-๑๓-

บทที่  ๖  อริยมรรคแนวต่างๆ

๑.  ลำดับขั้นในการทำความเพียร

อริยมรรคนี้เป็นวิธีปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ในปัจจุบัน   ซึ่งใครก็ตามที่เข้าใจแล้วก็สามารถนำเอาหลักการของอริยมรรคนี้ไปปฏิบัติได้ทันที  ถ้าปฏิบัติได้มาก ก็ได้รับผลมาก  ถ้าปฏิบัติได้น้อย ก็ได้รับผลน้อย  ส่วนการบวชเป็นภิกษุนั้นเป็นการเข้าสู่การปฏิบัติอริยมรรคโดยตรงให้สมบูรณ์  ซึ่งพระพุทธองค์ได้ทรงวางหลักในการทำความเพียรของภิกษุไว้เป็นลำดับดังนี้

๑.เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีล  คือเมื่อมีศรัทธาแล้วก็ต้องเริ่มต้นด้วยการถึงพร้อมด้วยศีล และมีมารยาทของผู้ดี   มีปกติเห็นโทษที่สักว่าเล็กน้อย  สมาทานศึกษาอยู่แต่ในสิกขาบท (ศีลแต่ละข้อ) ทั้งหลาย  เป็นผู้รู้ว่าสถานที่ใดควรไปหรือไม่ควรไป

๒.           การสำรวมอินทรีย์ทั้ง  ๖   คือเมื่อเห็นรูปด้วยตา,  ฟังเสียงด้วยหู, ดมกลิ่นด้วยจมูก, ลิ้มรสด้วยลิ้น,  ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย,  และรู้ธรรมารมณ์ด้วยใจ  แล้วไม่ปล่อยให้ความยินดีหรือยินร้ายเกิดขั้น  บาปอกุศลทั้งปวงย่อมไหลตามผู้ไม่สำรวมอินทรีย์ใดเป็นเหตุ  เราจักปิดกั้นอินทรีย์นั้นไว้

๓.            การรู้ประมาณในภัตตาหาร  คือรู้จักประมาณในการรับประทานอาหารอยู่เสมอๆ  โดยพิจารณาว่า  “ เราจักพิจารณาโดยแยบคายแล้วจึงฉัน  ไม่ฉันเพื่อเล่น  เพื่อมัวเมา  เพื่อประดับ  เพื่อตกแต่ง  แต่เพื่อให้กายนี้ตั้งอยู่ได้  เพื่อให้ชีวิตเป็นไป  เพื่อป้องกันความลำบาก  เพื่ออนุเคราะห์แก่พรหมจรรย์  โดยคิดว่าเราจักกำจัดเวทนาเก่า (คือความหิว) เสีย  แล้วไม่ทำเวทนาใหม่ (คืออิ่มจนอึดอัด) ให้เกิดขึ้น  ความที่อายุดำเนินไปได้  ความไม่มีโทษเพราะอาหาร  ความผาสุกจักมีแก่เรา”

๔.            การประกอบธรรมเป็นเครื่องตื่น  คือการชำระจิตให้หมดจดจากอาวรณิยธรรม (คือกิเลสและนิวรณ์)  ด้วยการเดินการนั่งตลอดวันยังค่ำ  จนสิ้นยามแรกแห่งราตรี (ราตรีหนึ่งหรือคืนหนึ่งมี  ๓  ยาม ยามละ  ๔  ชั่วโมง) ครั้นยามกลางแห่งราตรี  นอนอย่างราชสีห์ คือนอนตะแคงขวาเท้าเหลื่อมเท้า  มีสติสัมปชัญญะในการลุก (กำหนดการตื่นได้ด้วยการตั้งใจว่าจะตื่นเวลาใด) ครั้นยามสุดท้ายแห่งราตรี  ลุกขึ้นแล้ว  ชำระจิตให้หมดจดจากอาวรณิยธรรมด้วยการเดินและนั่งอีก

๕.            การประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ  คือมีปรกติรู้ตัวรอบคอบ ในการก้าวไปข้างหน้า,  การถอยไปข้างหลัง,  การแลดูการเหลียวดู,  การคู้การเหยียด,  การทรงสังฆาฏิ  บาตร  จีวร,  การฉัน,  การดื่ม,  การเคี้ยว,  การลิ้ม,  การถ่ายอุจจาระ  ปัสสาวะ,  การไปการหยุด, การนั่งการนอน,  การหลับการตื่น,  การพูดการนิ่ง

๖.การเสพเสนาสนะอันสงัด อันได้แก่  ป่าละเมาะ,  โคนไม้,  ภูเขา, ท้องถ้ำ,  ป่าช้า,  ป่าชัฏ, ที่แจ้ง,  ลอมฟาง (อย่างใดอย่างหนึ่ง)

เมื่อปฏิบัติได้จนถึงขั้นนี้แล้วก็ย่อมที่จะบรรลุฌานที่ ๑, ที่ ๒, ที่ ๓, และที่ ๔  เมื่อจิตบริสุทธิ์แล้วก็น้อมจิตไปเพื่อพิจารณาเห็นถึงความเป็นอนิจจัง ทุกขัง และอนัตตาในขันธ์ทั้ง ๕ จนทำอาสวะให้ดับลงตามลำดับ  ซึ่งนี่คือหลักปฏิบัติที่เคร่งครัดในการกำจัดสังโยชน์ให้ขาดลงอย่างรวดเร็วและสมบูรณ์ของภิกษุ

 

๒.  กรรมฐานหลัก

หลักพื้นฐานที่พระพุทธองค์ทรงสอนให้ปฏิบัติมากที่สุดก็คือ “ให้พิจารณาขันธ์ทั้ง ๕ คือรูป, เวทนา, สัญญา, สังขาร, วิญญาณ ทั้งหยาบและเอียด ทั้งเลวและประณีต ทั้งที่มีในที่ใกล้หรือที่ไกล ทั้งของตัวเราเองและของผู้อื่น ทั้งในอดีตปัจจุบันและอนาคต ทั้งหมดทั้งสิ้น โดยเห็นความเป็นสิ่งไม่เที่ยง ต้องทนอยู่ และไม่ใช่ตัวตน”

