สัญญาขันธ์), รู้สึกต่อสิ่งต่างๆที่รับรู้ได้ (เวทนาขันธ์), รวมทั้งยังมีการปรุงแต่งให้เกิดเป็นความอยาก ความยึดถือ และความคิด เป็นต้น (สังขารขันธ์) ขึ้นมาได้ แล้วเราสมมติเรียกว่า จิต หรือ ใจ นี่เอง เป็นต้น

สิ่งปรุงแต่งทั้งหลาย จะมีลักษณะหรือความจริงประจำตัวอยู่ ๓ ประการ (ที่เรียกว่ากฎไตรลักษณ์) คือ

๑. ไม่เที่ยง (อนิจจัง) คือไม่สามารถที่จะตั้งอยู่ในลักษณะหรือสภาพเดิมได้ตลอดไป คือเมื่อเกิดขึ้นมาแล้วก็ยังมีการเปลี่ยนแปลงหรือไหล หรือมีการเสื่อมสภาพอยู่ตลอดเวลา และสุดท้ายไม่ช้าก็เร็วสิ่งปรุงแต่งทั้งหลายก็ต้องแตก (ใช้กับวัตถุ) หรือดับ (ใช้กับจิต) ไปอย่างแน่นอน

๒. มีสภาวะที่ต้องทน (ทุกขัง) คือขณะที่สิ่งปรุงแต่งทั้งหลายยังไม่แตกหรือดับไป มันก็ยังต้อนทนที่จะประคับประคองสภาพการปรุงแต่งของมันเอาไว้ด้วยความยากลำบาก ถ้าไม่ทนมันก็จะต้องแตกหรือดับหายไปในทันที

๓. ไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง (อนัตตา) คือสิ่งที่ถูกปรุงแต่งให้เกิดขึ้นมาทั้งหลายนี้ มันไม่ใช่สิ่งที่จะเป็นตัวตนของมันเองจริงๆ อย่างชนิดที่จะตั้งอยู่ได้ตลอดไป โดยไม่ต้องอาศัยเหตุและปัจจัยมาปรุงแต่งให้เกิดขึ้น อย่างที่เรียกว่าอัตตาตามที่ศาสนาพราหมณ์สอน

 สรุปได้ว่า สิ่งปรุงแต่งทั้งหลายนั้น แม้ว่ามันจะได้รับการปรุงแต่งให้เกิดเป็นสิ่งต่างๆขึ้นมาแล้ว แต่ความจริงแล้วมันก็ไม่ได้มีตัวตนเช่นนั้นจริงๆเลย จึงเรียกได้ว่ามันเป็น สุญญตา คือ ว่างจากความเป็นตัวตน หรือ ไม่มีตัวตนของสิ่งใดจริง จะมีก็เพียงสภาพการปรุงแต่งให้เกิดเหมือนกับว่าเป็นตัวตนขึ้นมาเพียงชั่วคราว ที่เรามาสมมติเรียกกันว่าเป็น ตัวตนชั่วคราว เท่านั้น

 ลักษณะที่เราจะใช้สังเกตว่า สิ่งใดเป็นสิ่งปรุงแต่งนั้นก็คือ การเกิดขึ้นมาจากเหตุและปัจจัย คือ ถ้าเราพบหรือรู้สึกว่าสิ่งใดมีการเกิดขึ้น (การเกิดขึ้นคือจากเดิมที่ไม่มีอยู่ก่อน แล้วจึงมามีขึ้นทีหลัง) และต้องอาศัยเหตุและปัจจัยมาร่วมกันปรุงแต่งให้เกิดขึ้น เราก็รู้ได้ทันทีว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งปรุงแต่ง ซึ่งก็แน่นอนว่าสิ่งปรุงแต่งย่อมมีความไม่เที่ยง มีสภาวะที่ต้องทน และไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง

