-๑๔-

บทที่  ๗  อานาปานสติสมาธิ

๑. สัมมาสมาธิ – มิจฉาสมาธิ

สมาธิ  แปลว่า  ตั้งมั่นอยู่เสมอ   คือหมายถึงจิตที่ตั่งมั่นอยู่เสมอ ซึ่งสมาธินี้ยังแยกได้ ๒ ประเภท คือ

๑. มิจฉาสมาธิ  คือสมาธิฝ่ายชั่ว หรือผิด

๒. สัมมาสมาธิ  คือสมาธิฝ่ายดี หรือถูกต้อง

มิจฉาสมาธิก็คือ สมาธิที่เกิดขึ้นจากการเพ่งด้วยกิเลส เช่น เพ่งด้วยความรัก หรือโกรธ หรือโง่ เป็นต้น ซึ่งสมาธิผิดนี้แม้จะตั้งมั่นและมีพลัง แต่ไม่บริสุทธิ์  เพราะมันเป็นสมาธิของกิเลสที่เกิดมาจากความยึดมั่นถือมั่นว่ามีตัวตน จึงนำมาใช้ดับทุกข์ไม่ได้ และจะไม่มีองค์ประกอบเหมือนสัมมาสมาธิ จะมีก็แต่จิตที่ตั้งมั่นนิ่งอยู่อย่างแข็งกระด้างเท่านั้น

สัมมาสมาธิก็คือ สมาธิที่เกิดขึ้นมาจากการเพ่งสิ่งที่ดีงาม คือไม่เป็นการเพ่งด้วยกิเลส อย่างเช่น การเพ่งในวัตถุต่างๆ หรือการเพ่งในการเรียน การอ่าน การพูด การคิด หรือการกระทำต่างๆ เป็นต้น ซึ่งรวมทั้งการเพ่งพิจารณาถึงลักษณะของอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาในสิ่งต่างๆด้วย ดังนั้นถ้าพบคำว่าสมาธิในหนังสือนี้หรือในคำสอนของพุทธศาสนาก็ขอให้เข้าใจว่าหมายถึงสัมมาสมาธินี้เท่านั้น เพราะเป็นสมาธิที่มาช่วยดับทุกข์

 

๒. สมาธิ - จิตตั้งมั่น

จิตที่มีสมาธิจะมีลักษณะ ๓ ประการคือ

๑. บริสุทธิ์  คือไม่มีกิเลสและนิวรณ์ (สะอาด)

๒. ตั้งมั่น     คือมั่นคง, เข้มแข็ง, รวมเป็นจุดเดียว, ไม่แตกพร่า (มีพลัง)

๓. เหมาะสมแก่การงาน คือมีความอ่อนโยน, สุขุม, รอบครอบ, ควบคุมได้ง่าย, ว่องไว (คล่องตัว)

สมาธิก็คือความตั้งใจในการคิด การพูด และกระทำของเรานี่เอง อย่างเช่น เมื่อเราตั้งใจในการคิดคำนวณเลขอยู่อย่างใจจดใจจ่อโดยไม่สนใจสิ่งอื่นเลย จิตก็จะเกิดสมาธิขึ้นมาได้แล้วตามธรรมชาติ ซึ่งในการเพ่งพิจารณาธรรมอยู่นั้นก็จะมีสมาธิใช้งานนี้เกิดอยู่ด้วยเสมอ เพียงแต่สมาธิขั้นนี้จะยังไม่สมบูรณ์เต็มที่ คืออาจจะมีเป็นบางเวลาและไม่ต่อเนื่องตามที่เราต้องการเท่านั้น เพราะมันเป็นสมาธิที่ยังไม่ได้รับการพัฒนาหรือฝึกฝนให้มีอยู่อย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานๆได้

เมื่อจิตเป็นสมาธิ เราก็จะมองเห็นธรรมชาติทั้งหลายตามที่เป็นอยู่จริง แต่ถ้าเราไม่มีสมาธิ เราก็จะมองเห็นธรรมชาติทั้งหลายตามอำนาจของสิ่งที่ครอบงำจิตอยู่ อย่างเช่น เมื่อมีกิเลสครอบงำ เราก็จะเห็นสิ่งต่างๆด้วยอำนาจของกิเลส แล้วเราก็เกิดความรู้ผิด หรือเข้าใจผิด หรือเห็นผิดขึ้นมา อย่างเช่น มองไม่เห็นความเกิดและดับ, เห็นสิ่งที่ไม่เที่ยงว่าเที่ยง, เห็นสิ่งที่เป็นทุกข์ว่าเป็นสุข, เห็นสิ่งที่ไม่ใช่ตัวตนว่าเป็นตัวตน เป็นต้น แล้วเราก็จะเกิดความชอบและไม่ชอบ หรือเกิดความลำเอียงไปตามอำนาจของกิเลส แต่ถ้าจิตของเรามีสมาธิ กิเลสทั้งหลายก็จะระงับหรือดับลงไป (แม้ชั่วคราว) จิตของเราก็จะบริสุทธิ์ เมื่อเราเพ่งมองสิ่งต่างๆของธรรมชาติ เราก็จะมองเห็นสิ่งต่างๆนั้นตามที่เป็นอยู่จริง อย่างเช่น มองเห็นว่ามีการเกิดและดับ, เห็นสิ่งที่ไม่เที่ยงว่าไม่เที่ยง, เห็นสิ่งที่เป็นทุกข์ว่าเป็นทุกข์, เห็นสิ่งที่ไม่ใช่ตัวตนว่าไม่ใช่ตัวตน เป็นต้น แล้วเราก็จะไม่เกิดทั้งความชอบหรือไม่ชอบ หรือไม่เกิดความลำเอียงขึ้นมา

ดังนั้นสมาธิจึงเป็นสิ่งสำคัญหรือจำเป็นที่เราจะต้องนำมาใช้ในการดำเนินชีวิต เช่น ในการเรียนของนักเรียน หรือในการทำงาน หรือในการคิดค้นของนักวิทยาศาสตร์ ถ้าปราศจากสมาธิก็จะทำอะไรไม่สำเร็จ แม้แต่ในเรื่องการศึกษาและปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ของอริยสัจ ๔ นี้ ก็จำเป็นที่จะต้องมีสมาธิมาประกอบอยู่ด้วยเสมอ

 

๓.  นิวรณ์ - อุปสรรคของสมาธิ

นิวรณ์  แปลว่า  สิ่งขวางกั้นความดี   คือหมายถึงสิ่งที่มาขัดขวางจิตไม่ให้เกิดสมาธิ  ซึ่งมีอยู่  ๕  อาการ ได้แก่

๑. กามฉันทะ ความพึงพอใจเล็กๆน้อยๆในกามารมณ์หรือสิ่งที่น่าพึงพอใจ (กามราคะอ่อนๆ)

๒. พยาบาท     ความอึดอัดขัดเคืองใจ หรือความอาฆาตพยาบาท (โทสะอ่อนๆ)

๓. อุทธัจจะกุกกุจจะ   ความคิดที่ฟุ้งซ่าน หรือความตื่นเต้นที่ทำให้จิตไม่สงบ อย่างน่ารำคาญใจ   

๔. ถีนมิทธะ    ความหดหู่ เซื่องซึม  มึนชา  ง่วงงุน

๕. วิจิกิจฉา     ความลังเลสงสัยในสิ่งที่เชื่อถืออยู่

ปกติเราจะถูกนิวรณ์นี้ครอบงำอยู่เกือบจะทั้งวัน  คือจะทำให้จิตขุ่นมัว ไม่แจ่มใส อยู่เกือบทั้งวัน  ซึ่งนิวรณ์นี้จะเกิดมาจากอนุสัยหรือความเคยชินของจิต  ที่มันจะเกิดขึ้นมาเองด้วยความเคยชินอย่างยิ่ง  แล้วก็ทำให้จิตขุ่นมัวไม่แจ่มใส พร้อมทั้งทำให้จิตไม่มีสมาธิทุกระดับ และเมื่อจิตไม่มีสมาธิ  ปัญญาก็จะไม่มี (เพราะสมาธิเป็นพื้นฐานให้เกิดปัญญา)  นิวรณ์จึงจัดเป็นความชั่วร้ายอันดับแรกที่ครอบงำจิตของเราอยู่เกือบทั้งวันโดยเราไม่รู้ตัว