จุดนี้เป็นจุดสำคัญที่สุด เพราะนอกจากจะทำให้เกิดดวงตาเห็นธรรมแล้วยังจะเป็นการกำจัดอนุสัยของกิเลสให้ลดน้อยลงด้วย  ซึ่งการปฏิบัติจะต้องพิจารณาดูจากร่างกายและจิตใจของเราเองจริงๆจึงจะได้ผล  ไม่ใช่คิดคำนวณเอาหรือท่องตามตัวหนังสือ ซึ่งนั่นจะเป็นเพียงการท่องเหมือนนกแก้วนกขุนทองเท่านั้น

 

๓.  ธาตุกรรมฐาน

อีกวิธีหนึ่งในการปฏิบัติอริยมรรคก็คือ “การพิจารณาทุกสิ่งโดยความเป็นธาตุ” คือให้พิจารณาทุกสิ่งโดยเฉพาะร่างกายและจิตใจของเรา ว่าเป็นเพียงธาตุมาปรุงแต่งขึ้นมาเท่านั้น คือร่างกายก็มาจากธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ และธาตุลมปรุงแต่งขึ้นมาและอาศัยธาตุว่างตั้งอยู่ ส่วนจิตใจก็มาจากวิญญาณธาตุปรุงแต่งขึ้นมา จึงไม่มีตัวตนใดๆที่จะมาเป็นเราหรือของเราหรือของใครๆอย่างแท้จริงได้ ดังนั้นจึงสรุปได้ว่าทุกสิ่งเป็นเพียงกระแสการปรุงแต่งของธรรมชาติเท่านั้น ชีวิตจึงเหมือนมายา หรือเหมือนกับความฝันที่พอตื่นขึ้นมาทุกสิ่งในฝันก็จะหายไปหมดสิ้น 

 

๔.  อสุภะกรรมฐาน

อีกวิธีหนึ่งในการปฏิบัติอริยมรรคก็คือ การพิจารณาถึงความไม่งามของร่างกาย ที่เรียกว่า อสุภะ  โดยสมัยพุทธกาลนั้นภิกษุที่เจริญแนวทางนี้จะเข้าไปในป่าช้าอันเป็นที่ทิ้งศพของชาวบ้านในสมัยนั้น  แล้วก็ไปยืนเพ่งพิจารณาซากศพในลักษณะต่างๆ เช่น ศพที่ขึ้นอืดพอง ศพที่ขึ้นเขียว หรือศพที่มีแต่กระดูก  เป็นต้น   โดยน้อมเข้ามาในร่างกายของตนเองและแม้ในของคนอื่นว่าจะต้องเป็นเช่นนี้  ไม่พ้นไปได้ 

การเพ่งอสุภะนี้เป็นการกำจัดราคะ (ความติดอกติดใจ) ในเรื่องเพศโดยตรง  คือถ้าเรามองเห็นเพศตรงข้ามเป็นสิ่งสวยงามเราก็จะเกิดราคะ  แต่ถ้ามองเห็นเป็นสิ่งไม่สวยงามก็จะไม่เกิดราคะ  วิธีนี้จึงเหมาะสมแก่ผู้ที่มีราคะจัด  อีกทั้งการเพ่งซากศพจนเกิดเป็นนิมิตติดตาที่เรียกว่า อสุภะนิมิต  และนำนิมิตนั้นมาเพ่งต่อไป  ก็จะทำให้เกิดรูปฌานได้อีกด้วย

 

๕.  อนุสติ ๑๐

การปฏิบัติง่ายๆสำหรับผู้ครองเรือนก็คือ การเจริญอนุสติ  คือการตามระลึกอย่างต่อเนื่อง  ซึ่งสิ่งที่จะใช้ระลึกก็ได้แก่

๑.พุทธานุสติ    ระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้าที่เป็นผู้สั่งสอนสัตว์ให้พ้นทุกข์

๒.ธรรมานุสติ   ระลึกถึงคุณของพระธรรมที่ปฏิบัติตามแล้วทำให้พ้นทุกข์ได้

๓.สังฆานุสติ    ระลึกถึงคุณของพระสงฆ์ที่นำพระธรรมมาสอนแก่เรา

๔.            สีลานุสติ     ระลึกถึงคุณของศีลที่ช่วยให้เรามีความปรกติสุข

๕.            เทวตานุสติ  ระลึกถึงธรรมที่ทำให้เป็นเทวดา (คือหิริและโอตตัปปะ) ที่ช่วยคุมครองโลกให้มีความสงบสุข

๖.จาคานุสติ   ระลึกถึงทานที่ตนได้เคยบริจาคไว้

๗.           มรณานุสติ  ระลึกถึงความตายที่จะต้องเกิดขึ้นแก่ตนอย่างแน่แท้

๘.           อานาปานสติ  ระลึกถึงลมหายใจเข้า-ออก

๙.            กายาคตาสติ  ระลึกถึงกิริยาการเคลื่อนไหวของร่างกาย

๑๐.        อุปสมานุสติ  ระลึกถึงธรรมเป็นที่สงบ อันได้แก่นิพพานว่าเป็นที่พักผ่อนของจิตวิญญาณอันดิ้นรน

 

๖.  สัญญา - ความสำคัญมั่นหมาย

การเจริญอริยมรรคอีกแนวทางหนึ่งก็คือ การเจริญสัญญา  คือสัญญาหรือความจำสิ่งต่างๆได้ หรือความสำคัญมั่นหมายของเรานี้ปรกติมันจะเป็น สัญญาวิปลาส คือผิดเพี้ยนไม่ตรงกับความเป็นจริง อันเป็นเหตุให้เกิดอนุสัยของกิเลสขึ้นมา  คือเรามักจะมีสัญญาว่าเที่ยง ว่าเป็นสุข ว่าเป็นตัวตนอยู่เสมอ   ดังนั้นเราจึงต้องมาเจริญสัญญาใหม่ให้เป็นไปในทางที่จะไม่เกิดอนุสัยของกิเลส แต่จะเกิดความเคยชินของปัญญาหรือของอริยมรรคขึ้นมาแทน   ซึ่งสัญญาที่ควรเจริญก็ได้แก่

