เราคืออะไร?

เราคือสิ่งที่มีชีวิตชนิดหนึ่งของโลก ที่ธรรมชาติได้นำเอาดิน น้ำ ไฟ ลม มาปรุงแต่งหรือสร้างสรรค์ให้เกิดเป็นร่างกายมีจิตหรือความรู้สึกนึกคิดได้ขึ้นมา แต่เพราะร่างกายเป็นสิ่งปรุงแต่ง จึงทำให้ในที่สุดไม่ช้าก็เร็ว ร่างกายทั้งหลายต้องแตกสลายหรือตายไป ดังนั้นเพื่อให้มีร่างกายเกิดขึ้นมาสืบต่อเอาไว้ จะได้ไม่สูญพันธุ์ไปจากโลก ธรรมชาติจึงได้มอบสัญชาติญาณที่เป็นความรู้ว่ามีตัวเอง เอาไว้ให้แก่จิตใต้สำนึกของสิ่งที่มีชีวิตทั้งหลาย เพื่อให้สิ่งที่มีชีวิตทั้งหลายจะได้มีความรู้สึกว่ามีตัวเอง เมื่อมีความรู้สึกว่ามีตัวเอง ก็จะได้รักตัวเอง และเมื่อรักตัวเอง ก็จะได้พยายามเอาตัวรอดและสืบเผ่าพันธุ์เอาไว้ ซึ่งจิตของเด็กที่เพิ่งเกิดใหม่ทุกคนจะยังบริสุทธิ์เหมือนกันหมด คือยังไม่มีกิเลส ไม่มีความยึดถือว่ามีตัวเอง จะมีก็เพียงสัญชาติญาณที่เป็นความรู้ว่ามีตัวเอง ที่ธรรมชาติมอบให้ไว้ เพื่อทำให้จิตเกิดความรู้สึกว่ามีตัวเองเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งนี่ก็หมายถึงว่า มนุษย์ทุกคนในโลกคือคนๆเดียวกัน เพราะมีจุดกำเนิดเดียวกัน คือมาจากจิตที่ว่างเหมือนกัน แต่ว่ามาแตกต่างกันในภายหลัง ตามเหตุตามปัจจัยที่แวดล้อมเท่านั้น และสุดท้ายก็ต้องกลับไปสู่จุดเริ่มต้น คือว่างเปล่าด้วยกันหมดทุกคน

เมื่อมาพิจารณาที่ชีวิตของเราที่มี “ความรู้สึกว่ามีตัวเรา” นี้ เราก็จะพบว่า จิตใจมันก็อยากได้ความสุข เมื่อสิ่งใดมันให้ความสุข เราก็จะเกิดความรักหรือความพอใจ (ที่เรียกว่าเป็นกิเลส) และมีความผูกพันกับสิ่งนั้น ซึ่งสิ่งที่เรารักและผูกพันมากที่สุดก็คือชีวิตของเรา อันได้แก่ร่างกายและจิตใจที่สมมติเรียกว่าเป็นตัวเรานี้ ส่วนสิ่งที่เรารักและผูกพันรองลงมาก็คือบุคคลและสิ่งที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของเราทั้งหลาย และเมื่อเกิดความรักและความผูกพันกับสิ่งเหล่านี้ขึ้นมาแล้ว ก็จะเกิดความยึดถือสิ่งเหล่านี้ว่าเป็นตัวเรา-ของเราขึ้นมาด้วย