นิวรณ์นี้แท้จริงก็คือกิเลสอ่อนๆนั่นเอง   ดังนั้นในขณะเกิดนิวรณ์แต่ละตัว จึงเท่ากับเกิดตัวตนอ่อนๆ (นามรูป) และทุกข์อ่อนๆอยู่ด้วย  คือจะรู้สึกว่ามีตัวเราอ่อนๆเกิดมารบกวนจิตอยู่ตลอดเวลา ซึ่งก็จะทำให้จิตของเราไม่สงบ ไม่แจ่มใส ไม่ปลอดโปร่ง ไม่เบาสบาย หรือไม่สงบเย็นจริงๆเลย (จิตไม่นิพพานสูงสุด)   คือมันจะมีความไม่สบายใจหรือความเศร้าหมองอยู่เสมอ พอมีสิ่งจากภายนอกแรงๆมากระทบก็จะเกิดกิเลสขึ้นมาได้อย่างง่ายดายทันที  แล้วความยึดมั่นว่ามีตัวเรา-ของเราและความทุกข์ก็จะเกิดขึ้นมาทันที

 

๔. วิธีกำจัดนิวรณ์

       ถ้าจิตของเรายังมีนิวรณ์เกิดขึ้นมารบกวนจิตอยู่ จิตของเราก็จะไม่มีสมาธิ เมื่อจิตไม่มีสมาธิ ก็จะทำให้ปัญญาไม่เกิด ซึ่งความทุกข์อ่อนๆที่ไม่รุนแรงก็จะยังไม่ระงับหรือดับหายไป เมื่อความทุกข์อ่อนๆยังไม่ดับหายไปจริงๆ นิพพานสูงสุด (ความสงบเย็นสูงสุด) ของจิตก็จะไม่ปรากฏ ซึ่งถ้าจิตของเรายังไม่เคยได้สัมผัสนิพพานสูงสุดมาก่อน ก็เรียกว่ายังไม่เห็นธรรม หรือยังไม่เห็นแจ้งอริยสัจ ๔ หรือยังไม่มีดวงตาเห็นธรรม แต่ถึงแม้เราจะมีดวงตาเห็นธรรมแล้ว หรือเคยเห็นแจ้งอริยสัจ ๔ มาแล้วก็ตาม ถ้าเราขาดสติจนเกิดนิวรณ์ตัวใดตัวหนึ่งขึ้นมาครอบงำจิต จนทำให้สมาธิหายไป จิตของเราก็ยังจะเกิดความทุกข์อ่อนๆขึ้นมาได้อีก และทำให้นิพพานสูงสุดไม่ปรากฏให้จิตได้สัมผัสได้อีกเหมือนกัน

          ปัญหาที่ทำให้เราไม่สามารถระงับ (ทำให้ดับหายไปอย่างชั่วคราว) หรือกำจัด (ทำให้ดับหายไปอย่างถาวร) นิวรณ์ทั้ง ๕ ได้นั้น ก็เกิดมาจากการที่เราไม่รู้จักนิวรณ์ทั้ง ๕ อย่างถูกต้อง เมื่อไม่รู้จักนิวรณ์ทั้ง ๕ อย่างถูกต้อง ก็จะทำให้เราไม่รู้จักวิธีทำให้นิวรณ์ทั้ง ๕ นี้ระงับหรือดับหายไปอย่างถูกต้องด้วย ดังนั้นเราจะมาทำความรู้จักกับนิวรณ์ทั้ง ๕ และวิธีระงับหรือดับมันอย่างถูกต้องกันต่อไป

          ๑. กามฉันทะก็ได้แก่อาการของจิตที่เกิดความพอใจเล็กน้อยขึ้นมา ไม่ว่าจะในเรื่องใด อย่างเช่น เมื่อเราคิดถึงเพศตรงข้าม หรือคนที่เรารัก หรือคิดถึงสิ่งที่เราพึงพอใจ หรือการคิดถึงภาพเพศตรงข้ามที่โป๊เปลือยที่เราเคยพบเห็นมาก่อน หรือแม้การที่เราคิดถึงเพลงที่ไพเราะที่เราชื่นชอบ หรือคิดถึงอาหารที่เอร็ดอร่อยที่เราเคยลิ้มรส เป็นต้น  แล้วจิตของเราก็เกิดความพอใจ หรือยินดีขึ้นมาเล็กน้อย ซึ่งลักษณะอาการนี้ก็จัดว่าเป็นอาการของกามฉันทะแล้ว ซึ่งวิธีระงับกามฉันทะนี้ก็ต้องใช้สิ่งตรงข้ามมาแก้ โดยการตั้งใจเพ่งพิจารณาถึงความไม่สวยไม่งาม หรือความสกปรกน่าเกลียดน่าขยะแขยงของร่างกายเพศตรงข้าม หรือพิจารณาถึงความแก่ เจ็บ และตาย หรือพิจารณาถึงความว่างเปล่าไม่ได้อะไรจากการเสพความสุข ก็จะช่วยให้กามฉันทะนี้ระงับลงได้

๒. พยาบาทก็ได้แก่อาการของความไม่พอใจเล็กๆน้อยๆ หรือความคิดอาฆาตพยาบาทที่เกิดขึ้นมาในจิต อย่างเช่น เมื่อเราน้อมนึกถึงคนที่เราเคยโกรธหรือเกลียดมาก่อน เราก็จะเกิดความไม่พอใจที่ไม่รุนแรงขึ้นมาทันทีโดยแม้ไม่ได้ตั้งใจ เป็นต้น ซึ่งวิธีระงับพยาบาทนั้นเราก็ต้องมีการให้อภัย หรือตัดใจว่าจะไม่โกรธไม่เกลียดใครๆอีกต่อไป หรือวิธีที่ดีที่สุดก็คือการเพ่งพิจารณาให้เห็นความจริงสูงสุดว่า “แท้จริงมันไม่ได้มีตัวตนของเราหรือใครๆอยู่จริงเลย”   ก็จะช่วยให้พยาบาทนี้ระงับลงได้

๓. อุธัจจะกุกกุจจะ ก็ได้แก่ความคิดที่ฟุ้งซ่าน หรือความตื่นเต้นที่ทำให้จิตไม่สงบ อย่างน่ารำคาญใจ อย่างเช่น เมื่อเราได้พบกับเรื่องที่ทำให้ตื่นเต้น จิตของเราก็จะเกิดความตื่นเต้นอยู่ตลอดเวลา หรือเมื่อจิตกำลังคิดเพ้อฝัน หรือคิดอะไรเรื่อยเปื่อย อย่างเลื่อนลอยตามความเคยชินของจิต ซึ่งไม่สามารถหยุดมันได้ จนเราเกิดความรำคาญใจขึ้นมา เป็นต้น  ก็เรียกว่าเป็นอาการของอุธัจจะกุกกุจจะ ซึ่งวิธีแก้ก็ต้องใช้ความตั้งใจให้มากขึ้น หรือมีสติระวังความคิดให้มากขึ้น หรือจะใช้การนับลมหายใจหรือจะทำอะไรก็มีการกำหนดลมหายใจมาคอยกำกับอยู่ตลอดเวลา ก็จะช่วยให้อุธัจจะกุกกุจจะระงับลงได้  

๔. ถีนมิทธะ ก็ได้แก่ความหดหู่  ง่วงเหงา ซึมเซา มึนชา ซึ่งเป็นอาการของจิตที่ตรงข้ามกับอุธัจจะกุกกุจจะ คือจิตจะไม่อยากจะคิดหรือจะทำอะไร มันอยากจะหยุดรับรู้สิ่งต่างๆ ซึ่งมันเหมือนความง่วงนอน แต่ความง่วงนอนจะไม่ใช่ถีนมิทธะ คือความง่วงนอนนั้นเป็นธรรมชาติของร่างกาย ที่เมื่อมันเพลียมากๆเข้ามันก็จะเหนื่อยล้าและต้องการการพักผ่อน ส่วนถีนมิทธะนั้นจะเป็นอาการที่เกิดกับจิตแม้ร่างกายจะได้รับการพักผ่อนอย่างเต็มที่แล้วก็ตาม ซึ่งวิธีแก้ถีนมิทธะนั้นก็ต้องใช้ความตั้งใจให้มากขึ้นหรือทำร่างกายให้สดชื่น หรืออยู่ในสถานที่ที่มีแสงสว่างมากๆ หรือสถานที่ที่มีอากาศเย็นสบาย หรือมีการเคลื่อนไหวร่างกายอยู่เสมอ  หรือมีการพูดหรือคิดด้วยความตั้งใจอยู่เสมอ ก็จะช่วยให้ถีนมิทธะระงับลงได้