๑.  อนิจจสัญญา   ความกำหนดหมาย  ว่าไม่เที่ยง (ในขันธ์ทั้ง  ๕)

๒.  อนัตตสัญญา  ความกำหนดหมาย   ว่าไม่ใช่ตัวตน (ในอายตนะทั้งในและนอก)

๓.  อสุภสัญญา   ความกำหนดหมาย    ว่าไม่งาม น่าเกลียด (ในอวัยวะต่างๆของร่างกาย)

๔.  อาทีนวสัญญา   ความกำหนดหมาย   ว่าเป็นโทษ (จากโรคต่างๆที่จะเกิดขึ้นได้ในร่างกายของเรา)

๕.  ปหานสัญญา   ความกำหนดหมาย   ในการละ (อกุศลวิตก  ๓)

๖.  วิราคสัญญา   ความกำหนดหมาย  ในธรรมอันปราศจากราคะ (ความสงบเย็นของนิพพาน)

๗.  นิโรธสัญญา   ความกำหนดหมาย   ในธรรมเป็นที่ดับ (ดับสนิทเพราะคืนกิเลส)

๘.  สัพพโลเกอนภิรติสัญญา   ความกำหนดหมาย  ในความไม่น่ายินดีในโลกทั้งปวง (คือในกาม, รูป, อรูป)

๙. สัพพสังขาเรสุอนิจจสัญญา   ความกำหนดหมาย  ว่าไม่เที่ยงในสังขารทุกกลุ่ม (ทั้งภายในและภายนอก)

๑๐.  อาหาเรปฏิกูลสัญญา  ความกำหนดหมาย  ในความสกปรกน่าเกลียดของอาหารที่กินเข้าไปจนกระทั่งถ่ายออกมา

๑๑.  อนิจเจทุกขสัญญา   ความกำหนดหมาย   ในความทุกข์จากความไม่เที่ยง

๑๒.  ทุกขนัตตสัญญา   ความกำหนดหมาย  ในความเป็นอนัตตาแห่งทุกข์ทั้งปวง

๑๓.  อัฏฐิกสัญญา   ความกำหนดหมาย   ในศพที่มีแต่กระดูก

๑๔.  ปุฬวกสัญญา   ความกำหนดหมาย  ในศพที่มีแต่หนอน

๑๕.  วนีลกสัญญา   ความกำหนดหมาย   ในศพที่ขึ้นเขียว

๑๖.  อุทธุมกสัญญา   ความกำหนดหมาย  ในศพที่ขึ้นพอง

๑๗.  มรณสัญญา   ความกำหนดหมาย   ในความตายที่จักมีแก่ตนเป็นแน่แท้

การเจริญสัญญานี้ก็เหมือนกับการเจริญอนุสติ คือให้หมั่นพิจารณาอยู่เสมอๆไม่ว่าจะทำกิจวัตรใดอยู่ หรือต้องทำอย่างต่อเนื่องไม่ขาดสายตลอดทั้งวันจนกระทั่งหลับ พอตื่นขึ้นก็รีบทำต่อทันที  คือทำให้เกิดเป็นความเคยชินยิ่งกว่าความเคยชินตามธรรมดา เพื่อให้กระทุ้งเข้าไปถึงจิตใต้สำนึก หรือเปลี่ยนจิตใต้สำนึกให้ฉลาดหรือมีปัญญามากขึ้น คือทำให้มีสัญญาว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และไม่ใช่ตัวตนมากยิ่งขึ้น   ซึ่งผลโดยตรงของการเจริญสัญญาต่างๆก็ได้แก่

อสุภสัญญาเป็นเครื่องทำจิตให้หวนกลับ งอกลับ ถอยกลับ ไม่ยื่นเข้าไปดื่มด่ำอยู่ในเมถุนธรรม (การร่วมเพศ)  แต่มีความวางเฉยหรือมีความรู้สึกปฏิกูล (สกปรกน่าเกลียด) ดำรงอยู่ในจิต

มรณสัญญาเป็นเครื่องทำจิตให้หวนกลับ งอกลับ ถอยกลับ จากความยินดีในชีวิต

อาหาเรปฏิกูลสัญญาเป็นเครื่องทำให้จิตถอยกลับจากตัณหาในรสของอาหารทั้งหลาย

สัพพโลเกอนภิรติสัญญาเป็นเครื่องทำจิตให้ถอยกลับจากความเป็นจิตที่ติดอยู่ในโลก

อนิจจสัญญาเป็นเครื่องทำจิตให้ถอยกลับจากลาภสักการะและเสียงสรรเสริญ

อนิจเจทุกขสัญญา เมื่อเจริญอยู่เป็นอันมาก สัญญาว่าความน่ากลัวอันแรงกล้าย่อมปรากฏขึ้น ในความไม่ขยัน ในความเกียจคร้าน  ในความทอดทิ้งการงาน ความประมาท ความไม่ประกอบความเพียร และความสะเพร่า เปรียบเหมือนมีเพชฆาตเงื้อดาบอยู่ตรงหน้า

ทุกขนัตตสัญญาอันเป็นเครื่องทำให้จิตถอยกลับจากมานะว่าตน ทั้งในกายอันประกอบด้วยวิญญาณนี้ และในนิมิตทั้งหลายภายนอกด้วย

 

๗.  การปฏิบัติที่สบายแก่พระนิพพาน

การปฏิบัติสบายๆก็ได้แก่การนำ อายตนิกธรรม  ๓๐  (คืออายตนะภายใน ๖, อายตนะภายนอก ๖, วิญญาณ ๖, ผัสสะ ๖, เวทนา ๖) แต่ละอย่างๆนี้มาพิจารณาถึง ...    