แต่สิ่งที่เป็นตัวเรา-ของเราทั้งหลาย ที่เราได้ยึดถือเอาไว้นี้ มันไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง ดังนั้นมันจึงมีความเปลี่ยนแปลงไปสู่ความแตกดับอยู่ตลอดเวลา และสุดท้ายไม่ช้าก็เร็ว สิ่งที่เราได้ยึดถือเอาไว้นั้น มันก็ต้องแตกหรือดับไปอย่างแน่นอน ซึ่งเมื่อสิ่งที่เรายึดถือเอาไว้นั้น มันได้เปลี่ยนแปลงไปหรือแตกดับไปตามธรรมชาติของมัน (คือร่างกายแก่ เจ็บ ป่วย หรือพิการ หรือน่าเกลียดน่าชัง หรือกำลังจะตาย และสิ่งหรือคนที่เรารักได้จากเราไป หรือเมื่อเราอยากจะได้สิ่งใดแล้วไม่ได้สิ่งนั้น) เราก็จะเกิดความไม่พอใจ (หรือไม่อยากได้ ไม่อยากมี ไม่อยากเป็น) อย่างรุนแรง ที่เรียกว่าความเศร้าโศกหรือเสียใจขึ้นมาทันที รวมทั้งเมื่อเราต้องประสบกับบุคคลหรือสิ่งที่เราเกลียดหรือกลัว เราก็จะเกิดความไม่พอใจและความเศร้าโศกอย่างรุนแรงขึ้นมาทันที

อีกทั้งสิ่งที่เราได้ยึดถือว่าเป็นตัวเรา-ของเราเอาไว้นั้น มันก็ยังต้องทนประคับประคองสภาพการปรุงแต่งของมันเอาไว้ด้วยความยากลำบาก ซึ่งก็เท่ากับว่าสิ่งที่เราได้ยึดถือเอาไว้นั้นมันเป็น “ของหนัก” หรือมี “สภาวะที่ต้องทน” อยู่แล้วตามธรรมธรรมชาติ ดังนั้นเมื่อเราไปยึดถือหรือแบกเอาเอาสิ่งที่หนักเอาไว้ จึงทำให้จิตของเราเกิดความรู้สึกหนักหรือความรู้สึกที่ทนได้ยากที่รุนแรงขึ้นมาด้วย คือร่างกายทั้งของเราและของคนที่เรารักนั้น ก็ต้องดูแลรักษาเอาไว้ด้วยความยากลำบาก เพราะมันมีทั้งความร้อน ความหนาว ความหิว ความกระหาย และโรคร้ายต่างๆ รวมทั้งยังมีการเบียดเบียนจากคนและการทำร้ายจากสัตว์ เป็นต้น ที่คอยทำให้ร่างกายต้องเจ็บปวดหรือมีความทรมานอยู่ตลอดเวลา เมื่อเรามายึดถือร่างกายที่เป็นของหนักนี้เอาไว้ จึงทำให้จิตใจของเรานี้ เกิดความรู้สึกหนักหรือเครียดหรือความไม่พอใจ ที่เป็นความทุกข์อยู่เสมอๆ

ยังไม่เท่านั้น ถ้าคนที่เรารักนั้นมียังมีนิสัยหรือพฤติกรรมที่ไม่ดีหรือน่าเกลียดอยู่ด้วย เช่น เป็นคนใจร้าย ชอบลักขโมยหรือคดโกง เจ้าชู้ ใจง่าย หรือเป็นคนชอบพูดโกหก หยาบคาย เสียดสี และเพ้อเจ้อ หรือเป็นคนเห็นแก่ตัว ดื้อรั้น ว่ายากสอนยาก ฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย เกียจคร้าน โง่เขลา เอาแต่ใจ ไม่อดทน ชอบเที่ยวเตร่ ชอบเล่นการพนัน ติดสุราหรือสิ่งเสพติดต่างๆ ติดการเล่นต่างๆ ไม่ชอบการเรียนรู้ ไม่ชอบทำหน้าที่การงาน ไม่รักสามีหรือภรรยาหรือพ่อแม่พี่น้องหรือญาติ ไม่รักประเทศชาติบ้านเมือง ไม่รักษาความสะอาด ไม่รักษาสภาพแวดล้อม เป็นต้น ก็จะทำให้เราเกิดความเครียดหรือความไม่พอใจ หรือความหนักใจ หรือความวิตกกังวลใจ หรือความห่วงใย ที่เป็นความทุกข์อยู่เสมอๆ และยิ่งถ้าคนที่เรารักได้กระทำสิ่งที่ผิดกฎหมาย หรือกระทำสิ่งที่ไม่ดีเข้าแล้วถูกจับได้หรือถูกลงโทษ ก็จะยิ่งทำให้เราเกิดความเครียดหรือความไม่พอใจ ที่เป็นความทุกข์ที่รุนแรงมากยิ่งขึ้น