๕. วิจิกิจฉา ก็ได้แก่ความลังเลสงสัยในสิ่งที่เราเชื่อถืออยู่หรือนับถืออยู่หรือปฏิบัติอยู่ ถ้าเป็นความลังเลสงสัยในเรื่องอื่นๆจะจัดว่าเป็นกิเลสพวกโมหะ แต่ถ้าเป็นความลังเลสงสัยในสิ่งที่เราเชื่อถือหรือเคารพนับถืออยู่หรือปฏิบัติอยู่ จะเรียกว่าเป็นวิจิกิจฉา ซึ่งในส่วนของพุทธศาสนานั้นวิจิกิจฉาก็ได้แก่ความลังเลสงสัยว่าพระพุทธเจ้ามีจริงหรือไม่?, ความลังเลสงสัยว่าคำสอนของพระพุทธเจ้านั้น เมื่อปฏิบัติตามแล้วจะดับทุกข์ได้จริงหรือไม่?, ความลังเลสงสัยว่าพระสงฆ์ (ผู้ที่สอนเราอยู่) ที่เรานับถืออยู่นี้ ท่านปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างถูกต้องหรือไม่?, และความลังเลสงสัยในการปฏิบัติของเราว่าถูกต้องหรือไม่? คือมันเป็นความลังเลใจหรือความสงสัยในส่วนลึกของจิต ที่สามัญสำนึกของเรานั้นมันคิดว่าเราไม่ลังเลสงสัยแล้ว คือเราคิดว่าเรารู้และเข้าใจเรื่องเหล่านี้โดยไม่ลังเลสงสัยแล้ว แต่จิตใต้สำนึกของเรามันจะยังคงลังเลใจหรือสงสัยอยู่ว่า เราไม่เคยได้พบเห็นพระพุทธเจ้ามาก่อนเลย, เราไม่เคยปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้าจนกระทั่งดับทุกข์ได้จริงเลยแม้ชั่วคราว, เราก็ไม่รู้ได้จริงๆเลยว่าพระสงฆ์ที่เราเคารพนับถืออยู่นี้ ท่านปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างถูกต้องหรือไม่?, และเราไม่รู้เลยว่าการปฏิบัติของเรานี้มันถูกต้องหรือไม่? ซึ่งความลังเลสงสัยนี้เอง ที่มาทำให้จิตของเราเกิดความคิดอยู่เสมอๆด้วยความกังวลใจหรือด้วยความไม่แน่ใจอยู่เงียบๆโดยเราไมรู้ตัว แล้วก็ทำให้จิตของเราไม่เป็นสมาธิ

วิธีระงับหรือดับวิจิกิจฉาตัวนี้ ถ้าเรายังไม่มีดวงตาเห็นธรรม เราจะต้องมีการฝึกไม่ให้มีความคิดในเรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นมาอย่างหนัก ก็สามารถระงับวิจิกิจฉานี้ได้ แต่ถ้าเรามีดวงตาเห็นธรรมอย่างแท้จริงแล้ววิจิกิจฉานี้จะไม่เกิดขึ้นมาได้อีกเลย

ดวงตาเห็นธรรม ก็คือความเห็นแจ้งอริยสัจ ๔ อันเป็นคำสอนในเรื่องวิธีการดับทุกข์ของพระพุทธเจ้า ที่จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเราได้ศึกษาและทดลองปฏิบัติตามหลักอริยสัจ ๔ อย่างถูกต้อง จนทำให้ความทุกข์ระงับหรือดับลงจริงๆแล้วแม้เพียงชั่วคราว ก็จะทำให้เราเกิดความเห็นแจ้งว่าหลักอริยสัจ ๔ อันเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้านี้ เมื่อปฏิบัติตามแล้วทำให้ความทุกข์ระงับหรือดับลงได้จริง

ดวงตาเห็นธรรมนี้เองที่จะเป็นสิ่งยืนยันอย่างแน่ชัดว่า ผู้สอนอริยสัจ ๔ หรือพระพุทธเจ้านี้ก็ต้องเคยมีอยู่จริงด้วย, เพราะเราได้พิสูจน์มาแล้วว่าคำสอนของพระพุทธเจ้านี้ใช้ดับทุกข์ได้จริง, และผู้ที่ปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างถูกต้องจนดับทุกข์ได้จริง พร้อมทั้งนำคำสอนของพระพุทธเจ้ามาเผยแพร่ อย่างเช่นที่เราปฏิบัติได้แล้วนี้ก็ต้องเคยมีอยู่จริงด้วยเหมือนกัน, รวมทั้งเห็นแจ้งแล้วว่าการปฏิบัติของเรานี้ถูกต้องแล้วด้วย และเมื่อเรามีดวงตาเห็นธรรมแล้ว วิจิกิจฉาของนิวรณ์นี้ก็จะไม่กลับมาเกิดขึ้นอีกอย่างถาวร โดยไม่ต้องมีการฝึกสมาธิอย่างหนักเหมือนขณะที่เรายังไม่มีดวงตาเห็นธรรมเลย

          สรุปได้ว่า การปฏิบัติเพื่อทำให้นิวรณ์ทั้ง ๕ นี้ระงับหรือดับหายไปได้นั้น จะต้องใช้สิ่งตรงข้ามกันมากำจัดหรือทำลาย ซึ่งก็ต้องใช้ทั้งปัญญา (ความรอบรู้อริยสัจ ๔ โดยมีหัวใจอยู่ที่ความรอบรู้ในเรื่อง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา) และความอดทนมาช่วย รวมทั้งก็ต้องมีการหมั่นฝึกฝนจิตให้มีสติ สมาธิ และปัญญาตามหลักอริยสัจ ๔ อยู่เสมอ เพื่อสร้างความเคยชินในการปฏิบัติให้แก่จิตให้มากขึ้น เพื่อความเคยชินของกิเลสและนิวรณ์ ที่จะสร้างความทุกข์ทั้งหลายในอนาคต จะได้ลดน้อยลงหรือหมดสิ้นไปได้อย่างถาวร อันจะทำให้ความทุกข์ที่จะเกิดขึ้นมาอีกในอนาคตจะได้ลดน้อยลง หรือไม่เกิดขึ้นมาได้อีกอย่างถาวรเหมือนกัน

 

๕. ฌาน - การเพ่ง

ฌาน  แปลว่า  เพ่ง หรือ การเพ่ง  ซึ่งฌานนี้ก็คือการเพ่งที่แน่วแน่มากจนนิวรณ์ระงับหรือดับลงอย่างสนิทแล้วจิตก็จะมีสมาธิอย่างสมบูรณ์  โดยฌานนี้ก็มีอยู่  ๒  ประเภท  อันได้แก่

        ๑.  รูปฌาน      คือฌานที่มีการเพ่งรูปเป็นอารมณ์

        ๒.  อรูปฌาน   คือฌานที่มีการเพ่งอรูปเป็นอารมณ์

การฝึกสมาธินี้จะต้องมีอารมณ์ (สิ่งสำหรับให้จิตจับยึด) มาให้จิตจับยึดเพื่อเพ่ง ซึ่งรูปฌานนี้จะเป็นการเพ่งโดยใช้รูปหรือวัตถุ หรือลมหายใจเป็นอารมณ์  ซึ่งรูปฌานนี้จะมีอยู่  ๔  ฌานด้วยกัน  โดยแต่ละฌานจะมีองค์ประกอบดังนี้