๑.ภาวะแห่งธรรมนั้นว่าเป็นอย่างไร?

๒.เหตุให้เกิดธรรมนั้นว่าคืออะไร?

๓.ความดับแห่งธรรมนั้นว่าเป็นอย่างไร?

๔.            ทางให้ถึงความดับแห่งธรรมนั้นว่าเป็นอย่างไร?

๕.            อัสสาทะหรือความเอร็ดอร่อย ที่มาล่อลวงให้หลงติดแห่งธรรมว่านั้นเป็นอย่างไร?

๖.อาทีนวะหรือโทษอันเลวทรามแห่งธรรมนั้นว่ามีอย่างไร?

หลักการนี้ก็เป็นการเจริญวิปัสสนาอย่างหนึ่ง ซึ่งก็เท่ากับเป็นการศึกษาการทำงานของขันธ์  ๕  เพื่อให้เกิดดวงตาเห็นธรรมและทำลายสังโยชน์ให้ขาดลง

 

๘.  เมตตาพรหมวิหาร

พรหมวิหาร  หมายถึง  คุณธรรมของผู้ใหญ่   คือผู้ที่จะเป็นผู้ใหญ่ที่แท้จริงจะต้องมีคุณธรรม  ๔  ประการ อันได้แก่         

๑.        เมตตา  คือความเป็นมิตรกับทุกคน ไม่เป็นศัตรูกับใครๆ

๒.        กรุณา  คือความคิดที่จะช่วยให้ผู้อื่นพ้นทุกข์

๓.        มุทิตา  คือความพลอยยินดีเมื่อเห็นผู้อื่นได้ดี

๔.       อุเบกขา  คือเฝ้าดูอยู่ด้วยจิตที่หลุดพ้น หรือปล่อยวางเมื่อช่วยใครไม่ได้

การเจริญพรหมวิหารนี้จะเป็นการยกระดับจิตให้สูงงขึ้นกว่าคนทั่วๆไป  ซึ่งการเจริญจะต้องมีสัมมาทิฏฐิเป็นตัวนำและต้องกระทำด้วยจิตที่มีเจตนาจริงใจ ไม่ใช่จะทำพอเป็นพิธีหรือท่องด้วยปากเท่านั้น   และถ้ามีการเจริญแบบ อัปปมัญญา คือแผ่ไปทั่วทุกทิศโดยไม่จำกัดว่าจะเป็นชนชาติใด ภาษาใด หรือนับถือลัทธิศาสนาใด ก็จะยิ่งมีผลมากคือสามารถทำให้เกิดสมาธิสูงๆได้

 

๙.  สักแต่ว่า

มีหลักปฏิบัติเพื่อให้หลุดพ้นอย่างรวดเร็วสำหรับผู้ที่มีปัญญาและสมาธิแก่กล้าแล้ว ดังที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้คือ

 

“..........ในบรรดาสิ่งที่ท่านพึงเห็น พึงฟัง พึงรู้สึก (ทางจมูก ลิ้น และกาย) 

พึงรู้แจ้ง (ทางใจ) เหล่านั้น  ในสิ่งที่ท่านเห็นแล้ว จักเป็นแต่เพียงสักว่าเห็น, ในสิ่งที่ท่านฟังแล้ว  จักเป็นเพียงสักว่าได้ยิน,  ในสิ่งที่ท่านรู้สึกแล้ว  จักเป็นแต่เพียงสักว่ารู้สึก, ในสิ่งที่ท่านรู้แจ้งแล้ว  จักเป็นแต่เพียงสักว่ารู้แจ้ง

เมื่อใดแล  ในบรรดาธรรมเหล่านั้น  เมื่อสิ่งที่ท่านเห็นแล้วสักว่าเห็น , สิ่งที่ฟังแล้วสักว่าได้ยิน, สิ่งที่รู้สึกแล้วสักว่ารู้สึก,  สิ่งที่รู้แจ้งแล้วสักว่ารู้แจ้ง, ดังนี้แล้ว  เมื่อนั้นตัวท่านย่อมไม่มีเพราะเหตุนั้น

  เมื่อใดตัวท่านไม่มีเพราะเหตุนั้น เมื่อนั้นตัวท่านก็ไม่มีในที่นั้นๆ เมื่อใดตัวท่านไม่มีในที่นั้นๆ เมื่อนั้นตัวท่านก็ไม่มีในโลกนี้  ไม่มีในโลกอื่น  ไม่มีในระหว่างโลกทั้งสอง  นั่นแหละคือที่สุดแห่งทุกข์ละ.”

 

คำว่า “สักแต่ว่า” นี้หมายถึง สติปัญญาขณะที่จิตสัมผัสกับอารมณ์ทั้งหลายโดยไม่มีอวิชชาหรือความรู้สึกตัวว่ามีตัวตนใดๆอยู่ หรือเท่ากับเป็นการปล่อยให้ธรรมชาติทั้งหลายดำเนินต่อไปโดยไม่มีความยึดถือว่ามีตัวตนหรือบุคคลใดๆที่เป็นผู้รับรู้หรือรู้สึก ซึ่งนี่ก็คือการปฏิบัติอริยมรรคโดยสรุปที่สุด และมีผลเป็นที่สุดแห่งทุกข์หรือนิพพานในทันทีที่ปฏิบัติได้

 

๑๐.  ปัจจเวกขณะ

ในการเสพปัจจัย  ๔  เพื่อดำรงชีวิตของภิกษุนั้น  พระพุทธองค์จะทรงวางหลักในการเสพปัจจัย  ๔ อย่างรู้คุณค่าและเกิดประโยชน์สูงสุดไว้ดังนี้