แต่ถ้าเรามีปัญญาที่เข้าใจและเห็นแจ้งชีวิตแล้วว่า สิ่งที่เรายึดถือว่าเป็นตัวเรา-ของเรานั้น มันไม่ได้เป็นตัวตนที่แท้จริงตามที่สมมติกันขึ้นมาเลย บวกกับเราก็มีสมาธิจากการที่ได้เคยฝึกมาแล้วด้วย และเราก็มีสติคอยระลึกถึงปัญญานี้อยู่เสมอๆด้วยสมาธิ ก็จะทำให้จิตของเราเกิด “ความเบื่อหน่าย” ต่อสิ่งที่เราได้ยึดถือเอาไว้นั้น เพราะมองเห็นความไม่เที่ยงหรือความไม่ถาวร และมีสภาวะที่ต้องทนอยู่ด้วยความยากลำบากของมัน เมื่อจิตเกิดความเบื่อหน่าย มันก็จะคลายความพอใจและไม่พอใจในสิ่งที่ได้ยึดถือเอาไว้นั้นลงทันที (คือกิเลสจะระงับหรือดับลงแม้เพียงชั้วคราว) เมื่อจิตไม่มีกิเลส ก็จะทำให้จิต “ปล่อยวาง” ความยึดถือในสิ่งทั้งหลายว่าเป็นตัวเรา-ของเราลงทันที เมื่อจิตปล่อยวางความยึดถือว่ามีตัวเรา-ของเราลง จิตมันก็จะกลับมาเป็นจิตเดิมแท้ ที่บริสุทธิ์ตามธรรมชาติของมัน เหมือนตอนที่เพิ่งเกิดมาใหม่ๆ ที่มีความสงบเย็น สดชื่น ปลอดโปร่ง แจ่มใส เบาสบาย อยู่ด้วย ซึ่งนี่คือสภาวะของจิตขณะที่ไม่มีความทุกข์ 

สรุปได้ว่าชีวิตของเรานี้มันก็ไม่มีอะไร นอกจาก “มีความทุกข์ กับ ไม่มีความทุกข์” เท่านั้น คือถ้าจิตโง่แล้วเกิดกิเลสและความยึดถือว่ามีตัวเรา-ของเราเข้า จิตโง่นี้ก็จะเกิดความเศร้าโศกเสียใจหรือความทุกข์ขึ้นมาทันที แต่ถ้าจิตนี้ฉลาดเพราะมีปัญญาและสมาธิ มันก็จะไม่เกิดกิเลสและความยึดถือว่ามีตัวเรา-ของเราขึ้นมา แล้วจิตมันก็จะไม่มีความเศร้าโศกเสียใจหรือความทุกข์ใดๆขึ้นมา คือถ้าเราสามารถปฏิบัติปัญญาและสมาธิจนทำให้กิเลสและความยึดถือระงับหรือดับหายไปได้ชั่วคราว จิตของเราก็จะไม่มีความทุกข์เพียงชั่วคราว แต่ถ้าเราสามารถปฏิบัติปัญญาและสมาธินี้ได้อย่างต่อเนื่องนานๆ จนสามารถทำลายความเคยชินของกิเลส และความยึดถือให้หมดสิ้นไป จากจิตใต้สำนึกของเราได้ ก็จะทำให้จิตของเราจะไม่กลับมาเกิดความทุกข์ใดๆขึ้นมาได้อีกอย่างถาวรหรือตลอดชีวิต 

เตชปัญโญ ภิกขุ

อาศรมพุทธบุตร เกาะสีชัง ชลบุรี

๑๓ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๖๐

ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.whatami.net

*********************
หน้ารวมบทความ
*********************