๑.  ปฐมฌาน   คือฌานที่ ๑  ประกอบด้วย  วิตก, วิจาร, ปีติ, สุข,  เอกัคคตารมณ์

๒.  ทุติยฌาน  คือฌานที่  ๒  ประกอบด้วย  ปีติ,  สุข,  เอกัคคตารมณ์

๓.  ตติยฌาน   คือฌานที่  ๓  ประกอบด้วย  สุข,  เอกัคคตารมณ์

๔.  จตุตถฌาน  คือฌานที่  ๔  ประกอบด้วย  อุเบกขา, เอกัคคตารมณ์

ความหมายขององค์ประกอบของฌานทั้งหลายนี้ก็ได้แก่

วิตก  หมายถึง  อาการที่จิตจดจ่อ หรือยึดติดอยู่กับอารมณ์ที่เพ่งตลอดเวลา

วิจาร  หมายถึง  อาการที่จิตซึมซาบเคล้าเคลียระแวดระวังตัวอยู่ตลอดเวลา

ปีติ  หมายถึง  ความซาบซ่าน  อิ่มอกอิ่มใจ

สุข  หมายถึง  สุขเวทนาที่สงบประณีต

อุเบกขา  หมายถึง  ความรู้สึกไม่สุขไม่ทุกข์ (หรือกลางๆ หรือจืดๆ)

เอกัคคตารมณ์   หมายถึง  อาการที่จิตมีอารมณ์ของฌานรวมเป็นหนึ่งเดียวโดยไม่มีอารมณ์อื่นมาแทรก  

เมื่อเราตั้งใจเพ่งสิ่งใดสิ่งหนึ่งอยู่ก็เรียกว่าเราจดจ่ออยู่กับสิ่งที่กำลังเพ่งนั้น พร้อมกันนั้นจิตก็จะซึมซาบเคล้าเคลียและมีการระมัดระวังตัวอยู่ตลอดเวลาจึงทำให้มีสติสมบูรณ์  ซึ่งขณะนี้นิวรณ์จะดับลง จึงทำให้ปีติและสุขเกิดขึ้นมาตั้งมั่นรวมกันเป็นหนึ่ง ก็เรียกว่าเกิดฌานที่ ๑ ขึ้นมาแล้ว,  เมื่อเพ่งต่อไปจนวิตกและวิจารหายไป เหลืออยู่แต่ปีติและสุขรวมกันเป็นหนึ่งเดียว ก็เรียกว่าเป็นฌานที่ ๒, เมื่อปีติหายไป เหลืออยู่แต่สุขตั้งมั่นอยู่เพียงอารมณ์เดียว ก็เรียกว่าเป็นฌานที่ ๓, และเมื่อสุขก็หายไปอีก เหลืออยู่แต่จิตที่ว่างจากทั้งสุขและทุกข์ ตั้งมั่นอยู่เพียงอารมณ์เดียว ก็เรียกว่าเป็นฌานที่ ๔

สมาธิที่จำเป็นจะต้องใช้ในอริยมรรคก็มีเพียงแค่รูปฌานนี้เท่านั้น สมาธิที่สูงกว่านี้จัดว่าไม่จำเป็น แต่ถ้าใครสนใจที่จะฝึกต่อไปก็ได้ โดยเมื่อบรรลุฌานที่ ๔ แล้วก็ให้ละการเพ่งอารมณ์ที่เป็นรูป แล้วเปลี่ยนมาเพ่งอารมณ์ที่ไม่ใช่รูปแทน ซึ่งมีอยู่ ๔ ฌานด้วยกันคือ

อรูปฌานที่  ๑  อากาสานัญจายตนะ  คือเพ่งความว่างว่าไม่มีที่สิ้นสุดเป็นอารมณ์

อรูปฌานที่  ๒  วิญญาณัญจายตนะ  คือเพ่งวิญญาณ (การรับรู้) ว่าไม่มีที่สิ้นสุดเป็นอารมณ์

อรูปฌานที่  ๓  อากิญจัญยายตนะ  คือเพ่งความไม่มีอะไรเลยแม้แต่น้อยหนึ่งเป็นอารมณ์

อรูปฌานที่  ๔  เนวสัญญานาสัญญายตนะ  คือเพ่งความรู้สึกว่าจะมีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่เป็นอารมณ์

วสี  หมายถึง การทำให้คล่องแคล่วในการเข้าและออกจากฌานทั้งหลาย  สมาบัติ  หมายถึง  การเข้าอยู่ในรูปฌานหรืออรูปฌานได้ในระยะเวลายาวตามประสงค์  ซึ่งรูปฌาน  ๔  และอรูปฌาน  ๔  นี้ก็มีการฝึกการสอนกันอยู่ก่อนแล้วที่พระพุทธเจ้าจะตรัสรู้  เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้ขึ้นมาก็ได้ค้นพบสมาธิที่สูงกว่าอรูปฌาน  ๔  อันได้แก่  สัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ  คือดับสัญญากับเวทนา แล้วเพ่งอยู่ในความดับนั้น  คืออรูปฌาน  ๔   นั้นยังมีสัญญากับเวทนาอยู่บ้าง  แต่สัญญาเวทยิตนิโรธนี้จะดับทั้งสัญญาและเวทนาจนหมดสิ้น แล้วมาเพ่งอยู่ในความดับนั้น  คือเหมือนคนตายแต่ยังไม่ตาย

อานิสงส์ของสมาธินี้ก็ได้แก่

๑.มีความสุขทันที  ซึ่งเป็นสุขที่ประณีตและสงบมาก

๒.           มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์

๓.มีฤทธิ์มีเดช มีปาฏิหาริย์ ซึ่งเป็นการบังคับจิตให้เป็นไปตามที่ต้องการได้

๔.            ทำอาสวะให้สิ้นไปไม่มีเหลือได้

เรื่องฌานทั้งหลายนี้จัดเป็น อุตตริมนุษธรรม  คือเป็นสิ่งที่เกินขอบเขตที่คนธรรมดาที่ไม่ได้สนใจศึกษาและเคยปฏิบัติมาก่อนจะเข้าใจได้  จึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรจะนำมาโอ้อวดกัน  ถ้าภิกษุใดยังไม่มีแต่มาอวดว่าตนมีก็จะขาดจากความเป็นภิกษุทันที   ซึ่งผู้ที่อวดก็มักจะอวดเพื่อหวังผลประโยชน์จากคนที่เชื่อถือเท่านั้น อีกทั้งเรื่องสมาธิสูงๆและผลจากสมาธิสูงๆนี้ก็ยังจัดว่าเป็นเรื่องอจินไตย คือไม่ควรสนใจว่าจะมีจริงหรือไม่? หรือเป็นอย่างไร? เพราะไม่เป็นประโยชน์แก่การศึกษาเพื่อดับทุกข์ เพียงเรามีความตั้งใจอยู่ในการพิจารณาธรรมะอย่างแน่วแน่ ก็ทำให้เกิดสมาธิที่พอสมน้ำสมเนื้อมาทำให้ความทุกข์ระงับหรือดับลงได้จริงแล้ว แต่จะเรียกว่าเกิดฌานอะไรขึ้นมานั้นอย่าไปสนใจ ถ้ามัวไปสนใจว่าเป็นฌานอะไร ก็จะทำให้เกิดความลังเลสงสัยซึ่งเป็นนิวรณ์มารบกวนจิตไปเสียเปล่าๆ

 

๖.  สมาธิ  ๓

สมาธินี้ยังแยกได้  ๓  ประเภท  อันได้แก่

            ๑.  ขณิกสมาธิ      สมาธิเล็กๆน้อยๆ

            ๒.  อุปจารสมาธิ   สมาธิเฉียดๆฌาน

            ๓.  อัปปนาสมาธิ   สมาธิแน่วแน่เป็นฌาน

เมื่อเราเริ่มกำหนดจิตเพ่งอยู่ในสิ่งใด หรือในการพิจารณาสิ่งใด แต่ก็เพ่งได้ไม่นานก็เสียสมาธิ ก็แสดงว่าจิตของเราอยู่ขั้นขณิกสมาธิ (ซึ่งสมาธิขั้นนี้เรียกว่าเป็นสมาธิสั้น) เมื่อเราสามารถเพ่งต่อไปอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ จนนิวรณ์อ่อนกำลังลงแล้ว และจิตก็สงบตั้งมั่นมากขึ้น แต่ก็ยังไม่ถึงขึ้นเป็นฌาน ก็เรียกว่าอุปจารสมาธิ แต่ถ้าเราสามารถเพ่งต่อไปจนนิวรณ์ดับลงสนิท และองค์ประกอบของฌานต่างๆ เกิดขึ้น ก็เรียกว่าเป็นอัปปนาสมาธิ   

 

๗.  กสิน  ๑๐

หลักการฝึกสมาธิโดยสรุปก็คือ การเพ่งอยู่ในอารมณ์หรือสิ่งที่ใช้เพ่งโดยไม่ให้นิวรณ์เกิดขึ้น  ซึ่งการฝึกฌานนั้นมีหลักในการฝึกหลายวิธี แต่ที่นิยมก็ได้แก่การเพ่งกสินและอานาปานสติ

