คำนำ พุทธศาสนาดั้งเดิมนั้นมีจุดมุ่งหมายอยู่ที่ สอนวิธีการกำจัดความทุกข์ในปัจจุบันของจิตใจมนุษย์ด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ แต่ในปัจจุบันจุดมุ่งหมายนี้ได้ถูกเปลี่ยนแปลงไปด้วยความเข้าใจผิด คือกลายเป็นว่าพุทธศาสนาเป็นเพียงเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของผู้ที่นับถือเท่านั้น
และการนับถือก็ยังเป็นอย่างไสยศาสตร์คือทำไปด้วยความงมงาย ไร้เหตุผล
อีกทั้งยังถูกนักศาสนาที่ไม่รู้จริงมองว่าพุทธศาสนานั้นเป็นเพียงสาขาหนึ่งของศาสนาฮินดูเท่านั้น จึงทำให้คุณค่าที่แท้จริงของพุทธศาสนาสูญหายไป ท่านอาจารย์พุทธทาส
ภิกขุ แห่งสวนโมกขพลาราม
อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี
ท่านได้เพียรพยายามนำเอาหลักการดั้งเดิมของพุทธศาสนามาสั่งสอนแก่ปัญญาชนของโลก
ซึ่งก็ได้รับการยอมรับจากปัญญาชนทั่วโลกมาแล้ว แต่ก็ได้รับการต่อต้านจากผู้ที่ยังนับถืออย่างไสยศาสตร์อยู่มากเช่นเดียวกัน หนังสือ
อริยสัจ ๔ หัวใจพุทธศาสนา
เล่มนี้ ได้พยายามรวบรวมสาระสำคัญจากหนังสือธรรมโฆษณ์ของท่านอาจารย์พุทธทาส
มาสรุปเอาไว้ให้ปัญญาชนที่สนใจศึกษา โดยมีการอธิบายอย่างวิทยาศาสตร์ เพื่อให้ปัญญาชนที่สนใจศึกษาหลักการดั้งเดิมของพุทธศาสนาจะได้มีคู่มือเอาไว้ศึกษาและเป็นแนวทางในการปฏิบัติเพื่อกำจัดทุกข์ต่อไป จึงหวังว่าหนังสือเล่มนี้จะเป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษย์บ้างตามสมควร
และถ้าพอจะมีความดีจากหนังสือเล่มนี้อยู่บ้าง ก็ขอน้อมถวายเป็นเครื่องสักการะแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระอริยสาวกทั้งหลาย
รวมทั้งขอให้ท่านผู้รู้ทั้งหลาย
จงช่วยกันเผยแผ่หลักการที่แท้จริงของพุทธศาสนาแก่มวลมนุษย์ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น เพื่อช่วยกันจรรโลงโลกให้มีสันติภาพอันยั่งยืนกันต่อไป
เตชปญฺโญ
ภิกขุ อาศรมพุทธบุตร เกาะสีชัง ชลบุรี ๑๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๔
หนังสือ "อริยสัจ ๔ หัวใจพุทธศาสนา" แบ่งออกเป็น ๓ ภาค คือ ภาคต้น ภาคปลาย และภาคผนวก โดยภาคต้นนั้นเป็นการปูพื้นฐานให้รู้จักหลักของพุทธศาสนา และการศึกษาเพื่อให้เกิดความเข้าใจในหลักอริยสัจ ๔ อย่างสรุป
ส่วนภาคปลายจะเป็นการศึกษาเพื่อให้เกิดความเข้าใจในหลักอริยสัจ ๔ อย่างละเอียด
ส่วนภาคผนวกจะเป็นการอธิบายถึง วิธีปฏิบัติในแนวทางต่างๆที่จะสามารถแยกแยะออกไปได้ รวมทั้งแนะนำถึงสิ่งสนับสนุนการปฏิบัติที่สำคัญๆเอาไว้ด้วย พร้อมรู้จักพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ในแง่มุมที่ควรรู้
การศึกษานั้นควรศึกษาไปตามลำดับ คือจากภาคต้นไปหาภาคปลายและเสริมด้วยภาคผนวก ซึ่งผู้ที่จะศึกษาควรทำใจให้เป็นกลาง ปราศจากความลำเอียง และต้องตั้งใจอ่านพร้อมทั้งเพ่งพิจารณาตามไปด้วยทุกตัวอักษร เพื่อซึมซับเอาความหมายจากข้อความที่อ่านให้เข้ามาสู่จิตใจ จึงจะบังเกิดความเข้าใจอย่างแจ้งชัดขึ้นมาได้ ถ้าเพียงการอ่านให้ผ่านๆไปเท่านั้นจะไม่ทำให้เกิดความเข้าใจขึ้นมาได้เลย
|