หลักในการพิจารณาอาหารนั้นมีอยู่ว่า “เราจักพิจารณาโดยแยบคายแล้วจึงรับประทานอาหารเหล่านี้  มิได้รับประทานเพื่อความเอร็ดอร่อย  สนุกสนานเพลิดเพลินมัวเมา  มิได้รับประทานเพื่อประดับหรือตกแต่ง  มิได้รับประทานเพื่อบำรุงร่างกายให้เปล่งปลั่ง   แต่รับประทานเพื่อความดำรงอยู่ได้แห่งกายนี้  เพื่ออนุเคราะห์แก่การประพฤติพรหมจรรย์  ความที่อายุดำเนินไปได้  ด้วยการรับประทานนี้  เราจักทำเวทนาเก่า (คือความหิว) ให้หมดไป  และจักไม่ทำเวทนาใหม่ (คืออิ่มจนอึดอัด) ให้เกิดขึ้น  และเพื่อความไม่มีโทษเพราะอาหารจักบังเกิดขึ้น”

หลักการพิจารณาเครื่องนุ่งห่มนั้นมีอยู่ว่า “เราจักพิจารณาโดยแยบคายแล้ว จึงใช้สอยเครื่องนุ่งห่มนี้ คือเพื่อป้องกันความหนาว, ป้องกันความร้อน, ป้องกันสัมผัสอันเกิดจากเหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เลื้อยคลานต่างๆ และเพื่อป้องกันความอับอายอันเกิดจากอวัยวะต่างๆ”

หลักในการพิจารณาที่อยู่อาศัยนั้นมีอยู่ว่า “เราจักพิจารณาโดยแยบคายแล้ว  จึงใช้สอยเสนาสนะนี้  คือเพื่อป้องกันความหนาว  ป้องกันความร้อน  ป้องกันสัมผัสอันเกิดจากเหลือบ  ยุง  ลม  แดด  และสัตว์เลื้อยคลานทั้งหลาย  และเพื่อป้องกันอันตรายจากฤดูกาล  และเพื่อความยินดีอยู่ได้เพื่อการบำเพ็ญภาวนา”

หลักในการพิจารณายารักษาโรคนั้นมีอยู่ว่า “เราจักพิจารณาโดยแยบคายแล้ว จึงใช้สอยยา คือยานั้นเราจักบริโภคเพื่อกำจัดโรคที่มีอยู่ให้หมดไป เพื่อความผาสุกจักมีแก่เรา”

หลักการเสพปัจจัย  ๔  นี้เป็นหลักที่ทำให้เราเข้าถึงคุณค่าที่แท้จริงของปัจจัย  ๔   ถ้าเราเสพผิดจากหลักการนี้ก็จะเกิดโทษตามมา คือถ้าเราฟุ่มเฟือยก็จะทำให้สิ้นเปลืองและอนุสัยของจะเพิ่มกิเลสมากขึ้น  ถ้าขาดแคลนก็ทำให้ทุกข์กาย  แต่ถ้าปฏิบัติตามหลักการนี้ได้ก็จัดว่าเป็นสายกลาง คือพอดีและจะไม่มีโทษ

 

๑๑.  ข้อปฏิบัติเกี่ยวกับเรื่องอาหาร

ถ้าศึกษาประวัติของพระพุทธเจ้าและพระอริยะสาวกทั้งหลายแล้วเราจะพบว่า ท่านเหล่านั้นจะใช้ชีวิตที่เรียบง่ายและมักน้อย  ซึ่งภิกษุที่แท้จริงก็ควรจะต้องดำเนินตามแนวทางนี้จึงจะพบกับความพ้นทุกข์ตามพระพุทธองค์  ส่วนผู้ครองเรือนก็สามารถนำมาประยุกต์ให้ในชีวิตประจำวันได้  เพราะถ้ายิ่งเราใช้ชีวิตให้ใกล้เคียงชีวิตของพระอริยะมากเท่าไร ชีวิตของเราก็จะยิ่งมีทุกข์น้อยลงเท่านั้น  แต่ถ้าเรายิ่งใช้ชีวิตให้ห่างไกลชีวิตของพระอริยะมากเท่าใด ชีวิตของเราก็จะมีแต่ความทุกข์ความเดือดร้อนมากขึ้นเท่านั้น  ซึ่งปัจจุบันเพราะเราฟุ่มเฟือยกันมาก เราจึงมีแต่ความเดือดร้อนวุ่นวายกันอยู่ทั่วไป

เรื่องอาหารก็เป็นเรื่องสำคัญเพราะเราต้องกินอาหารกันทุกวัน  ซึ่งในเรื่องนี้พระพุทธองค์ทรงสอนให้ภิกษุพิจารณาอาหารที่กินว่าเปรียบเสมือนกับสามีภรรยาและลูกน้อยน่ารักที่เดินทางข้ามหนทางอันทุระกันดาร  ซึ่งเมื่อเดินทางมาถึงกลางทาง  พอดีอาหารที่เตรียมมาหมด จึงจำเป็นต้องฆ่าลูกน้อยเพื่อทำเป็นเนื้อย่างเนื้อเค็มกินเป็นอาหาร   ถ้าไม่ทำเช่นนี้ก็จะต้องพากันอดตายหมด  ลองคิดดูว่าสามีภรรยาจะกินอาหารนั้นด้วยความรู้สึกอย่างไร   จุดนี้เองที่จะเป็นหลักในการกินอาหารไม่ว่าจะเป็นเนื้อสัตว์หรือไม่ก็ตาม  ถ้าเรากินเพียงเล็กน้อยด้วยความรู้สึกว่าจำเป็น โดยไม่กินอย่างมากมายเพื่อความเอร็ดอร่อย ก็จะเป็นการปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างแท้จริง ซึ่งก็จะไม่ทำให้เกิดโทษเพราะอาหาร รวมทั้งก็จะไม่ถูกติเตียนจากผู้คนทั่วไปด้วย

 

๑๒.  การละอาสวะ  ๗  วิธี

อาสวะหรือกิเลสที่ผลักดันกันเกิดขึ้นมาโดยเราควบคุมไม่ได้นี้มีจะวิธีละอยู่  ๗  วิธี อันได้แก่

๑.               อาสวะที่ละได้ด้วยการเห็น  คือเมื่อมีการเห็นแจ้งอริยสัจ  ๔  อย่างถูกต้องก็จะทำให้สังโยชน์  ๓  ตัวแรกถูกทำลายไปได้