กสิน ก็หมายถึง สิ่งที่ใช้เพ่ง โดยสมัยก่อนนิยมเอาดินมาทำเป็นวงบ้าง เอาน้ำบ้าง เอาไฟบ้าง เอาสีเขียวบ้าง เป็นต้น มาทำเป็นกสินเพื่อใช้เพ่ง  วิธีเพ่งก็คือให้นั่งเพ่งมองกสินนั้นแล้วก็ท่องชื่อกสินนั้นอยู่ในใจ เช่น ถ้าเพ่งกสินดินก็ให้ท่องว่า ดิน ๆ ๆ ๆ ไปเรื่อยๆพร้อมกับหลับตานึกถึงภาพดินนั้นด้วยสลับกันไปเรื่อยๆจนเกิดมโนภาพหรือนิมิตของดินขึ้นมาในใจ แล้วก็ให้เปลี่ยนมาเพ่งที่นิมิตนั้นแทน ส่วนการท่องในใจนั้นเมื่อจิตเป็นสมาธิแล้วมันก็จะหยุดไปเอง  และเมื่อเพ่งจนองค์ประกอบของฌานที่  ๑  เกิดขึ้นครบ ก็แสดงว่าจิตบรรลุฌานที่  ๑  แล้ว

การเพ่งกสินนี้สมัยพุทธกาลพวกฤๅษี โยคีนิยมกันมาก เพราะทำให้เกิดสมาธิได้ง่ายกว่าอานาปานสติ คือการเอาวัตถุที่มองเห็นมาใช้เพ่งจะทำให้จิตไม่ฟุ้งซ่านง่าย  แต่ถ้าเพ่งลมหายใจที่มองไม่เห็นจะยากกว่าจึงทำให้ฝึกได้ยากกว่า แต่ก็ต้องระวังว่า ถ้าเพ่งกสินโดยไม่มีความรู้เรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตามาก่อน และเพ่งด้วยกิเลส ก็จะเป็นการเพ่งให้เกิดสมาธิที่ผิดขึ้นมาได้

 

๘.  นิมิต  ๓

นิมิต  หมายถึง  สิ่งกำหนด   ซึ่งนิมิตนี้ก็มีอยู่  ๓  ลักษณะ  อันได้แก่

        ๑.  บริกรรมนิมิต   นิมิตขั้นบริกรรม

        ๒.  อุคคหนิมิต      นิมิตที่เป็นมโนภาพ

        ๓.  ปฏิภาคนิมิต    นิมิตที่เปลี่ยนรูปร่างได้

ในการฝึกกสินนั้นเมื่อเราเริ่มเพ่งสิ่งใด สิ่งนั้นก็เรียกว่าเป็นบริกรรมนิมิต เมื่อเพ่งจนหลับตานึกเห็นมโนภาพของสิ่งที่ใช้เพ่งขึ้นมา ก็แสดงว่าเกิดอุคคหนิมิต  แต่ถ้าสามารถบังคับนิมิตนั้นได้ก็เรียกว่าเป็นปฏิภาคนิมิต

ตามธรรมชาติของจิตนั้น มันก็จะมีการปรุงแต่งหรือคิดนึกของมันอยู่ตลอดเวลา แม้ยามหลับ มันก็ยังมีการปรุงแต่งอยู่อีก ที่เรียกว่าเป็นความฝัน ซึ่งเราก็จะเห็นภาพหรือได้ยินเสียงที่จิตสร้างขึ้นมาของมันเองโดยเราไม่ได้ตั้งใจจะสร้างขึ้นมา ซึ่งการฝึกฌานก็คือการฝึกให้จิตหยุดการทำงาน หรือหยุดคิดนึก เมื่อมันหยุดคิดนึก มันก็เหมือนการหลับทั้งๆที่ยังรู้ตัว และมันก็จะเกิดมโนภาพขึ้นมาเหมือนความฝัน (เช่น ภาพ นรก สวรรค์ ตามที่เราเคยเห็นจากที่จิตกรเขาเขียนไว้) ซึ่งเราก็มาเรียกว่าเป็นนิมิต ยิ่งจิตสงบมาก นิมิตก็จะยิ่งชัดเจนและสามารถน้อมนึกให้เป็นไปตามที่เราน้อมนึกได้ ซึ่งถ้าเรามาหลงติดอยู่ในนิมิตนี้ก็จะทำให้เกิดเป็นวิปัสนูกิเลสไปเสียเปล่าๆ หรืออาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดไปว่าเรามีหูทิพย์ ตาทิพย์ หรือถอดจิตได้ อย่างที่มักมีผู้โอ้อวดกันอยู่นั่นเอง

 

๙.  อานาปานสติ

อานาปานสติ  แปลว่า  สติกำหนดสิ่งใดสิ่งหนึ่งอยู่ทุกลมหายใจเข้า-ออก   คือเราจะกำหนดหรือเพ่งอะไรก็ได้ แต่ให้รู้สึกถึงการหายใจอยู่ด้วยตลอดเวลาควบคู่ไปด้วย โดยเมื่อเราตั้งสติกำหนดสิ่งใดได้นานๆ สมาธิก็จะเกิดขึ้นมาได้เอง ซึ่งวิธีการฝึกอานาปานสตินั้นก็มีขั้นตอนดังนี้

ในการฝึกอานาปานสตินี้ควรหาสถานที่สงบไม่มีเสียงหรืออะไรรบกวน  ถ้าฝึกใหม่ๆควรใช้อิริยาบถนั่ง คือให้นั่งตัวตรงและขัดสมาธิเหมือนพระพุทธรูป  ส่วนตาจะหลับหรือลืมก็ได้  ถ้าลืมตาแล้วฟุ้งซ่านก็ให้หลับ  แต่ถ้าลืมตาก็อย่าเพ่งมองอะไร ให้ทอดสายตาลงต่ำ  ส่วนเวลาในการนั่งนั้นก็ขึ้นอยู่กับเราว่าจะนั่งนานเท่าใด  ถ้าปวดเมื่อยก็เปลี่ยนอิริยาบถแล้วกลับมานั่งใหม่ แต่ถ้าฝึกชำนาญแล้วจะใช้อิริยาบถอะไรก็ได้

จุดสำคัญก็คือเอาจิตทั้งหมด (หรือสติ) มาจับอยู่ที่ร่างกายที่นั่งอยู่ตลอดเวลา  ถ้าสติอยู่ในกายจริงก็จะรู้ถึงการหายใจของร่างกายตลอดเวลา ว่ากำลังหายใจเข้าหรือออกอยู่  และรู้ว่ากำลังหายใจเข้า-ออกมากหรือน้อยเพียงใด หรือกำลังหยุดหายใจอยู่  เมื่อจับการหายใจได้แล้วก็ให้มาเน้นอยู่ที่ความรู้สึกที่ลมหายใจมากระทบบริเวณจมูก ถ้าจิตเผลอไปคิดถึงสิ่งอื่น เมื่อรู้ตัวก็ให้รีบหยุดและกลับมากำหนดที่ลมหายใจนี้ต่อไป

ในการฝึกใหม่ๆนั้นควรจะมีการท่องคำต่างๆอยู่ในใจพร้อมกับการหายใจไปด้วย เพื่อช่วยให้จิตมีที่ยึดจะได้ไม่ฟุ้งซ่านง่าย  เช่น ท่องคำว่า “พุท” เมื่อหายใจเข้า และท่อง “โธ” เมื่อหายใจออก หรือ “เข้าหนอ” เมื่อหายใจเข้า และ “ออกหนอ” เมื่อหายใจออก  เป็นต้น

อีกวิธีหนึ่งคือใช้การนับลมหายใจ  คือให้นับจำนวนครั้งโดยเมื่อหายใจเข้าและออกก็ให้นับเป็น  ๑  ครั้ง  และให้นับไปเรื่อยๆจนถึง  ๑๐๐ ถ้าจิตยังไม่เป็นสมาธิก็ให้กลับมาตั้งต้นนับใหม่อีก  หรือถ้าเผลอตอนไหนก็ให้กลับมาตั้งต้นนับ  ๑  ใหม่ เมื่อเกิดสมาธิแล้วก็หยุดนับได้