สิ่งสำคัญที่เราจะสังเกตว่าเป็นสิ่งปรุงแต่งหรือไม่นั้นก็คือ ร่างกายและจิตใจ (ที่สมมติเรียกว่า) ของเราเอง ซึ่งเราก็พบความจริงว่า ร่างกายก็ต้องอาศัยพ่อแม่สร้างขึ้นมา และต้องอาศัยอาหาร น้ำ อุณหภูมิที่พอเหมาะ และอากาศที่บริสุทธิ์ มาร่วมกันปรุงแต่งให้เกิดขึ้นและตั้งอยู่ได้ ดังนั้นร่างกายจึงเป็นสิ่งปรุงแต่งที่ไม่มีตัวตนเป็นของตนเอง ชนิดที่จะตั้งอยู่ได้ตลอดไปชั่วนิรันดร ส่วนจิตใจนั้นก็ต้องอาศัยร่างกายที่ยังมีชีวิตอยู่จึงเกิดการรับรู้ (วิญญาณขันธ์) ขึ้นมาที่ระบบประสาททั้ง ๖ ของร่างกาย และอาศัยความทรงจำที่สมองมีอยู่ มาเปรียบเทียบกับสิ่งที่จิตรับรู้ จึงจะเกิดการจำได้ ความรู้สึก และการคิดนึกปรุงแต่งขึ้นมา ถ้าไม่มีร่างกาย ก็จะไม่มีวิญญาณและก็จะไม่มีจิต หรือถ้าไม่มีความทรงจำที่สมอง ถึงจะมีจิตก็จำอะไรไม่ได้ คิดนึกอะไรไม่ได้ ซึ่งเมื่อเวลาหลับสนิทและไม่ฝัน จิตก็จะดับหรือไม่มี แต่เมื่อตื่นจิตจึงเกิดขึ้นมา (ส่วนเวลาหลับแต่ยังฝันอยู่ แสดงว่าเกิดจิตขึ้นมาแล้วแต่ยังไม่สมบูรณ์) ซึ่งนี่แสดงถึงว่าจิตเป็นสิ่งปรุงแต่ง ที่มีการเกิดขึ้นมาจากเหตุและปัจจัย และมีความไม่เที่ยง มีสภาวะที่ต้องทน รวมทั้งไม่ใช่อัตตาหรือตัวตนของใครๆจริง จึงสรุปได้ว่า จิตนี้ไม่มีตัวเรา หรือ ไม่มีตัวเราในจิต หรือ เราไม่มีตัวตนจริง นั่นเอง

สรุปได้ว่า สิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบนั้นเป็นความจริงสูงสุดของธรรมชาติ นั่นก็คือความจริงที่ว่า เราไม่มีตัวตน ชนิดที่จะเป็นอมตะหรือสามารถเวียนว่ายตาย-เกิดเพื่อมารับผลกรรมเก่าอย่างที่ศาสนาพราหมณ์สอนได้ ซึ่งการค้นพบนี้ต้องใช้ทั้งเหตุผลและความจริงที่เราทุกคนสามารถรู้สึกหรือพิสูจน์ได้จริงในปัจจุบันมาศึกษา จึงจะค้นพบความจริงสูงสุดนี้ได้ ซึ่งการค้นพบนี้เองที่เป็นหัวใจของปัญญา สำหรับนำมาใช้คู่กับสมาธิ โดยมีศีลเป็นพื้นฐาน ในการปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ของจิตใจในปัจจุบัน ตามหลักอริยสัจ ๔ ของพระพุทธเจ้า แต่ถ้าใครยังไม่เข้าใจและเห็นแจ้งเรื่องที่ว่า เราไม่มีตัวตน นี้อย่างถูกต้อง ก็จะยังคงเชื่อว่ามีตัวเรามาเวียนว่ายตาย-เกิดเพื่อรับผลกรรมเก่าต่อไป และยังไม่มีปัญญาสำหรับนำมาใช้ปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ของจิตใจในปัจจุบัน ตามหลักอริยสัจ ๔ ของพระพุทธเจ้าได้

 

เตชปัญโญ ภิกขุ

อาศรมพุทธบุตร เกาะสีชัง ชลบุรี

๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๘

ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.whatami.net

*********************
หน้ารวมบทความ
*********************