๒.             อาสวะที่ละได้ด้วยการสำรวม   คือระวังอย่าให้เกิดความยินดีหรือยินร้ายเกิดขึ้นในขณะที่กำลังสัมผัสกับอารมณ์ทั้งหลายอยู่

๓.              อาสวะที่ละได้ด้วยการเสพ  คือเมื่อพิจารณาโดยแยบคายแล้วจึงเสพปัจจัยทั้ง  ๔  อยู่ (ตามหัวข้อ  ๑๑  ที่ผ่านมา)

๔.              อาสวะที่ละได้ด้วยการอดกลั้น  คือเมื่อพิจารณาโดยแยบคายแล้ว  จึงอดทนต่อความหนาว  ต่อความร้อน,  เป็นผู้อดทนต่อความหิวความกระหาย,  เป็นผู้อดทนต่อสัมผัสอันเกิดจากเหลือบ  ยุง  ลม  แดด  และสัตว์เสือกคลานทั้งหลาย,  เป็นผู้มีชาติแห่งบุคคลผู้อดทนอดกลั้นต่อคลองแห่งถ้อยคำอันหยาบคาย  ว่าร้าย  และเป็นผู้อดทนต่อทุกขเวทนาในกายที่เกิดขึ้นแล้วอย่างกล้าแข็งแสบเผ็ด  ขมขื่น  ไม่เป็นที่สบายใจ  หรือจวนจะถึงแก่ชีวิตได้  

๕.              อาสวะที่ละได้ด้วยการเว้น  คือเมื่อพิจารณาโดยแยบคายแล้ว  ย่อมงดเว้นจากช้างดุ, ม้าดุ, สุนัขดุ, งู, หลักตอ, ขวากหนาม, ห้วยเหว, บ่อโสโครก, หลุมอุจจาระ, และงดเว้นที่ที่ไม่ควรนั่ง  ที่ไม่ควรไป  และการคบเพื่อนที่ลามก (ชั่วหยาบ) อันวิญญูชน (คนดีที่มีใจเป็นกลาง) จัดไว้ในฐานะที่ต่ำทราม

๖.               อาสวะที่ละได้ด้วยการบรรเทา  คือเมื่อพิจารณาโดยแยบคายแล้ว ย่อมไม่รับเอาไว้ในใจ   ย่อมละเสีย  ย่อมบรรเทา  ทำให้สิ้นสุด  ทำให้ถึงความมีไม่ได้ซึ่ง  กามวิตก  พยาบาทวิตก  วิหิงสาวิตก อันเกิดขึ้นแล้ว  รวมทั้งสิ่งอันเป็นอกุศลธรรมลามกทั้งหลาย

๗.               อาสวะที่ละได้ด้วยการเจริญให้มาก  คือเมื่อพิจารณาโดยแยบคายแล้วย่อมเจริญโพชฌงค์ ๗  แต่ละตัวโดยอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ  อาศัยนิโรธ  และน้อมไปเพื่อความปล่อยวาง

 

๑๓.  วิธีหลุดพ้น  ๕  ประการ

ในการเจริญอริยมรรคจนเกิดวิมุตติขึ้นมานั้นล้วนจะต้องมีทั้งการรู้พร้อมทั้งอรรถ (เนื้อความ) และธรรม (ความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา) ในสิ่งที่กำลังพิจารณานั้นอยู่ด้วยเสมอ  ซึ่งการกระทำอันเป็นที่ตั้งแห่งการรู้พร้อมซึ่งอรรถและธรรมนั้นก็มีอยู่  ๕  ประการ อันได้แก่

๑.การฟังธรรมที่มีผู้อื่นสาธยายอยู่  แล้วมีการรู้พร้อมซึ่งอรรถและธรรมแห่งธรรมที่กำลังฟังอยู่นั้น  แล้ว...............ฯ

๒.เราเป็นผู้แสดงธรรมเอง  ในขณะแสดงธรรมอยู่นั้น  มีการรู้พร้อมซึ่งอรรถและธรรมแห่งธรรมที่แสดงอยู่นั้น  แล้ว..............ฯ

๓.กำลังสาธยายท่องบ่นธรรมอยู่ เกิดความรู้พร้อมในอรรถและธรรมแห่งธรรมที่กำลังสาธยายอยู่  แล้ว.............ฯ

๔.            นำธรรมที่ได้เคยฟังหรือเคยศึกษามา  มาตรึกตรอง เกิดความรู้พร้อมในอรรถและธรรมแห่งธรรมที่กำลังตรึกตรองอยู่นั้นแล้ว........ฯ

๕.            มีการอบรมสมาธิ และเกิดปัญญาแทงตลอดในธรรมที่กำลังสัมผัสอยู่  เกิดความรู้พร้อมในอรรถและธรรมแห่งธรรมที่กำลังสัมผัสอยู่  แล้ว.........ฯ

เมื่อเกิดความรู้พร้อมในอรรถและธรรมแม้จากกรณีใดกรณีหนึ่งแล้ว  จิตย่อมปราโมทย์ด้วยความรู้นั้น  แล้วเกิดปีติจากปราโมทย์  มีกายระงับด้วยปีติ  เสวยสุขด้วยนามกาย (กลุ่มนามกายคือจิต) อันเกิดจากกายระงับนั้น  แล้วมีจิตตั้งมั่นเป็นสมาธิเพราะความสุขนั้น  และเมื่อเป็นผู้ไม่ประมาท  ย่อมมีตนส่งไปในกระแสแห่งธรรมสมาธินั้นๆ (คือน้อมจิตไปตามธรรมที่เห็นแจ้ง)  จิตก็พ้นจากอุปาทาน (คือเกิดวิมุตติ)  หรือมีการบรรลุมรรคผลขึ้นมาตามลำดับที่ปฏิบัติถึง

 

๑๔.  อิริยาบถ  ๔

ในการเจริญอริยมรรคนั้นก็สรุปได้   ๒  ช่วง คือ

๑.            เวลาว่าง  คือเมื่อไม่มีอารมณ์มารบกวนก็ให้ฝึกสมาธิและเจริญวิปัสสนาตามที่ถนัด