อีกวิธีหนึ่งคือการท่องคำต่างๆอยู่ในใจ เช่น นี่ไม่ใช่เรา, มันไม่มีเราจริง, ไม่มีเรา-ไม่มีใคร, ไม่มีใครได้อะไร, ไม่มีใครเสียอะไร, ไม่มีอะไรเที่ยงแท้, อย่าโง่, อย่าบ้า, ว่างเปล่า เป็นต้นในขณะที่หายใจออก แต่พอหายใจเข้าก็หยุด (หรือใครจะคิดเฉพาะขณะหายใจเข้า แต่พอหายใจออกจะหยุดคิดก็ได้) พร้อมทั้งพิจารณาความหมายของสิ่งที่ท่องนั้นแล้วน้อมนึกเข้ามาในตัวเราหรือน้อมไปพิจารณาผู้อื่นด้วยอย่างตั้งใจ ซึ่งวิธีนี้จะดีกว่า ๒ วิธีแรก คือฝึกให้เกิดสมาธิได้ง่ายกว่า และเกิดปัญญาขึ้นมาพร้อมกันด้วย

อีกวิธีหนึ่งก็คือการตั้งใจคิด หรือควบคุมความคิด (หรือทำวิปัสสนา)  โดยเราจะเอาเรื่องความเป็นอนิจจัง ทุกขัง และอนัตตาของร่างกายและจิตใจ ทั้งของเราและของผู้อื่น รวมทั้งสิ่งต่างๆในโลก ในจักรวาลมาตั้งใจพิจารณา  คืออาจจะคิดเฉพาะเวลาหายใจเข้า  แต่พอหายใจออกก็หยุด (หรือจะคิดเฉพาะเวลาหายใจออก  แต่พอหายใจเข้าก็หยุดก็ได้) โดยการคิดก็ต้องคิดช้าๆ ด้วยประโยคสั้นๆให้ต่อเนื่องอย่างตั้งใจอย่างที่สุด พยายามอย่าให้จิตฟุ้งซ่านไปคิดถึงเรื่องอื่นหรือให้ขาดสติจนนิวรณ์เกิดขึ้นมาแทรกแซงได้ ซึ่งวิธีนี้จะทำให้เกิดทั้งปัญญาและสมาธิได้พร้อมกันโดยไม่ยาก และมรรคก็จะเกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์ จิตก็จะเกิดความหลุดพ้นและนิพพานก็จะปรากฏได้อย่างแท้จริง  

จิตของเรานั้นเราปล่อยให้มันคิดนึกและเกิดนิวรณ์อย่างอิสระมาจนมันชินชาเป็นปรกติ  พอเรามาบังคับมันจึงทำให้มันไม่ชอบ  คือมันจะรู้สึกอึดอัดทรมานและจะฟุ้งซ่านมากขึ้น  เหมือนกับการจับสัตว์ป่ามาฝึก  คือใหม่ๆมันจะดิ้นรนต่อสู้มาก  ถ้าเราจับมัดไว้ไม่ปล่อย  นานเข้ามันก็จะสงบลงได้  จิตของเราก็เหมือนกัน  ถ้าไม่ฝึกก็เหมือนไม่มีอะไร  แต่พอเริ่มมาฝึกมันเข้ามันก็จะรู้สึกไม่อิสระ หรือรู้สึกทรมาน มันจึงฟุ้งซ่านหรือดิ้นรนอย่างมาก  ถ้าเราไม่ยอมแพ้คืออดทนฝึกต่อไปเรื่อยๆไม่นานมันก็จะค่อยๆอ่อนลงและสงบมากขึ้น  และถ้านิวรณ์ระงับดับลงจริงเราก็จะรู้สึกถึงจิตที่เป็นอิสระจากนิวรณ์ว่ามันเป็นสุขและสงบอย่างไร  คือเหมือนกับคนที่วิ่งจนเหนื่อยแล้วได้หยุดพัก  หรือเหมือนกับคนที่เคยเป็นทาสแล้วพ้นจากความเป็นทาส

สมาธิขั้นฌานนี้ไม่ได้หมายความว่าจะต้องหยุดความคิดได้ แม้การเพ่งพิจารณาธรรมะอย่างตั้งใจ จนนิวรณ์ระงับหรือดับลงไปอย่างสนิท และจิตมีความสุขที่สงบพร้อมกับมีความอิ่มเอมใจเกิดขึ้นมาจริงๆ ฌานที่ ๑ ก็ชื่อว่าเกิดขึ้นมาแล้ว และเมื่อเพ่งพิจารณาต่อไปเรื่อยๆ จิตก็จะเลื่อนขึ้นไปสู่ฌานที่สูงขึ้นเองโดยอัตโนมัติ  และเมื่อจิตบรรลุถึงฌานที่ ๔  จิตก็จะบริสุทธิ์อย่างเต็มที่

เมื่อฌานหรือสมาธิระดับสูงนี้เกิดขึ้น กิเลส นิวรณ์และความยึดมั่นว่ามีตัวเรา-ของเราก็จะระงับดับลงด้วย ซึ่งนี่ก็คืออาการที่เรียกว่าจิตหลุดพ้นจากกิเลส หรือหลุดพ้นจากความยึดมั่นถือมั่นว่ามีตัวเรา-ของเรา แล้วจิตก็จะนิพพาน คือสงบเย็น หรือไม่มีความทุกข์อย่างแท้จริง ซึ่งเป็นสิ่งที่เราสามารถทำให้เกิดขึ้นได้จริงในชีวิตของเรานี้นี่เอง

 

๑๐.  อานาปานสติ  ๑๖  ขั้นตอน

การเจริญอริยมรรคนั้นมีทั้งอย่างเป็นระบบและอย่างไม่เป็นระบบ  ซึ่งอย่างเป็นระบบก็คือการเจริญอานาปานสติ  ๑๖  ขั้นตอน  นอกนั้นเป็นการเจริญอย่างไม่เป็นระบบ  ซึ่งการเจริญอานาปานสติ  ๑๖  ขั้นตอนนี้จะเป็นการเจริญสติปัฏฐาน  ๔  และสมถะกับวิปัสสนาอย่างสมบูรณ์  ถ้าปฏิบัติสำเร็จก็จะบังเกิดความหลุดพ้นอย่างถาวรได้และยังจะมีความสามารถพิเศษเป็นของแถมอีกด้วย

อานาปานสติ  ๑๖  ขั้นตอนนี้จะแยกเป็นหมวดหมู่ตามสติปัฏฐาน  ๔  อันได้แก่

หมวดที่  ๑  คือหมวดกายานุปัสสนา  จะมีอยู่  ๔  ขั้นคือ

ขั้นที่  ๑  เมื่อหายใจเข้ายาว  ก็รู้สึกตัวทั่วถึง  ว่าเราหายใจเข้ายาว

            เมื่อหายใจออกยาว  ก็รู้สึกตัวทั่วถึง  ว่าเราหายใจออกยาว

ขั้นที่  ๒  เมื่อหายใจเข้าสั้น  ก็รู้สึกตัวทั่วถึง  ว่าเราหายใจเข้าสั้น

    เมื่อหายใจออกสั้น  ก็รู้สึกตัวทั่วถึง  ว่าเราหายใจออกสั้น

ขั้นที่  ๓  ย่อมทำในบทศึกษาว่า  เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งกายทั้งปวง  จักหายใจเข้า

            ย่อมทำในบทศึกษาว่า  เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งกายทั้งปวง  จักหายใจออก

ขั้นที่  ๔  ย่อมทำในบทศึกษาว่า  เราจักเป็นผู้ทำกายสังขารให้รำงับอยู่  จักหายใจเข้า

            ย่อมทำในบทศึกษาว่า  เราจักเป็นผู้ทำกายสังขารให้รำงับอยู่  จักหายใจออก

หมวดที่  ๒  คือหมวดเวทนานุปัสสนา   จะมีอยู่  ๔  ขั้นคือ

ขั้นที่  ๕  ย่อมทำในบทศึกษาว่า  เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งปีติ  จักหายใจเข้า

            ย่อมทำในบทศึกษาว่า  เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งปีติ  จักหายใจออก

ขั้นที่  ๖  ย่อมทำในบทศึกษาว่า  เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งสุข  จักหายใจเข้า

           ย่อมทำในบทศึกษาว่า  เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งสุข  จักหายใจออก

ขั้นที่  ๗ ย่อมทำในบทศึกษาว่า  เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งจิตตสังขาร  จักหายใจเข้า

           ย่อมทำในบทศึกษาว่า  เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งจิตตสังขาร  จักหายใจออก

ขั้นที่  ๘ ย่อมทำในบทศึกษาว่า  เราเป็นผู้ทำจิตตสังขารให้รำงับอยู่  จักหายใจเข้า

           ย่อมทำในบทศึกษาว่า  เราเป็นผู้ทำจิตตสังขารให้รำงับอยู่  จักหายใจออก

หมวดที่  ๓  คือหมวดจิตตานุปัสสนา  จะมีอยู่  ๔  ขั้นคือ

ขั้นที่ ๙  ย่อมทำในบทศึกษาว่า  เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งจิต  จักหายใจเข้า

           ย่อมทำในบทศึกษาว่า  เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งจิต  จักหายใจออก

ขั้นที่ ๑๐ ย่อมทำในบทศึกษาว่า  เราเป็นผู้ทำจิตให้ปราโมทย์ยิ่งอยู่  จักหายใจเข้า

            ย่อมทำในบทศึกษาว่า  เราเป็นผู้ทำจิตให้ปราโมทย์ยิ่งอยู่  จักหายใจออก

ขั้นที่ ๑๑ ย่อมทำในบทศึกษาว่า  เราเป็นผู้ทำจิตให้ตั้งมั่นอยู่  จักหายใจเข้า

            ย่อมทำในบทศึกษาว่า  เราเป็นผู้ทำจิตให้ตั้งมั่นอยู่  จักหายใจออก

ขั้นที่ ๑๒ ย่อมทำในบทศึกษาว่า  เราเป็นผู้ทำจิตให้ปล่อยอยู่  จักหายใจเข้า

            ย่อมทำในบทศึกษาว่า  เราเป็นผู้ทำจิตให้ปล่อยอยู่  จักหายใจออก

หมวดที่  ๔  คือหมวดธรรมานุปัสสนา จะมีอยู่  ๔  ขั้นคือ

ขั้นที่  ๑๓  ย่อมทำในบทศึกษาว่า  เราเป็นผู้ตามเห็นซึ่งความไม่เที่ยงอยู่เป็นประจำ  จักหายใจเข้า

            ย่อมทำในบทศึกษาว่า  เราเป็นผู้ตามเห็นซึ่งความไม่เที่ยงอยู่เป็นประจำ  จักหายใจออก

ขั้นที่ ๑๔ ย่อมทำในบทศึกษาว่า  เราเป็นผู้ตามเห็นซึ่งความจางคลายอยู่เป็นประจำ  จักหายใจเข้า

            ย่อมทำในบทศึกษาว่า  เราเป็นผู้ตามเห็นซึ่งความจางคลายอยู่เป็นประจำ  จักหายใจออก

ขั้นที่  ๑๕ ย่อมทำในบทศึกษาว่า  เราเป็นผู้ตามเห็นซึ่งความดับไม่เหลืออยู่เป็นประจำ  จักหายใจเข้า

            ย่อมทำในบทศึกษาว่า  เราเป็นผู้ตามเห็นซึ่งความดับไม่เหลืออยู่เป็นประจำ  จักหายใจออก

ขั้นที่ ๑๖ ย่อมทำในบทศึกษาว่า  เราเป็นผู้ตามเห็นซึ่งความสลัดคืนอยู่เป็นประจำ  จักหายใจเข้า

            ย่อมทำในบทศึกษาว่า  เราเป็นผู้ตามเห็นซึ่งความสลัดคืนอยู่เป็นประจำ  จักหายใจออก

หลักสำคัญในการเจริญอานาปานสติก็คือ จะต้องมีความเห็นแจ้งอนัตตากำกับอยู่ด้วยทุกขั้นตอน และจะต้องปฏิบัติไปตามลำดับคือจากขั้นที่ ๑  ขึ้นไปเรื่อยๆ  ถึงแม้เราจะปฏิบัติถึงขั้นใดแล้วก็ตาม แต่พอจะเริ่มปฏิบัติใหม่ก็จะต้องมาเริ่มที่ขั้นที่  ๑  ก่อนเสมอ

 

๑๑.  หมวดกายานุปัสสนา

ขั้นที่  ๑  นี้จะใช้คำว่า “รู้สึกตัวทั่วถึง” คือจะให้เรามีสติรู้สึกตัวอยู่ตลอดเวลาในขณะที่หายใจทั้งเข้าและออกซึ่งในขั้นที่ ๑ นี้จะให้เราฝึกสังเกตลมหายใจยาว เพราะทำให้จิตสงบง่ายและกำหนดง่ายกว่าลมหายใจสั้น

ขั้นที่  ๒  นี้จะเปลี่ยนให้ฝึกสังเกตลมหายใจสั้นบ้าง  คือเมื่อเราสามารถกำหนดลมหายยาวได้จนชำนาญแล้ว ก็ให้เปลี่ยนมากำหนดลมหายในสั้นที่กำหนดได้ยากกว่าลมหายใจยาว ถ้าฝึกสำเร็จก็จะทำให้เก่งขึ้น    

ขั้นที่  ๓  นี้และทุกขั้นต่อไปจะใช้คำว่า “ย่อมทำในบทศึกษา” คือให้ปฏิบัติตามที่สั่งไว้   โดยขั้นที่  ๓  นี้จะสั่งให้ฝึกรู้พร้อมเฉพาะซึ่งกายทั้งปวง  ซึ่งคำว่ากายทั้งปวงในที่นี้จะได้แก่ (๑) กายเนื้อ คือร่างกาย (๒) กายลม คือลมหายใจ (๓) นามกาย  คือจิต   คือในขั้นนี้จะเป็นการเรียนรู้เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างร่างกาย ลมหายใจ และจิต  คือถ้าลมหายใจละเอียด (คือเบาและยาว) กายก็จะละเอียด (คือสงบ สบาย) และจิตก็จะละเอียด (คือสงบไม่ฟุ้งซ่าน)  แต่ถ้าลมหายใจหยาบ (คือเร็วและแรง) กายก็จะหยาบ (คือไม่สงบ ไม่สบาย) และจิตก็จะหยาบ (คือฟุ้งซ่านดิ้นรน)  ซึ่งที่เป็นเช่นนี้เพราะลมหายใจจะปรุงแต่งจิต (เพราะจิตกำหนดอยู่ที่ลมหายใจ) ส่วนจิตก็จะปรุงแต่งกาย (คือจิตควบคุมร่างกาย) และร่างกายก็จะปรุงแต่งลมหายใจ (คือกายควบคุมการหายใจ)  ซึ่งจะปรุงแต่งกันวนเวียนอยู่เช่นนี้ตลอดเวลา

ขั้นที่  ๔  นี้จะให้ฝึกทำกายสังขารให้ระงับลง  ซึ่งกายสังขารก็หมายถึงสิ่งที่มาปรุงแต่งกาย  โดยเราเข้าใจการปรุงแต่งกายมาแล้วจากขั้นที่  ๓  ดังนั้นการทำกายสังขารให้ระงับก็คือการบังคับให้ลมหายใจให้ละเอียดมากขึ้น คือเบาและยากมากขึ้น จนลมหายใจระงับหรือหายไป (ที่จริงลมหายใจไม่ได้หาย เพียงแต่ว่ามันละเอียดหรือเบามากจนเรากำหนดไม่ได้เท่านั้น ก็อย่าสนใจ ให้หายใจแรงขึ้นจนกำหนดได้) และจิตก็ตั้งมั่นมากขึ้น เมื่อฝึกสำเร็จ จิตก็จะบรรลุฌานที่  ๑  ที่มี วิตก วิจาร ปีติ สุขรวมกันเป็นอารมณ์เดียว

 

๑๒.  หมวดเวทนานุปัสสนา

ขั้นที่  ๕  นี้จะให้ฝึกรู้พร้อมเฉพาะซึ่งปีติ  โดยการฝึกเพ่งต่อไปจนจิตเลื่อนขึ้นสู่ฌานที่ ๒ ก็ให้เอาปีติจากฌานที่  ๒ มาใช้เพ่งดูว่ามันเป็นอย่างไร มันตื่นเต้นซาบซ่านอย่างไรให้แจ่มแจ้ง จนจิตเลื่อนขึ้นสู่ฌานที่ ๓