๒.            เวลาสัมผัสอารมณ์  คือเมื่อต้องทำหน้าที่การงานหรือพบปะผู้คนก็ให้มีสติและดึงเอาปัญญาออกมาระวังอย่าให้เกิดกิเลสขึ้นมา  โดยมีสมาธิหนุนหลังอยู่เสมอ

ส่วนเวลาในการฝึกสมาธิและเจริญวิปัสสนานั้นก็ต้องมีเรื่องอิริยาบถมาเกี่ยวข้องด้วย  ซึ่งก็มีอยู่  ๔  อิริยาบถใหญ่ๆอันได้แก่  

๑. อิริยาบถนั่ง  คือนั่งขัดสมาธิ   คือนั่งตัวตรง  คู้ขาเข้ามาโดยรอบ แบบพระพุทธรูป มือวางตามสะดวก  ซึ่งเหมาะสำหรับฝึกฌานและเจริญวิปัสสนาได้ทุกแนวทาง

๒. อิริยาบถยืน   คือยืนตัวตรงตามสบาย  เหมาะสำหรับการยืนพักเมื่อฝึกนั่งจนเหนื่อยล้าแล้ว  หรือจะใช้เจริญวิปัสสนาก็ได้

๓. อิริยาบถเดิน  คือให้เดินตามทางไม่สั้นและไม่ยาวนัก  กลับไปกลับมา  โดยให้เดินอย่างมีสติโดยกำหนดอยู่ที่อิริยาบถในการเดินอยู่ทุกขณะ  ซึ่งเหมาะสำหรับการเจริญวิปัสสนา ไม่เหมาะในการฝึกสมาธิขั้นสูงๆ  ซึ่งสมาธิที่ได้จากการเดินนี้จะตั้งอยู่นานไม่เสื่อมง่าย

๔. อิริยาบถนอน   คือนอนแบบสีหไสยาสน์  คือนอนตะแคงขวา เท้าเหลื่อมเท้า แขนซ้ายทาบตามลำตัว  ควรหนุนหมอนสูงและมือขวาวางใกล้ๆศีรษะ อิริยาบถนี้ชวนให้ง่วงได้ง่าย เหมาะสำหรับใช้พักผ่อน  แต่ถ้าใครปฏิบัติจนชำนาญแล้วก็สามารถใช้ฝึกสมาธิหรือวิปัสสนาก็ได้

ในการเจริญวิปัสสนาอยู่ตลอดเวลานานๆนั้นก็อาจทำให้จิตเหนื่อยล้าได้  ซึ่งวิธีพักผ่อนจิตก็คือให้หยุดพิจารณาแล้วกำหนดทุกสิ่งที่สัมผัสอยู่ว่า “สิ่งทั้งหลายเป็นพียงธรรมชาติ” ซึ่งก็คือให้กำหนดรู้ว่าทุกอย่างเป็นธรรมชาติของมันอย่างนี้เอง อย่าให้เกิดความยึดถือว่าเป็นตัวตนเกิดขึ้นมา

 

๑๕.  ธรรมะ ๔ เกลอ

ในการปฏิบัติเมื่อต้องพบปะผู้คนนั้นเราก็ต้องมีสติอยู่ตลอดเวลา  ซึ่งสติก็คือการระลึกรู้ หรือระลึกเอาปัญญาที่อบรมไว้ออกมาใช้งาน เมื่อรู้สึกตัวอยู่ด้วยปัญญาก็เรียกว่าสัมปชัญญะ  ถ้ายังไม่สามารถดับทุกข์หรือแก้ปัญหาได้ก็ดึงอาสมาธิที่เคยฝึกไว้ออกมาช่วยอีกทีหนึ่ง คือต้องอาศัย สติ ปัญญา สัมปชัญญะ และสมาธิมาทำงานร่วมกัน

สติเป็นสิ่งจำเป็น ถึงแม้เราจะมีปัญญามาก แต่ถ้าขาดสติก็เท่ากับขาดเครื่องมือในการขนเอาปัญญาออกมาใช้งาน   ปัญญาที่มีก็ไร้ประโยชน์  ดังนั้นสติจึงจำเป็นในทุกกรณีของการปฏิบัติอริยมรรคนี้ และแม้ในการดำเนินชีวิตของชาวโลก สติก็จำเป็นที่จะต้องมี ถ้าขาดสติก็จะทำสิ่งต่างๆผิดพลาด

 

๑๖.  โพธิปักขิยธรรม  ๓๗  ประการ

โพธิปักขิยธรรม หมายถึง  ธรรมที่เป็นฝักฝ่ายแห่งการตรัสรู้  (การตรัสรู้ก็คือการค้นพบสิ่งที่มีประโยชน์หรือมีคุณค่าสูงสุดสำหรับชีวิต) ซึ่งมีอยู่  ๓๗  ประการและจัดเป็นหมวดหมู่ได้  ๗ หมวด  อันได้แก่  

๑.  สติปัฏฐาน  ๔

๒. สัมมัปปธาน  ๔  (สัมมาวายามะ)

๓.  อิทธิบาท  ๔

๔. พละ  ๔

๕. อินทรีย์  ๕

๖.  โพชฌงค์  ๗

๗.          อริยมรรคมีองค์  ๘ 

สติปัฏฐาน  ๔  จะเป็นธรรมหลัก และมีอิทธิบาท  ๔, พละ  ๕,  อินทรีย์  ๕, และ สัมมัปปธาน  ๔  จะเป็นธรรมประกอบ  เมื่อธรรมเหล่านี้พร้อมก็จะทำให้โพชฌงค์  ๗  บริบูรณ์ และอริยมรรคมีองค์  ๘  บริบูรณ์ แล้วก็เกิดการตรัสรู้ขึ้นมา            ซึ่งธรรมเหล่านี้เรียกว่าเป็น  ธรรมสโมทาน  คือเป็น ธรรมที่พลอยประชุมลงด้วย   คือในขณะที่เกิดการตรัสรู้นั้นจะเกิดหลักธรรมต่างๆขึ้นมาถึง  ๓๗  ประการ