ขั้นที่  ๖  นี้จะให้ฝึกรู้พร้อมเฉพาะซึ่งสุข   โดยการเอาสุขจากฌานที่ ๓ นั้นมาพิจารณาดูว่ามันสุขสงบอย่างไรให้แจ่มแจ้ง

ขั้นที่  ๗  นี้จะให้ฝึกรู้พร้อมเฉพาะซึ่งจิตตสังขาร   ซึ่งจิตตสังขารนี้ก็หมายถึง สิ่งที่มาปรุงแต่งจิต  โดยสุขเวทนานี่เองที่เป็นสิ่งมาปรุงแต่งจิตให้เกิดกิเลสตัณหาขั้นมา  ดังนั้นในขั้นนี้เราจะเปลี่ยนมาดูสุขจากฌานที่  ๓  ในแง่ที่ว่ามันเป็นสิ่งปรุงแต่งจิตให้ลุ่มหลงติดใจได้อย่างไร

ขั้นที่  ๘  นี้จะให้ฝึกทำจิตตสังขารให้ระงับ  คือการทำสุขจากฌานที่  ๓  ให้ดับหายไป  ซึ่งก็ทำได้โดยฝึกฌานที่  ๓  จนชำนาญแล้วสุขจากฌานที่  ๓  ก็จะหายไป แล้วจิตก็จะเลื่อนขึ้นมาเป็นฌานที่  ๔  ที่ไม่มีสุขมารบกวนจิต จะมีแต่ความรู้สึกจืดๆที่ไม่สุขและไม่ทุกข์เป็นอารมณ์เดียวเท่านั้น (อุเบกขา)

 

๑๓.  หมวดจิตตานุปัสสนา

ขั้นที่  ๙  นี้จะให้ฝึกรู้พร้อมเฉพาะซึ่งจิต  คือเมื่อจิตบรรลุฌานที่  ๔  แล้วก็แสดงว่าจิตบริสุทธิ์แล้ว  ก็ให้มาดูสภาวะของจิตที่บริสุทธิ์นั้นว่ามันเป็นอย่างไร จะได้รู้ซึ้งถึงจิตของผู้ที่บริสุทธิ์ทั้งหลายว่าเป็นเช่นไร

ขั้นที่  ๑๐  นี้จะให้ฝึกทำจิตให้ปราโมทย์  คือเมื่อรู้จักจิตที่บริสุทธิ์ดีแล้ว  ก็เปลี่ยนมาฝึกจิตให้ร่าเริงอยู่เสมอในทุกสภาวะจนชำนาญ

ขั้นที่  ๑๑  นี้จะให้ฝึกทำจิตให้ตั้งมั่น  คือเมื่อทำจิตให้ร่าเริงจนชำนาญแล้ว ก็เปลี่ยนมาฝึกจิตให้ตั้งมั่นอยู่เสมอในทุกสภาวะจนชำนาญ

ขั้นที่  ๑๒  นี้จะให้ฝึกทำจิตให้ปล่อยอยู่  คือเมื่อฝึกจิตให้ตั้งมั่นตามต้องการได้แล้ว ก็เปลี่ยนมาฝึกจิตให้ปล่อยวางอารมณ์ต่างๆอยู่เสมอ คือฝึกไม่ยึดถือทุกสิ่งในโลกว่าเป็นตัวเรา-ของเราหรือเป็นตัวตนของใครๆอยู่เสมอ

 

๑๔.  หมวดธรรมานุปัสสนา

ขั้นที่  ๑๓  นี้จะให้ฝึกตามเห็นความไม่เที่ยงอยู่เป็นประจำ  คือเมื่อฝึกจิตได้ตามต้องการแล้วก็ใช้จิตนี้มาตามดูลักษณะที่ไม่เที่ยงในสิ่งต่างๆ ทั้งหลายของโลก โดยเฉพาะในขันธ์  ๕  หรืออายตนะทั้งหลายของเรา เป็นต้นอยู่ตลอดเวลาไม่ว่าจะทำอะไรอยู่ก็ตาม  ซึ่งแม้ลมหายใจก็สามารถนำมาดูให้เห็นถึงความไม่เที่ยงได้

ขั้นที่  ๑๔  นี้จะให้ฝึกตามเห็นความจางคลายอยู่เป็นประจำ  คือเมื่อมองเห็นความไม่เที่ยงอย่างแรงกล้าด้วยสมาธิอยู่นั้น (เมื่อเห็นอนิจจังก็ย่อมที่จะเห็นทุกขังและอนัตตาอยู่ด้วยเสมอ)  และจิตก็จะปล่อยวางความยึดติดในอารมณ์ต่างๆที่สั่งสมเอาไว้ คือจะเกิดวิราคะ (ความจางคลาย หรือคลายกำหนัดติดใจ) ขึ้นมาเสมออันทำให้สังโยชน์ค่อยๆถูกทำลายลง  ซึ่งขั้นนี้ก็ให้มาดูความจางคลายนี้เป็นประจำแทน

ขั้นที่  ๑๕  นี้จะให้ฝึกตามดูความดับไม่เหลืออยู่เป็นประจำ  คือเมื่อเกิดความจางคลายขึ้นมาเรื่อยๆจนสังโยชน์ถูกทำลายหมดสิ้น  ก็จะทำให้เกิดสมุจเฉทวิมุติขึ้นมา ซึ่งเป็นความดับไม่เหลือที่จะต้องให้มาตามดับอีก  ซึ่งขั้นนี้ก็ให้มาดูที่ความดับไม่เหลือนี้แทน

ขั้นที่  ๑๖  นี้จะให้ฝึกดูความสลัดคืนอยู่เป็นประจำ    คือเมื่อมีความหลุดพ้นถาวรแล้วจิตก็จะสลัดคืนสิ่งที่สัมผัสจิตอยู่เสมอ ซึ่งการสลัดคืนนี้ก็คือไม่รับเอาเข้ามายึดติดให้เป็นอนุสัย (ความเคยชินของกิเลส) อีกต่อไป  เมื่อจิตสัมผัสกับอารมณ์ใด  จิตก็จะมีสติสัมปชัญญะเต็มที่ในการกำหนดรู้ว่า “สักแต่ว่ารู้” เท่านั้น ไม่มีการสำคัญมั่นหมายว่าเป็นตัวตนใดๆ ซึ่งขั้นนี้ก็ให้มาดูความสลัดคืนนี้จนชำนาญ ซึ่งความชำนาญนี้จะเป็นตัวคอยระวังจิตไม่ให้กลับมายึดถืออะไรๆให้เป็นตัวตนอีกต่อไปจนกว่าจิตจะดับลงเมื่อร่างกายตาย

 

๑๕.  อานิสงส์ของอานาปานสติ

ผลจากอานาปานสติ  ๑๖  ขั้นตอนนี้เมื่อฝึกสำเร็จจะทำให้สติปัฏฐาน  ๔  บริบูรณ์  เมื่อสติปัฏฐาน  ๔  บริบูรณ์ก็จะทำให้โพชฌงค์  ๗  บริบูรณ์   เมื่อโพชฌงค์  ๗  บริบูรณ์   ก็จะทำให้ทำวิชชาและวิมุติบริบูรณ์  คือทำให้บรรลุอรหันต์ในปัจจุบัน หรือบรรลุเมื่อกาลมรณะ  หรืออย่างต่ำสุดก็เป็นอนาคามี   ซึ่งนี่เป็นการปฏิบัติจนครบทั้ง  ๑๖  ขั้นตอน  แต่ถ้าใครไม่สามารถปฏิบัติได้ครบก็ให้ปฏิบัติเพียงขั้นที่  ๑  แค่พอให้จิตสงบบ้างแล้วก็เอามาเป็นพื้นฐานข้ามไปปฏิบัติขั้นที่  ๑๓  เลยก็ได้ ซึ่งผลที่ได้อาจจะต่างกันที่ไม่มีความสามารถพิเศษเป็นของแถม เช่น มีความรู้แตกฉาน, สอนคนอื่นได้, หรือรู้วาระจิตผู้อื่นได้ เป็นต้น เท่านั้น แต่ความหลุดพ้นจะเหมือนกัน

 

จบบทที่ ๗

จบภาคผนวก

จบบริบูรณ์


(ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก www.whatami.net)


|กลับหน้าแรก|