 

๑๗.  โพชฌงค์  ๗

โพชฌงค์  หมายถึง  องค์แห่งการตรัสรู้  คือในขณะที่เกิดการตรัสรู้อยู่นั้นจะมีองค์ประกอบที่สำคัญอยู่  ๗  ประการที่เห็นได้ชัด  อันได้แก่

๑.            สติ  มีการระลึกได้ทั่วถึงในธรรมทั้งหมด

๒.            ธรรมวิจยะ  มีการเลือกเฟ้นเอาแต่ธรรมที่สมควรใช้ให้เหมาะแก่กรณี

๓.            วิริยะ  มีความพากเพียรในการปฏิบัติ

๔.            ปีติ  มีความอิ่มใจ ชื่นใจ

๕.            ปัสสัทธิ   มีความสงบระงับของจิต

๖.            สมาธิ   มีความตั้งมั่นของจิต

๗.           อุเบกขา  มีจิตเพ่งดูอยู่ด้วยความหลุดพ้น ซึ่งเหมือนเฉยๆไม่ยินดี-ยินร้าย

ส่วนการเจริญอริยมรรคจนเกิดโพชฌงค์นี้จะต้องมีการน้อมจิตให้ถูกต้องอยู่ด้วยคือ

๑.            อาศัยวิเวก  คือน้อมไปเพื่อความสงบสงัด

๒.            อาศัยวิราคะ  คือน้อมไปเพื่อความคลายกำหนัดในอารมณ์ทั้งปวง

๓.            อาศัยนิโรธ  คือน้อมไปเพื่อความดับไม่เหลือแห่งกิเลส

๔.            อาศัยโวสัคคะ  คือน้อมไปเพื่อความสลัดคืนอารมณ์ทั้งปวง

ในการเจริญอริยมรรค เราจะต้องรู้จักน้อมจิตให้ถูกต้องมิฉะนั้นโพชฌงค์ก็จะไม่ปรากฏ   ซึ่งนั่นแสดงว่าอริยมรรคที่เจริญอยู่นั้นยังไม่ถูกต้อง  และผลคือความทุกข์ที่กำลังเกิดอยู่ก็จะไม่ดับลงรวมทั้งนิพพานก็จะไม่ปรากฏ

 

๑๘.  ความไม่ประมาท

พระพุทธองค์ทรงสอนว่า  “ความไม่ประมาทนี้เป็นเลิศที่สุด ในบรรดาธรรมทั้งปวง”    คือเมื่อมีความไม่ประมาทแล้วก็จะทำให้ธรรมอื่นๆในส่วนที่เป็นกุศลเกิดขึ้นมาหมด

ลักษณะของผู้ประมาทนั้นพระพุทธองค์ทรงสอนว่า

 

“การเป็นอยู่ด้วยการไม่สำรวมในอินทรีย์ทั้งหลาย  คือไม่สำรวมในตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ   เมื่อบุคคลใดไม่สำรวมตาอยู่  จิตเขาย่อมเกลือกกลั้วกับรูปทั้งหลายที่จะพึงรู้แจ้งด้วยตา  เมื่อเขามีจิตเกลือกกลั้วแล้ว  ปราโมทย์ย่อมไม่เกิด เมื่อปราโมทย์ไม่เกิด  ปีติย่อมไม่เกิด  เมื่อใจไม่มีปีติ  กายย่อมไม่สงบ  ผู้มีกายไม่สงบย่อมอยู่เป็นทุกข์  จิตของผู้มีทุกข์ย่อมไม่ตั้งมั่น  เมื่อจิตไม่ตั้งมั่นแล้วธรรมทั้งหลายย่อมไม่ปรากฏ  เพราะธรรมทั้งหลายไม่ปรากฏ บุคคลนั้นย่อมถึงซึ่งการนับว่า เป็นผู้มีปกติอยู่ด้วยความประมาทโดยแท้” (ซึ่งในกรณีของหู จมูก ลิ้น กาย และใจก็ทรงตรัสไว้เหมือนกับกรณีของตา)

 

ส่วนกรณีของผู้ไม่ประมาทนั้นได้ทรงสอนไว้ว่า

 

“การมีสติสำรวมในอินทรีย์ทั้งหลาย  คือสำรวมตาอยู่  เมื่อบุคคลสำรวมในตาแล้ว  จิตเขาย่อมไม่เกลือกกลั้วในรูปทั้งหลายที่จะพึงรู้แจ้งด้วยตา  เมื่อเขามีจิตไม่เกลือกกลั้ว ปราโมทย์ย่อมเกิด  เมื่อมีปราโมทย์แล้ว  ปีติย่อมเกิด  เมื่อใจมีปีติ  กายย่อมสงบ  ผู้มีกายสงบย่อมอยู่เป็นสุข  จิตของผู้มีสุขย่อมตั้งมั่น  เมื่อจิตตั้งมั่นแล้วธรรมทั้งหลายย่อมปรากฏ  เพราะธรรมทั้งหลายปรากฏ  บุคคลนั้นย่อมถึงซึ่งการนับว่าเป็นผู้มีปกติอยู่ด้วยความไม่ประมาทโดยแท้” (ซึ่งในกรณีของหู จมูก ลิ้น กาย และใจก็ทรงตรัสไว้เหมือนกับกรณีของตา)

 

สรุปได้ว่าความไม่ประมาทจัดเป็นเลิศในธรรมทั้งปวง  คือเมื่อเราไม่ประมาทก็จะทำให้ธรรมที่ดีงามทั้งหมดเกิดขึ้น  ซึ่งความไม่ประมาทนี้ก็คือ การมีสติและสำรวมระวังตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจไม่ให้เกิดความยินดีและยินร้ายในอารมณ์ทั้งหลาย ซึ่งนี่ก็คือการเจริญอริยมรรคโดยสรุป

จบบทที่  ๖

|หน้าต่อไป|